วันอังคาร, พฤศจิกายน 12, 2024
Home > Cover Story > วิกฤตพลังงานโลกจากสงคราม สู่เทรนด์พลังงานทางเลือก

วิกฤตพลังงานโลกจากสงคราม สู่เทรนด์พลังงานทางเลือก

นับจากการโจมตีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีชนวนความขัดแย้งมาจากความต้องการแยกตัวของภูมิภาคดาเนียตสก์และลูกานสก์ ที่อยู่ทางตะวันออกของยูเครน กระทั่งปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติ

ความขัดแย้งระหว่างสองชาติขยายตัวออกมาสู่กลุ่มชาติพันธมิตรของทั้งสองประเทศ ซึ่งยูเครนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และยุโรปบางประเทศ ที่แสดงออกชัดเจนด้วยมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซีย ด้วยหวังว่าจะให้รัสเซียยอมจำนน และยุติการโจมตียูเครน

ทว่า รัสเซียยังคงยืนยันเจตนารมณ์เดิมต่อไป แม้หลังบ้านจะมีการประชุมเจรจาเพื่อหาข้อยุติที่น่าจะเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย กระนั้นรัสเซียไม่ได้นิ่งเฉยต่อการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น และการโต้กลับของรัสเซียดูจะสร้างความหวั่นวิตกไปทั่วโลก และอาจจะหนักหนาสาหัสกว่ามาตรการคว่ำบาตรที่รัสเซียได้รับ

รัสเซียถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกด้วยมาตรการด้านการเงิน ทั้งการตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT รวมไปถึงยกเลิกการแลกเปลี่ยนกับธนาคารกลางรัสเซีย แน่นอนว่านั่นทำให้รัสเซียประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงขึ้น เมื่อการพยุงเศรษฐกิจของรัสเซียจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนที่สำรองไว้ในธนาคารจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ รัสเซียยังโดนคว่ำบาตรอีกหลายมาตรการที่ชาติตะวันตกเหล่านั้นจะนึกออก ซึ่งรวมไปถึงองค์กรและบริษัทเอกชนที่ลงทุนหรือทำการค้ากับรัสเซียเอง ต่างคว่ำบาตรใส่รัสเซียกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ตาม รัสเซียซึ่งถือว่าเป็นชาติมหาอำนาจเช่นกัน การโต้กลับของรัสเซียทำให้ทั่วโลกแสดงอาการร้อนๆ หนาวๆ เพราะรัสเซียในฐานะผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอันดับต้นๆ ของโลก รวมไปถึงสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ ประกาศว่าจะงดส่งออกสินค้ากว่า 200 รายการจนถึงสิ้นปี 2566

ด้านสหรัฐอเมริกาเคยประกาศห้ามการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซจากรัสเซีย ขณะที่สหราชอาณาจักรจะเลิกใช้น้ำมันจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ ด้านสหภาพยุโรปจะพิจารณาลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ 72% ของปริมาณการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียทั้งหมดภายในปี 2565 และจะยุติการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2570 ทว่า ข้อมูลล่าสุด ณ ปัจจุบัน สหรัฐฯ ยังนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณการนำเข้าถึง 43% หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนบาร์เรลต่อวัน

นัยหนึ่งที่น่าสนใจคือ หากในอนาคตอันใกล้ชาติยุโรปมีปริมาณน้ำมันดิบไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน เป็นไปได้หรือไม่ว่า สหรัฐฯ จะเสนอขายน้ำมันที่กักตุนไว้ให้ชาติยุโรปที่ลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในราคาที่สูงขึ้น

แน่นอนว่า จนถึงปัจจุบันความกังวลต่อสถานการณ์พลังงานน้ำมันยังคงปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า สงครามในพื้นที่พิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะจบลงเมื่อไหร่ ความเป็นไปดังกล่าวอาจกลายเป็นจุดพลิกผันให้เกิดขึ้นสำหรับพลังงานทางเลือกที่เริ่มกลับมาอยู่ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้ง

สำหรับประเทศไทยที่กำลังเผชิญกับวิกฤตพลังงาน ที่คล้ายเป็นตัวฉุดรั้งเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวในช่วงนี้ให้ดีขึ้น กลับทรุดตัวลงมากกว่าเดิม เมื่อราคาพลังงานขายปลีกในประเทศถูกปรับให้สูงขึ้น อันเนื่องมาจากกลไกของตลาดโลก ที่มีความต้องการที่สูงขึ้น หรือแม้แต่นโยบายการเก็บเงินกองทุนน้ำมันในประเทศก็ตาม เพราะนั่นส่งผลโดยรวมต่อต้นทุนทางการตลาดของสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกรายการ

ภาระที่เพิ่มขึ้นของประชาชนโดยเฉพาะค่าเดินทาง ขนส่ง กลายเป็นปัจจัยเร่งสำคัญให้เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น แน่นอนว่าสาเหตุแรกคงไม่ใช่เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงในช่วงนี้ ทว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การใช้เทคโนโลยีสะอาดที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม

นั่นทำให้ค่ายรถยนต์เริ่มพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยเฉพาะการทำการตลาดในประเทศไทย ที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลในชุดปัจจุบัน โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยแผนการดำเนินงานภายใต้มิติ “Collaboration for Change: C4C ก้าวสู่ยุคพลังงานสะอาด จับมือพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ที่มุ่งเน้นการปรับบทบาทองค์กรเพื่อก้าวสู่ยุค Energy Transition ปลดล็อกกฎระเบียบและจับมือกับทุกภาคส่วน

และขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านพลังงานสร้างความมั่นคงสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ที่คำนึงถึงพลังงานสะอาดและการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การขับเคลื่อน Grid Modernization สมาร์ตกริด ปลดล็อกกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าสะอาด และบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ

2. ด้านพลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ อาทิ ขับเคลื่อนการลงทุนโครงการประกอบกิจการปิโตรเลียม ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศมูลค่ากว่า 44,300 ล้านบาท กำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและสัดส่วนการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายในระดับที่เหมาะสม ส่งเสริมการลงทุนปิโตรเคมีระยะ 4 ใน EEC โดยได้กำหนดทิศทางการขยายการลงทุนปิโตรเคมีกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด เพื่อให้เกิดเม็ดเงินทุนในปี 2565-2569 กว่า 2-3 แสนล้านบาท ส่งเสริมลงทุนต่อเนื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานมูลค่ากว่า 143,000 ล้านบาท

ส่งเสริมการลงทุน EV Charging Station และยานยนต์ไฟฟ้า และเร่งพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต โดยอีก 9 ปีจะต้องผลิตอีวีเป็น 30% เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนด้วย รวมไปถึงจะเร่งขยายผลการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 2565 วงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท

3. ด้านพลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เดินหน้ากระจายเม็ดเงินลงทุนสู่ชุมชน 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงาน ลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน พร้อมขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 1 พร้อมเตรียมการขยายผลโรงไฟฟ้าชุมชนระยะที่ 2 ซึ่งมีกรอบที่จะส่งเสริมการลงทุนได้อีก 400 เมกะวัตต์ใน 10 ปี และคาดว่าจะประกาศโครงการได้ภายในปี 2565

จากนโยบายสนับสนุนการสร้างตลาดรถยนต์ BEV ของรัฐบาลไทย ทำให้ตลาดรถยนต์ BEV ในประเทศเข้าสู่โหมดการแข่งขันอย่างคึกคัก เห็นได้จากตัวเลขยอดจองรถยนต์ภายในงานบางกอกอินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ 2022 ครั้งที่ 43 ที่เพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวม 33,936 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากปีที่ผ่านมา โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 3,000 คัน หรือ 10%

โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากจีนที่แม้จะยังเป็นน้องใหม่ในวงการรถยนต์ไฟฟ้า และมีฐานตลาดน้อยกว่า แต่มีความพร้อมในแง่ของเทคโนโลยีและมีสต็อกสินค้ามากพอที่จะนำเข้ามาจำหน่ายได้ทันที อีกทั้งมาตรการทางด้านภาษีและเงินสนับสนุนของภาครัฐ 7,000-100,000 บาทต่อคัน ทำให้รถยนต์ BEV สัญชาติจีนขยับราคาลงมาสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมัน

สถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ยิ่งทำให้รถยนต์ BEV สัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้เปรียบในการสร้างความรับรู้และชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ก่อนในทันที นับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ๆ ที่ชัดเจนขึ้น ทั้งที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเองและที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผู้ซื้อรถยนต์ BEV อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นที่ลงมาแข่งขันในตลาดกลุ่ม Mass ยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าปี 2565 รถยนต์ BEV สัญชาติจีนจะมีโอกาสสร้างส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 58% ของยอดขายรถยนต์ BEV รวมในปีที่แล้วขึ้นเป็นกว่า 80% ในปีนี้ จาดยอดขายรถยนต์ BEV รวมที่คาดว่าจะมีมากกว่า 10,000 คัน ขยายตัวมากกว่า 412.0% หลังปีที่แล้วจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกที่ 1,954 คัน โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักนอกจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว อีกกลุ่มที่ช่วยดันยอดให้ขึ้นสู่ตัวเลขดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า Fleet องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีศักยภาพในช่วงที่ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับภาวะกำลังซื้อชะลอลง

การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานของโลกโดยมีความขัดแย้งในพื้นที่ซีกโลกตะวันตกเป็นสาเหตุ ดูจะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานรูปแบบเดิมไปสู่พลังงานทางเลือกเร็วขึ้น เมื่อนโยบายเกี่ยวกับพลังงานของหลายๆ ประเทศที่มีออกมาก่อนหน้า ดูจะสอดรับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าสงครามความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมัน ทว่า ด้วยสาเหตุนั้นก็ทำให้โลกเริ่มเปลี่ยนปรับรูปแบบการใช้พลังงานที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในอนาคตอันใกล้.

ใส่ความเห็น