วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > “แมงป่อง” ดิ้นเพื่ออยู่รอด รีเฟรชบุก “ไลฟ์สไตล์ช็อป”

“แมงป่อง” ดิ้นเพื่ออยู่รอด รีเฟรชบุก “ไลฟ์สไตล์ช็อป”

 
หลังจากเงียบหายไปจากตลาดธุรกิจโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์นานหลายปี เจอฤทธิ์แผ่นผีอาละวาดหนักจนต้องปิดสาขาทั่วประเทศ จากยุคเฟื่องฟูที่เคยปูพรมเกือบ 400 แห่ง เหลือเพียง 36 แห่ง ล่าสุด เจ้าแม่แมงป่อง กิตติ์ยาใจ ตรีเอกวิจิตร หวนคืนวงการในฐานะ “ยานแม่” ส่ง “ยานลูก” สองพี่น้อง ณลันรัตน์ นันท์นนส์ และปิยวรรพ์ทา ตรีเอนกวนิศ แตกไลน์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ช็อป “กิซแมน (Gizman)” ซึ่งไม่ใช่แค่แผนกดปุ่มรีเฟรชธุรกิจ “แมงป่อง” ให้กลับมาชีวิตชีวาและเพิ่มพิษในตัว แต่ยังเป็นการดิ้นเพื่ออยู่รอด โดยหวังจะกลับมาผงาดในฐานะผู้นำธุรกิจรีเทลกลุ่ม Lifestyle Gedget ภายใน 5 ปี 
 
ตามโรดแมพใหม่ของยานแม่ Gizman จะเป็นตัวสร้างรายได้หลัก ค่อยๆ แซงหน้าร้านแมงป่อง และผลักดันรายได้รวมจากปัจจุบันเฉลี่ย 700 ล้านต่อปี พุ่งพรวดเป็น 3,000 ล้านบาทต่อปี 
 
กิตติ์ยาใจ ตรีเอกวิจิตร ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมงป่อง 1989 จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ ผู้จัดการ360  ํ ว่า ช่วงที่หายไปจากตลาดโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์เป็นช่วงที่บริษัทปรับปรุงโครงสร้างหลายส่วน จากเดิมซื้อลิขสิทธิ์เยอะมากและเจอปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์รุนแรงจนต้องหยุดซื้อ ปิดสาขาที่อยู่ใกล้กับร้านจำหน่ายแผ่นผี ปิดช็อปที่ขาดทุน เฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปิดจาก 90 สาขาเหลือล่าสุด 36 สาขา และหันมาปรับโฉมร้านค้า จัดประเภทสินค้า เลือกทำเลที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มศูนย์การค้าหลักๆ อย่างเซ็นทรัล เดอะมอลล์ สยามพารากอน และเอ็มบีเค 
 
“การบุกธุรกิจไลฟ์สไตล์ช็อป กิซแมนจะเป็นส่วนเสริมร้านแมงป่องให้มีความทันสมัย ถ้าไม่ปรับตัว แมงป่องจะกลายเป็นธุรกิจที่โตอย่างอืดๆ เชยๆ และถูกจำกัดกรอบธุรกิจเฉพาะในแผ่น แต่กิซแมนไม่มีกรอบ สามารถเติบโตตามเทรนด์ ตามไลฟ์สไตล์เทคโนโลยีของคน ที่ขยายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”
 
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เส้นทาง “แมงป่อง” ตลอดระยะเวลา 33 ปี ผ่านจุดสูงสุด จุดวิกฤตและปรับกลยุทธ์หลายรอบ โดยถือเป็นผู้นำก่อตั้งธุรกิจโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ เปิดร้านแมงป่องสาขาแรกในศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ราชประสงค์ เมื่อปี 2524 จำหน่ายภาพยนตร์และเพลง ในรูปแบบแผ่น Laser Disc, VHS, Tape Cassette และสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โปสเตอร์ เสื้อ 
 
ร้านแมงป่องในยุคนั้นได้รับความนิยมมากในกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ การเติบโตของธุรกิจภาพยนตร์ ซึ่งกิตติ์ยาใจสามารถกอบโกยรายได้หลายพันล้านจนได้รับฉายา “เจ้าแม่วงการหนังแผ่น” นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ขยายบริษัทลูกทำธุรกิจต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจสร้างภาพยนตร์ ได้แก่ บริษัท นครไทย พิคเจอร์, บริษัท แมงป่อง พิกเจอร์ และเปิดค่ายเพลง บริษัท ดัง ดัง, บริษัท ไฮเยส มิวสิค และบริษัท พิจิก เรคคอร์ด 
 
