วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > สมรภูมิไก่ทอดเดือด รัวโปรสวนโควิดระลอก 2

สมรภูมิไก่ทอดเดือด รัวโปรสวนโควิดระลอก 2

ฟาสต์ฟู้ด “ไก่ทอด” กลายเป็นสมรภูมิแข่งขันดุเดือดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดระลอก 2 หลังวิกฤตไวรัสอันตรายรอบแรกสร้างสถิติที่สุดแห่งปี 2020 โดย LINE MAN รวบรวมพฤติกรรมการกินจากผู้ใช้บริการกว่า 3 ล้านคนต่อเดือน จากจำนวนออเดอร์ที่เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 5 เท่า พบว่า เมนูไก่ทอดขายดีสุด สั่งเดลิเวอรี่ทั้งปีรวมกัน 5.3 ล้านชิ้น เรียงต่อกันเท่ากับดอยอินทนนท์ 19 ดอย และขายหมดเร็วสุดภายใน 7 วินาที ในช่วงโปรนาทีทอง Flash Deal

ที่สำคัญ ในตลาดร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant) มูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท ตลาดไก่ทอดมีสัดส่วนมากกว่า 50% ชนิดที่ว่า ยืนหนึ่งเบอร์เกอร์อย่างบริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแมคโดนัลด์ ต้องหันกลับมารุกหนักเมนูไก่ทอดสูตรดั้งเดิมหรือสูตร Original แถมทุ่มหนัก ลดแลกแจกแถมตั้งแต่ต้นปี 2564

ถ้าว่ากันตามไทม์ไลน์ไก่ทอดแมคโดนัลด์ในประเทศไทย บริษัทประกาศเปิดตัวแมคไก่ทอดจัมโบ้ สูตรออริจินอล เมื่อปี 2559 หลังจากนั้นอีก 2 ปี ส่งแมคไก่ทอดใหญ่สูตรเผ็ดและยกเลิกสูตรออริจินอล จนล่าสุดพลิกฟื้นไก่ทอดสูตรดั้งเดิมเข้ามาทดสอบตลาดอีกครั้งในรอบ 3 ปี

ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าวว่า แม้แมคโดนัลด์เป็นผู้นำในตลาดเบอร์เกอร์ แต่บริษัทต้องการเสริมจุดแข็งเรื่องความหลากหลายของเมนูและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่นิยมบริโภคไก่ทอด นอกจากนี้ ยังมีกระแสเรียกร้องเมนูแมคไก่กรอบ สูตรดั้งเดิม บริษัทจึงศึกษาพัฒนารสชาติให้ถูกปากคนไทย สามารถรับประทานได้ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งครอบครัว โดยยังคงเมนูแมคไก่กรอบ สูตรสไปซี่ ไว้ตามเดิม เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ชื่นชอบรสจัดจ้าน และย้ำจุดเด่นของแมคไก่กรอบทั้งสองสูตร เน้นความกรอบนอก ชิ้นใหญ่ คุ้มค่า และเนื้อนุ่มข้างใน

สิ่งที่เห็นผลชัดเจน คือ ยอดขายแมคไก่กรอบเติบโตกว่า 30% ในช่วงเวลาเพียงเดือนเศษๆ ทำให้แมคไทยรีบชิงจังหวะจัดโปรชุดใหญ่ต้อนรับเทศกาลตรุษจีน โดยไม่สนใจภาพลักษณ์ความเป็นฟาสต์ฟู้ด ออก 2 เซตใหญ่ ภายใต้ชื่อ “ไก่มงคล” เสริมความโชคดีให้มั่งมีตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ชุดมหาเฮง ประกอบด้วย แมคไก่กรอบ 8 ชิ้น ไก่ไม่มีกระดูก 8 ชิ้น แมคนักเก็ตส์ 8 ชิ้น เฟรนช์ฟรายส์ขนาดใหญ่ 1 กล่อง เพียง 499 บาท จากปกติ 700 บาท

ส่วนชุดเฮง เฮง ประกอบด้วย แมคไก่กรอบ 8 ชิ้น แมควิงส์ 4 ชิ้น แมคนักเก็ตส์ 4 ชิ้น เฟรนช์ฟรายส์ขนาดกลาง 1 กล่อง ราคา 399 บาท จากปกติ 534 บาท

นอกจากนี้ เพิ่มสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่ดาวน์โหลด McDonald’s Application และลงทะเบียนร่วมกิจกรรมเขย่าเซียมซี รับฟรีเครื่องดื่มสไปรท์ ไม่มีน้ำตาล ขนาด 12 ออนซ์ มูลค่า 35 บาท และรับสิทธิ์ซื้อเมนูโปรดราคาพิเศษ เช่น แมคฟิช หรือ ซามูไรเบอร์เกอร์หมู หรือ แมคนักเก็ตส์ เพียง 39 บาท จากปกติเริ่มต้น 89 บาท หรือชุดแมคไก่กรอบ 2 ชิ้น แมควิงส์ 2 ชิ้น 88 บาท จากปกติเริ่มต้น 143 บาท ชุดแมคพายข้าวโพด หรือ แมคพายสับปะรด 19 บาท จากปกติเริ่มต้น 28 บาท

