วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Cover Story > “เดิมพัน อยู่วิทยา” กับการเดิมพันทางธุรกิจครั้งใหม่

“เดิมพัน อยู่วิทยา” กับการเดิมพันทางธุรกิจครั้งใหม่

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ “เดิมพัน อยู่วิทยา” สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาคือชื่อของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอย่าง “กระทิงแดง” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “อยู่วิทยา” คือตระกูลใหญ่ที่ยึดโยงกับอาณาจักรเครื่องดื่มชูกำลังอย่างกระทิงแดงมาอย่างยาวนาน แต่สำหรับ “เดิมพัน” แล้ว แม้ชื่อจะพ่วงท้ายด้วย “อยู่วิทยา” แต่เขากลับมีเส้นทางธุรกิจของตัวเองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

เดิมพัน อยู่วิทยา หรือ คุณต้น เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “อยู่วิทยา” เป็นนามสกุลฝั่งคุณแม่ เมื่อพ่อกับแม่เลิกรากัน เดิมพันจึงเลือกกลับมาใช้นามสกุลเดิมของแม่ จึงถือเป็นเครือญาติกับตระกูลอยู่วิทยา แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกระทิงแดง

ด้วยความที่ชอบในเรื่องตัวเลขและการเงินมาตั้งแต่เด็ก นั่นทำให้เขาเลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ วิชาเอกการเงินและการธนาคาร ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการเงินจาก Registered Financial Consultant ประเทศสหรัฐอเมริกา

ระหว่างที่กำลังศึกษา เดิมพันมีโอกาสได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน รวมถึงได้ฝึกงานกับโครงการ SIP ของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เห็นการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี เรียนรู้ด้านการค้า การส่งออก และการลงทุน ซึมซับทั้งระบบความคิดและการทำงาน และกลายเป็นแรงบันดาลใจในเส้นทางการทำธุรกิจของเขาในอนาคต

หลังจบการศึกษา เดิมพันเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่การค้าระหว่างประเทศของบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทยอยู่ราวๆ ปีครึ่ง ก่อนที่จะเริ่มเห็นช่องทางและโอกาสทางธุรกิจ ประกอบกับอยากทำธุรกิจส่วนตัวในสิ่งที่ตัวเองถนัด เขาจึงได้เปิดบริษัทโบรกเกอร์ประกันเล็กๆ ให้บริการที่เกี่ยวกับธุรกิจประกันแบบครบวงจรขึ้น

ระหว่างนั้นเดิมพันยังได้ไปศึกษาด้านการบริหารจัดการการเงินเพิ่มเติม ก่อนที่จะมาขอสอบใบอนุญาตเป็นผู้แนะนำการลงทุนจาก ก.ล.ต. และเปิดบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินในนามของ “ฟินเวิลด์” เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุน และขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ และกองทุนต่างๆ เพราะเขาเชื่อว่า คนไทยมีเงินแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเงินที่มี การมีที่ปรึกษาทางการเงินที่ช่วยลูกค้ามองหาโอกาสทางการเงินทั้งในและต่างประเทศว่าอะไรที่เหมาะกับลูกค้า จึงเป็นเส้นทางความสำเร็จที่ไม่ต้องเดิมพัน

ซึ่งฟินเวิลด์โดยการนำของเดิมพันถือว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีเรื่อยมา จนทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นนักการเงินหนุ่มไฟแรงที่คนในแวดวงการเงินหลายๆ คนรู้จัก

หลังจากทำงานในสายการเงินตามที่ร่ำเรียนมาจนสร้างชื่อเสียงมาได้ระยะหนึ่ง เดิมพันเบนเข็มในการทำธุรกิจสู่ธุรกิจท่องเที่ยวด้วยการร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดตัว “ลิม่า รีสอร์ต กรุ๊ป” (Lima Resort Group) เจ้าของรีสอร์ตชื่อดังบนเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ลิม่า โคโค่ รีสอร์ต อ่าวพร้าว, ลิม่า เบลล่า รีสอร์ต ที่หาดทรายแก้ว และ ลิม่า ดูวา รีสอร์ต นอกจากนั้น ยังทำธุรกิจเรือนำเที่ยวและเรือข้ามฟากอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวอย่างจริงจังของเขา

รีสอร์ตในเครือลิม่านับเป็นที่พักขนาดใหญ่ที่เข้ามาสร้างสีสันและความหลากหลายให้กับเกาะเสม็ด ซึ่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญบนเส้นทางธุรกิจของเดิมพัน

จาก Lima Resort สู่ Rapid Group เดิมพันทางธุรกิจครั้งใหม่

“ก่อนโควิดเราอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยว มีรีสอร์ตที่เกาะเสม็ด 3 แห่ง 120 ห้อง มีเรือนำเที่ยว 2 เครื่องยนต์ 9 ลำ มีเรือข้ามฟาก และมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการปีละ 200,000 คน แต่มีนาคม 2563 ประกาศปิดประเทศจากโควิด ธุรกิจเราพังต่อหน้า คนส่วนใหญ่อาจจะพังไปกับธุรกิจ แต่สำหรับผมแล้วไม่ใช่”