ปี 2549 “แมงป่อง” เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “ป่องทรัพย์” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในฐานะธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ทั้งผลิตและจำหน่ายสื่อบันเทิง โดยมีร้านค้าปลีกเจาะทุกตลาด ทั้ง “แมงป่อง” ที่จับตลาดระดับมาตรฐาน, “แกรนดี้” เป็นช็อปขายสินค้าในระดับราคาถูกลง ไม่เน้นการตกแต่งร้าน และยังมี “Mega Store” กับ “Walk-in Warehouse” ที่เน้นจำหน่ายสินค้ายกแพ็กจำนวนมาก 
 
จนกระทั่งกระแสแผ่นผีระบาดทั่วเมือง ทำให้ธุรกิจหนังเจอภาวะขาดทุน การจับมือกับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ของ “เสี่ยเจียง” สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ไม่ได้สร้างรายได้ตามแผน และ “ป่องทรัพย์” ยังต้องแบกรับภาระค่าลิขสิทธิ์บานเบอะ เป้ารายได้หดหนักจากหลักพันล้านเหลือเพียงหลักร้อยล้านบาท 
 
กิตติ์ยาใจยกเลิกสัญญากับเสี่ยเจียงและกลับมาทบทวนแผนธุรกิจทั้งหมด บริหารต้นทุน เปลี่ยนแนวทำธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยอมปิดสาขาที่ขาดทุนและหยุดขยายสาขา เพื่อเลือกเฉพาะสาขาที่ทำกำไร ไม่ทุ่มงบลงทุนก้อนใหญ่อย่างวู่วาม และเลิกกวาดซื้อลิขสิทธิ์หนังหรือเพลง แต่เลือกเฉพาะสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ชนิด “หนังชนโรง” ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 
ปี 2555 ร้านแมงป่องเริ่มจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นๆ เช่น กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม แผ่นเกมส์ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งขยายช่องทางสู่โลกดิจิตอลมากขึ้น โดยมี ณลันรัตน์ นันท์นนส์ แมงป่องรุ่นลูกเข้ามาเป็นกำลังหลักรับผิดชอบงานด้านการตลาดเทรนด์ใหม่ๆ 
 
ปี 2556 บริษัท ป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อเดิม บริษัท แมงป่อง จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นการปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจสู่จุดเริ่มต้นในฐานะธุรกิจร้านค้าปลีก สื่อบันเทิง และสินค้าไลฟ์สไตล์ประเภทสินค้าเทคโนโลยีหรือ Gadget หลังจากเริ่มทดลองจำหน่ายในร้านแมงป่องและสามารถสร้างตลาดใหม่ กลุ่มลูกค้าใหม่ รวมถึงสะท้อนศักยภาพในการสร้างฐานรายได้ใหม่ก้อนใหญ่ด้วย 
 
ปัจจุบัน แม้ร้านแมงป่องมียอดขายหลักจากแผ่นบลูเรย์ ดีวีดี ภาพยนตร์ มากเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยซีดีเพลง หนังสือ Gadget และเกม แต่สินค้าประเภทแผ่นบลูเรย์และดีวีดี ภาพยนตร์ มีอัตราเติบโตลดลงต่อเนื่อง 
 
ขณะที่กลุ่ม Gadget และเกม มีอัตราเติบโตมากกว่าเท่าตัว ซึ่งนั่นกลายเป็นช่องว่างทางการตลาดที่แมงป่องต้องการปักธงสร้างรายได้ใหม่ เนื่องจากในตลาดสินค้าเทคโนโลยี หรือ Gadget หรือ Accessories มักมีช่องทางจำหน่ายแยกตามแบรนด์และแยกตามกลุ่มสินค้า ไม่ได้มีสินค้าให้เลือกมากมายครบถ้วน โดยเริ่มแผนรุกเข้าสู่ธุรกิจดิจิตอลอย่างจริงจัง ทั้งการคัดเลือกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยีหรือGadget เข้ามาจำหน่ายในร้านแมงป่องมากขึ้น โดยร่วมกับบริษัท เอ็น.วี.เค.อินเตอร์ จำกัด (NVK) ตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอุปกรณ์ Smart Home Appliances รายเดียวในประเทศไทยที่ได้รับสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า EnGenius ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าประเภทอุปกรณ์เชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless Network equipment) ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไต้หวัน
 