ขณะเดียวกัน เร่งเดินหน้าขยายสาขาและปรับโฉมสาขาในรูปลักษณ์ใหม่ๆ เช่น สาขาอาคารสีลม 64 ในย่านใจกลางธุรกิจ CBD และสาขาแอคทีฟ พาร์ค เมืองทองธานี ใช้การตกแต่งรูปแบบ Global Design สไตล์ Alphabet เน้นบรรยากาศอบอุ่น ทันสมัย โทนสี Monochromatic palette ใช้ไม้เป็นวัสดุหลัก เพิ่มภาพโปสเตอร์ และตัวอักษรกราฟิกบนฝาผนัง ซึ่งถือเป็นรูปแบบสาขาใหม่ที่จะนำไปใช้ปรับโฉมสาขาร้านเดิมและเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดแมคโดนัลด์มีสาขาทั่วประเทศรวม 224 แห่ง

ด้านบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์เคเอฟซีในประเทศไทย เคเอฟซี ซึ่งยึดกุมตำแหน่งผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งกว่า 70% ประกาศนโยบายตั้งแต่ปลายปี 2563 จะขยายสาขาฝ่าวิกฤตโควิด-19 และเน้นเปิดสาขาโมเดลไดรฟ์ทรู ทั้งร้านสแตนด์อะโลน ร้านในสถานีบริการน้ำมัน เช่น ปตท. คาลเท็กซ์ ซัสโก้ และพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

ปัจจุบันเคเอฟซีในประเทศไทยมีแฟรนไชซี 3 ราย คือ 1. บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ในเครือบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ซึ่งถือเป็นแฟรนไชซีเจ้าแรกในไทย เปิดกิจการร้านเคเอฟซีตั้งแต่ปี 2528

2. บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนของผู้ลงทุนทั้งไทยและอาเซียน และได้รับการสนับสนุนโดย บริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น เปิดสาขาแรกเมื่อปี 2559 และสุดท้าย คือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ในเครือไทยเบฟเวอเรจ เข้ามาซื้อสิทธิ์แฟรนไชซีเมื่อปลายปี 2560

แน่นอนว่า ทั้ง 3 แฟรนไชซีเป็นกลุ่มทุนที่มีเม็ดเงินเต็มหน้าตัก โดยเฉพาะ 2 ยักษ์ใหญ่ “เซ็นทรัล-ไทยเบฟ” ทำให้การรุกตลาดของเคเอฟซีตามนโยบายบริษัทแม่ลุยสู้พิษเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในแง่เครือข่ายสาขา มาตรฐานการบริการ กลยุทธ์เจาะตลาดทั้งออฟไลน์หน้าร้านและออนไลน์บวกกับจุดขายโปรโมชั่นแข่งขันที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายชนิดอยู่หมัด

หากสำรวจโปรโมชั่นของเคเอฟซีจะเล่นเรื่องราคาเป็นหลัก โดยเดือนกุมภาพันธ์ออกแคมเปญให้เลือกหลากหลาย เช่น โปรสุขสิ้นเดือน 99 บาท จากปกติราคา 156 บาท มีข้าวไก่แซ่บ หรือข้าวไก่กรอบแกงเขียวหวาน 1 ถ้วย ไก่ทอด 2 ชิ้น เฟรนช์ฟรายส์ 1 ถุง

โปรสุดปังสิ้นเดือน คุ้มฉบับพกพา KFC CHICK N’ ROLL ชิคแอนด์โรล 3 ชิ้น ราคา 99 บาท จากปกติ 105 บาท

โปรรางวัลถังใหญ่ ไก่แชร์สุข มีไก่ทอด 4 ชิ้น วิงซ์แซ่บ 3 ชิ้น นักเก็ตส์ 4 ชิ้น และเฟรนช์ฟรายส์ 1 ถุง ราคา 199 บาท จากปกติ 280 บาท และมีโปรเด็ดเฉพาะบริการดีลิเวอรี่ ฟรี 7 ไก่ทอด ฟรีวิงซ์แซ่บอีก 7 ชิ้น ราคา 273 บาท จากปกติ 406 บาท พร้อมพ่วงท้ายโปร “แซ่บสั่งลา บ๊ายบายมกรา” เช่น ชุดคอมโบ แซ่บ อิ่มเบาๆ 69 บาท มีไก่ทอด 1 ชิ้น วิงซ์แซ่บ 3 ชิ้น ชุดแซ่บไม่ยั้ง ชิคแอนด์แชร์ ไก่วิงซ์แซ่บ 7 ชิ้น ราคา 99 บาท ชุดแอบแซ่บคนเดียว เดอะบอกซ์ ไก่ทอด 1 ชิ้น ไก่วิงซ์แซ่บ 4 ชิ้น นักเก็ตส์ 3 ชิ้น เฟรนช์ฟรายส์ 1 ถุง และเป๊บซี่ 1 แก้ว ราคา ชุดละ 149 บาท

