วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Life > การฆ่าคนด้วยข้อมูลเท็จ บนโลกโซเชียล

การฆ่าคนด้วยข้อมูลเท็จ บนโลกโซเชียล

ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ความพยายามของภาครัฐของแต่ละประเทศคือการเอาชนะไวรัสโควิด-19 ในสงครามครั้งใหม่ มนุษยชาติกำลังพัฒนาอาวุธที่สยบไวรัสที่กำลังกลายพันธุ์อยู่ตลอด

นอกจากสงครามไวรัสที่ยังไม่รู้บทสรุป ทว่า เรากลับต้องเปิดศึกครั้งใหม่บนโลกออนไลน์กับข้อมูลเท็จที่กำลังแพร่กระจายในวงกว้าง แม้ว่าสงครามด้านข้อมูลเท็จบนสื่อโซเชียลจะดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวนานแล้วก็ตาม ทว่า ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาอันยากลำบากที่จะจำกัดวงและกำจัดข้อมูลปลอมเหล่านี้ รวมไปถึงการขุดให้ลึกถึงต้นตอของข้อมูล

การถูกซ้ำเติมสถานการณ์ด้วยการเผยแพร่และกระจายข้อมูลอันเป็นเท็จในช่วงเวลานี้ ไม่ต่างอะไรกับการทำร้ายผู้คนด้วยกันเอง “พวกเขากำลังฆ่าผู้คน” คำตอบของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับบทบาทของสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก ที่ถูกกล่าวหาว่า แพร่กระจายข้อมูลแบบผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีนและโรคโควิด-19 ส่งผลให้ทำเนียบขาวเพิ่มความกดดันต่อเหล่าบริษัทโซเชียลมีเดียมากขึ้น ในการให้จัดการขจัดข้อมูลแบบผิดๆ บนแพลตฟอร์มของตนเอง

ขณะที่โฆษกทำเนียบขาว นางเจน ซากี ยังระบุด้วยว่า เฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ได้ดำเนินการมากเพียงพอในการต่อสู้กับการกระจายข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีน

ด้านนายเควิน แมคอลิสเตอร์ โฆษกเฟซบุ๊ก ตอบโต้ว่า เฟซบุ๊กได้ดำเนินการอย่างแข็งกร้าว ในการขจัดข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และวัคซีน เพื่อปกป้องสาธารณสุข โดยเฟซบุ๊กได้ลบข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับโรคโควิดจำนวนมากกว่า 18 ล้านชิ้นออกไปจากแพลตฟอร์มแล้ว และยังได้ทำการปิดบัญชีผู้ใช้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จด้วย

คำถามคือ นโยบายและความพยายามของเฟซบุ๊กต่อกรณีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จบนแพลตฟอร์มของตัวเองนั้น เพียงพอแล้วหรือยังที่จะสกัดกั้นไม่ให้ข้อมูลเท็จถูกนำมาเผยแพร่ในช่วงเวลาที่ผู้คนสมควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน รวมไปถึงการที่ข้อมูลเหล่านั้นต้องไม่ถูกบิดเบือนจากกลุ่มคนไม่หวังดี

แน่นอนว่าแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กตกเป็นที่วิจารณ์ว่า ยังปล่อยให้มีข้อมูลที่สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคโควิดเผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์มของพวกเขาอย่างกว้างขวางและเฟซบุ๊กยังไม่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากพอ

ขณะที่ประเทศไทยพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การชุมนุมของศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การชุมนุมและใช้โซเชียลมีเดีย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 พบว่า มีการโพสต์หรือแชร์ข้อความที่ผิดกฎหมาย มีรายละเอียดข้อมูลที่รับแจ้งจากสื่อโซเชียล พบว่ามีข้อความที่น่าจะเข้าข่ายตรวจสอบทั้งหมด 67 เรื่อง แบ่งเป็นจากเฟซบุ๊ก 52 เรื่อง ทวิตเตอร์ 6 เรื่อง ยูทูบ 6 เรื่อง เว็บบอร์ด 2 เรื่อง และคลับเฮาส์ 1 เรื่อง โดยเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 จำนวน 4 เรื่อง

“ขอฝากเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมทุกท่านว่า การใช้โซเชียลมีเดียที่สร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง และผิดกฎหมาย กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหว ตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานไว้ทั้งหมด แม้แต่ในคลับเฮาส์ที่ท่านใช้เป็นช่องทางในการนัดหมายรวมตัวกัน เราก็มีคนเข้าไปเป็นสมาชิก เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของท่านทั้งหมด โดยจะมีการดำเนินคดีกับแกนนำรวมถึงขบวนการที่ใช้โซเชียลในทางที่ผิดให้ถึงที่สุด” นายชัยวุฒิกล่าว

สำหรับการโพสต์หรือแชร์ข้อความผิดกฎหมายลงในระบบคอมพิวเตอร์ผ่านโซเชียล จะมีโทษ ดังนี้ 1. ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 มาตรา 14(2) (5) มาตรา 16 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท 3. พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ผู้ใดฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท)

พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2560 มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) นำเข้าคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) (4)

การแข่งขันที่สูงขึ้นของสื่อกระแสหลัก เพจที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารของผู้ติดตาม ทำให้บางครั้งเกิดการช่วงชิงเนื้อหาของข้อมูลมาสร้างเป็นคอนเทนต์เพื่อนำเสนอให้แก่ประชาชนได้รับทราบ และนั่นเองที่ทำให้บางครั้งเนื้อหาที่ถูกหยิบยกมาเสนอขาดการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง เคราะห์กรรมจึงตกแก่ผู้เสพข่าวสารที่คิดเพียงว่า เมื่อเป็นเผยแพร่จากสื่อกระแสหลัก เพจดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์แล้ว ข้อมูลนั้นน่าจะเชื่อถือได้

กลับเพิกเฉยต่อการตรวจสอบข้อมูล ค้นหาความถูกต้องก่อนนำเสนอ ไม่ต่างอะไรกับการฆ่าคนด้วยข้อมูล เช่นเดียวกับที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ได้ตอบสื่อมวลชน

แม้ว่าการคัดกรองและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่จะเผยแพร่บนโลกออนไลน์จะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ทว่า สื่อหลัก เพจ รวมไปถึงบริษัทผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มควรต้องทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดีที่สุด เพราะการแข่งขันกันแย่งชิงเพื่อเป็นผู้นำเสนอข้อมูลคนแรกโดยปราศจากการตรวจสอบความถูกต้อง ก็ไม่ต่างอะไรกับนักฆ่าในห้วงยามนี้

ขณะที่ประชาชนควรต้องใช้เวลาในการพินิจพิเคราะห์ข้อมูลให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะแชร์หรือส่งต่อ เพราะหากเป็นข้อมูลเท็จ แม้ว่าเราจะทำแค่ส่งต่อข้อมูล แต่ก็ยังมีความผิดเช่นเดียวกัน

หมดเวลาอ้างคำตอบที่ว่า “ประชาชนไม่รู้กฎหมาย” ได้แล้ว เพราะเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนควรให้ความสนใจ และใส่ใจ

ใส่ความเห็น