ขณะเดียวกัน ทำแอพพลิเคชัน mangpong บนมือถือไอโฟน สร้างช่องทางขายใหม่ โดยลูกค้าสามารถเลือกดูสินค้า และสั่งซื้อผ่านมือถือได้ทันที รวมทั้งพัฒนาเว็บไซต์แมงป่อง www.mangpong.co.th ให้มีชีวิตชีวาและสะดวกกับลูกค้ามากขึ้น โดยตั้งเป้าผลักดันยอดขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3-5%
 
แผนขั้นต่อไป คือการเปลี่ยนทิศทางธุรกิจค้าปลีกของแมงป่องเข้าสู่ยุค “Digital Age” อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งกิตติ์ยาใจส่งมอบภารกิจให้ณลันรัตน์ และหากประสบความสำเร็จตามแผน ไลฟ์สไตล์ช็อป “กิซแมน” จะกลายเป็นธุรกิจหลัก โดยมี “แมงป่อง” เป็นร้านค้าเสริมในส่วนคอนเทนต์ต่างๆ
 
ณลันรัตน์ นันท์นนส์ Product Director แบรนด์ Gizman และผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท แมงป่อง 1989 จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แมงป่องถือเป็นผู้นำตลาดรายใหญ่รายแรกของประเทศด้านการค้าปลีกผลิตภัณฑ์ความบันเทิง และเป็นเจ้าของทำเลทองในศูนย์การค้าชั้นนำทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญ ขณะที่ตลาด Lifestyle Gadget มีแนวโน้มเติบโตสูงเพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งกิซแมนวางโพสิชั่นของร้าน คือเป็นตัวกลางคัดสรรสินค้าที่มีมากมายมารวมไว้ที่ช็อปกิซแมน โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม
 
กลุ่มแรกเป็นสินค้าที่จับมือกับพันธมิตรแบรนด์ชั้นนำระดับโลก เช่น เฮดโฟน Sennheiser, Grado, Skull Candy ลำโพง Marshall, JBL เครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะ iRobot 
 
กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าแบรนด์ Gizman ซึ่งบริษัท แมงป่องจับมือกับบริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเริ่มผลิตและจำหน่าย GizCard (กิซ-การ์ด) หรือการ์ดหน่วยความจำรวบรวมไฟล์เพลงดิจิตอลที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์และสามารถต่อใช้งานกับลำโพงพกพาแบบบลูทูธ กิซแมน หลังจากนั้นมีแผนขยายตัวสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้แมงป่องวางแผนขยายสาขาร้านกิซแมนปีละ 5 สาขา ครบ 15 สาขาภายใน 3 ปี รูปแบบร้านมีทั้งร้านสแตนด์อะโลนและร้านพ่วงอยู่ในร้านแมงป่อง ขนาดพื้นที่ 150-200 ตารางเมตร งบลงทุน 10 ล้านบาทต่อสาขา โดยเปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะทยอยเปิดตามศูนย์การค้าต่างๆ เช่น เอ็มบีเค สยามเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลพลาซา พระราม2 
 
ส่วนร้านแมงป่องจะขยายเพิ่มอีก10 สาขา รวมแล้วประมาณ 40-45 สาขา ขนาดพื้นที่มีตั้งแต่ 30-200 ตารางเมตร ซึ่งถ้าเทียบกำไรจากสินค้าของร้านค้าปลีกทั้งสองแบรนด์อาจไม่ต่างกันมาก แต่ยอดขายต่างกันมาก เพราะราคาสินค้าต่างกัน ยอดขายแมงป่องเฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 800 บาท จำนวนลูกค้าเฉลี่ย 2,000-3,000 คน ส่วนกิซแมนคาดยอดขายต่อบิลจะสูงมาก ตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท รวมทั้งจำนวนลูกค้าเป้าหมายจะทำให้ยอดขาย “กิซแมน” แซงหน้า “แมงป่อง” ในท้ายที่สุด 
 
สำหรับหมากกลยุทธ์กระดานใหม่ “แมงป่อง” จะฟื้นคืนชีพในสงครามรีเทลที่เปลี่ยนจากยุคหนังแผ่นสู่ยุคดิจิตอล เกมการตลาดสามารถตอบโจทย์ลูกค้าและเจาะช่องว่างได้จริงหรือไม่  ถึงเวลาของยานลูก “กิซแมน” เปิดศึกครั้งใหญ่แล้ว