เดิมพันกล่าวต่อไปว่า ด้วยความที่โตมากับธุรกิจครอบครัวที่ทำเต็นท์รถมือสอง ทำให้เขาเห็นว่ายังมีธุรกิจบางประเภทที่อยู่ในกลุ่ม Unbanked เป็นเจ้าของธุรกิจแต่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือธุรกิจรถยนต์มือสอง กลายเป็นช่องว่างของตลาดการให้บริการทางการเงิน แต่สำหรับเดิมพันแล้วนี่คือโอกาสทางธุรกิจ

จากธุรกิจท่องเที่ยว เขารุกเข้าสู่ธุรกิจฟินเทค หรือ เทคโนโลยีทางด้านการเงิน (FinTech – Financial Technology) อย่างเต็มตัว ภายใต้บริษัท “Rapid Group” (แรพพิด กรุ๊ป) ที่เพิ่งเปิดตัว 5 บริษัทในเครืออย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยมี Rapid Capital เป็นเรือธง

โดยตั้งเป้าจะเป็นผู้นำทางด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินของไทย เอเชีย และของโลก นอกจากนี้ เดิมพันยังตั้งเป้าใหญ่ นำ Rapid Group เข้าจดทะเบียนใน NASDAQ หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEx – Hong Kong Stock Exchange) ภายในปี พ.ศ. 2573

“ในการทำธุรกิจเราต้องหาเพนพอยต์ที่เกิดขึ้นและเข้าไปแก้ไข เราเชื่อว่าจะสามารถอุดช่องว่างนี้ได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น สนับสนุนระบบเศรษฐกิจใหม่ หรือ Digital Economy และปรับกระบวนการให้บริการให้อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจร เพื่อลดความผิดพลาดที่เกิดจากแรงงานคนและให้ได้ประสิทธิผลทั้ง 4 ด้าน คือ Faster – เร็วกว่า, Better – ดีกว่า, Cheaper – ถูกกว่า และ Smarter – เท่กว่า และในปี 2573 เราจะเป็นบริษัทเล็กๆ ที่ถือธงไทยไปปักที่ NASDAQ”

ปัจจุบัน Rapid Group มีบริษัทในเครือทั้งหมด 5 บริษัท โดยบริษัทแรกที่เปิดตัวคือ Rapid Capital (แรพพิด แคปิตอล) ให้บริการสินเชื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เน้นให้บริการสำหรับผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสองโดยเฉพาะ เริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563

“เรายื่นขอจดทะเบียนบริษัท Rapid Capital เมื่อสิงหาคม 2562 ขอใบอนุญาตให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกัน และสินเชื่อส่วนบุคคลหรือ Personal Loan จากธนาคารแห่งประเทศไทยเอาไว้ จนมีนาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงอนุมัติ ทำให้เราเป็นสถาบันการเงินแรกในประเทศที่เปิดดำเนินการในวันที่ 13 เมษายน”

แม้ว่า Rapid Capital จะเปิดดำเนินการมาได้เพียงสองปีกว่า แต่ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถสร้างกำไรได้ทันทีตั้งแต่เริ่มให้บริการ ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 300% ในขณะที่อัตราหนี้เสีย (Non-performing loan) ต่ำกว่า 1%

“จุดเด่นของ Rapid Capital คือ เราให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งขาเข้ามากู้ และขาออกคือมารับทะเบียนรถคืน เราคือบริษัทแรกและบริษัทเดียวในไทยที่ดำเนินการทุกขั้นตอนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปรถ ถ่ายรูปลูกค้า เสียบบัตรประชาชนเข้าไอแพด ยิง OTP แล้วให้ลูกค้าเซ็นชื่อบนไอแพดก็เสร็จเรียบร้อย ลูกค้าสามารถรับเงินได้ทันที”

ลูกค้าที่ Rapid Capital เคยปล่อยกู้ที่เร็วที่สุดสามารถรับเงินกู้ได้ภายใน 30 นาที สำหรับการรับทะเบียนรถคืน บริษัทส่วนใหญ่จะคืนทะเบียนรถให้ลูกค้าภายใน 7-14 วัน หลังจากปิดสัญญา แต่ Rapid Capital สามารถคืนทะเบียนรถให้ได้ทันทีหลังปิดสัญญาภายใน 1 นาที พร้อมให้บริการกู้สั้นที่สุดเพียง 2 วัน และพักชำระเงินต้นตลอดอายุสัญญา ซึ่งถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการสินเชื่อรถยนต์แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2565 ยอดขายรถยนต์มือสองในตลาดจะเติบโตประมาณ 3-5% มีปริมาณการซื้อขายราวๆ 6-7 แสนคัน ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อรถยนต์มือสองมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 5-7% ที่วงเงิน 3 แสนล้านบาท แต่หากอ้างอิงข้อมูลของ Rapid Capital คาดว่าปี 2570 ปริมาณการซื้อขายรถยนต์มือสองน่าจะพุ่งไปถึง 2.5 ล้านคันต่อปี (รวมการซื้อขายซ้ำต่อคัน)

“ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์มือสองเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เราจึงมั่นใจมากว่า ด้วยความต้องการของตลาดและบริการที่ครบวงจรบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เราจะสามารถทำให้ Rapid Capital เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปีนี้เราตั้งเป้าโต 30% ทั้งจำนวนสัญญาและมูลค่าสินเชื่อ”

นอกจากนี้ เดิมพันยังเร่งพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นไปอีก เพื่อรองรับการขยายสินเชื่อสัญญาใหม่ให้ได้ตามเป้าที่วางไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ด้วยจำนวนสัญญาใหม่ 250,000 สัญญา มูลค่าสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 และที่สำคัญยังมีการเตรียมนำ Rapid Capital เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในไตรมาสที่ 3/2566 อีกด้วย

และภายใต้ร่มใหญ่อย่าง Rapid Group นอกจากจะมี Rapid Capital เป็นเรือธงแล้ว ยังมีอีก 4 บริษัทที่เดิมพันเตรียมทยอยเปิดดำเนินการในเร็วๆ นี้ ได้แก่

Rapid Motors (แรพพิด มอเตอร์ส) วันสต็อปคอมมูนิตี้สำหรับคนซื้อ-ขายรถ และคนรักรถมือสองแห่งแรกของโลก บนทำเลที่ตั้งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับสาทรเพียง 15 นาที ให้บริการครบวงจรตั้งแต่แพลตฟอร์มดิจิทัลในการนัดซื้อ-ขาย บริการตรวจสอบสภาพรถยนต์ รวมถึงบริการด้านสินเชื่อที่พร้อมอนุมัติทันทีผ่าน Rapid Capital นอกจากนี้ ยังมี co-working space, คาเฟ่, ไวน์บาร์ และเชฟเทเบิล คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในไตรมาส 2/2566

“เมื่อก่อนจะขายรถเราต้องเข้าไปตามมาร์เก็ตเพลสต่างๆ แต่เพนพอยต์ที่ยังไม่มีใครแก้ได้คือ ความปลอดภัยของสถานที่นัดดูรถ ผู้ซื้อ-ขาย การตีราคา แต่สิ่งที่ Rapid Motor กำลังจะทำคือเรามีดาต้าเบสที่คำนวณราคากลาง มีสถานที่ดูรถที่ได้มาตรฐานและครบวงจร”

Rapid FinTech (แรพพิด ฟินเทค) บริษัทที่ให้บริการสินเชื่อที่เน้นสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่น โดรน โซลาร์รูฟ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) กำหนดเปิดให้บริการในไตรมาส 2/2566

Rapid EV (แรพพิด อีวี) ให้บริการเปลี่ยนรถยนต์จากระบบเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นระบบไฟฟ้า (Electric Vehicles) แห่งแรกของโลก ที่ดำเนินกิจการในระดับ Mega Factory โดยเดิมพันการันตีว่าจะสามารถแปลงรถสันดาปเป็นรถไฟฟ้าได้ภายใน 72 ชั่วโมง โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 2/2567

“ปี 2573 มีการประกาศว่าจะไม่มีรถยนต์สันดาปวิ่งในไทย แล้วรถยนต์ปกติกว่าหนึ่งพันล้านคันบนโลกจะทำอย่างไร เฉพาะในประเทศไทยก็ 19 ล้านคันเข้าไปแล้ว เราเลยสร้าง Rapid EV ขึ้นมา เป็น EV Convention Mega Factory แห่งแรกของโลก ราคาในการเปลี่ยนเริ่มต้นที่ประมาณ 290,000 บาทต่อคัน เพียง 2-3 ปีก็คืนทุนแล้ว”

สุดท้ายกับ Rapid Life (แรพพิด ไลฟ์) แพลตฟอร์มให้บริการขายประกันชีวิตแห่งแรกที่ใช้ระบบสมัครสมาชิกจ่ายค่าเบี้ยประกันรายเดือน (Subscription) บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ใช้เวลาในการสมัครไม่เกิน 10 นาที ไม่ต้องเจอหรือตอบคำถามกับตัวแทน พร้อมคุ้มครองทันทีและค่าเบี้ยประกันไม่สูง สำหรับตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยเตรียมเปิดให้บริการในไตรมาส 3/2565

นับเป็นการเปิดตัวบนเส้นทางธุรกิจใหม่ของ “เดิมพัน อยู่วิทยา” ที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว และจากนี้คงเป็นช่วงเวลาแห่งการพัฒนา เตรียมความพร้อม เพื่อทยอยเปิดตัวบริษัทต่างๆ ภายใต้ร่มใหญ่อย่าง Rapid Capital ให้ได้ตามแผนที่เขาวางไว้.

ใส่ความเห็น