นายอนวัช สังขะทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน เคเอฟซ มีสาขามากกว่า 800 แห่ง และเร่งเปิดให้บริการรูปแบบใหม่ไม่มีแคชเชียร์หน้าร้าน แต่ให้ลูกค้ากดสั่งเมนูอาหารเองผ่านแอปพลิเคชันพร้อมชำระเงินแบบไร้เงินสด เพื่อรองรับมาตรการรักษาความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 หลีกเลี่ยงการสัมผัส รองรับเทรนด์ยุคใหม่สั่งสินค้าผ่านออนไลน์และการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทดลองเปิดให้บริการ 3 แห่งที่อาคารซีพี ทาวเวอร์ รามอินทรา 109 และสาขาในปั๊มน้ำมัน ปตท. บ่อวิน จังหวัดชลบุรี เพื่อทดสอบความพร้อมก่อนเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบทุกสาขาทั่วประเทศ

สำหรับการกดสั่งซื้อเองหน้าร้านไม่มีแคชเชียร์นั้น ลูกค้าสามารถกดสั่งมาจากบ้านและเลือกสาขา เพื่อเข้าไปรับสินค้า รวมทั้งเปิดให้บริการรูปแบบลูกค้าโทรสั่งแล้วขับรถเข้ามาวนรับที่สาขา โดยพนักงานเดินไปส่งสินค้าให้ถึงที่รถ ซึ่งปีที่ผ่านมาเปิดบริการแล้วมากกว่า 300 สาขา และตั้งเป้าขยายครบทุกสาขา เนื่องจากผลสำรวจด้านการตลาดพบว่า ลูกค้านิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉพาะปี 2563 เพิ่มขึ้น 53% ปีนี้คาดจะเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว

ขณะที่ “เท็กซัสชิคเก้น” หลังจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แยกบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” และนำหุ้น OR เข้าซื้อขายระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเตรียมดีเดย์ซื้อขายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าจะมีเงินลงทุนมากขึ้นหลายเท่า เพื่อปูพรมสาขารวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการขยายไปพร้อมๆ กับการเพิ่มสถานีบริการน้ำมันพีทีทีสเตชั่นทั่วประเทศ

ล่าสุด เท็กซัสชิคเก้นมีสาขารวม 76 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 36 สาขา สมุทรปราการ 2 สาขา สมุทรสาคร 1 สาขา นนทบุรี 5 สาขา ปทุมธานี 4 สาขา อยุธยา 3 สาขา เพชรบุรี 1 สาขา ภูเก็ต 3 สาขา สงขลา 5 สาขา ขอนแก่น 1 สาขา ระยอง 3 สาขา ฉะเชิงเทรา 1 สาขา ชลบุรี 6 สาขา นครปฐม 1 สาขา และ นครราชสีมา 4 สาขา

อย่างไรก็ตาม การพยายามรุกกินส่วนแบ่งจาก 2 รายใหญ่ “เคเอฟซี-แมคโดนัลด์” ทำให้เท็กซัสชิคเก้นต้องอัดแคมเปญตัดราคาอย่างดุเดือด โดยปีที่ผ่านมาจัดรายการวันที่ 8 เดือน 8 ซื้อไก่ทอด 8 ชิ้น ฟรีอีก 8 ชิ้น การ Synergy กับบัตร Blue Card ขยายฐานลูกค้า และจับมือกับยักษ์อีคอมเมิร์ซ ทั้งช้อปปี้และลาซาด้า ให้ลูกค้าแลกซื้อคูปองในราคาถูกกว่าปกติ 40-50% โดยล่าสุดงัดแคมเปญ 2.2 ให้ซื้อคูปองผ่านช้อปปี้ ในราคาเริ่มต้นเพียง 1 สตางค์ เพื่อแลกซื้อเมนูต่างๆ

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่า สมรภูมิไก่ทอดนับวันยิ่งดุเดือดมากขึ้น ในฐานะเมนูเติบโตสวนวิกฤตโควิดและยังหมายถึงตัวชูโรงพลิกฟื้นรายได้ให้กลุ่มฟาสต์ฟู้ดด้วย

ใส่ความเห็น