วันจันทร์, ธันวาคม 2, 2024
Home > Cover Story > นับถอยหลังบิ๊กดีล ซีพีฮุบเทสโก้ จับตามติบอร์ดแข่งขันฯ ชี้ชะตา

นับถอยหลังบิ๊กดีล ซีพีฮุบเทสโก้ จับตามติบอร์ดแข่งขันฯ ชี้ชะตา

นับถอยหลังอีกไม่ถึงเดือน คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะต้องสรุปชี้ขาดบิ๊กดีลการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัส ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ใช้เม็ดเงินมูลค่าสูงถึง 3.38 แสนล้านบาท และเป็นประเด็นสำคัญ ทั้งในแง่บรรทัดฐานตามตัวบทกฎหมายป้องกันการผูกขาดและการพลิกกลยุทธ์รุกสงครามค้าปลีกของยักษ์ใหญ่ “ซีพี”

ต้องยอมรับว่า ในอดีตประเทศไทยเกิดบิ๊กดีลค้าปลีกหลายครั้ง ทั้งกรณีบิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟูร์ เม็ดเงินมูลค่า 35,500 ล้านบาท เมื่อปี 2553 ซีพี ออลล์ ฮุบค้าส่งแม็คโคร เงินลงทุนกว่า 1.88 แสนล้านบาท ในปี 2556 และกลุ่มเบอร์ลี่ยุคเกอร์ทุ่มทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ซื้อกิจการบิ๊กซีเมื่อปี 2559

แต่ช่วงนั้นยังอยู่ภายใต้กฎหมายเดิม พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ยังไม่มีกำหนดเกณฑ์การรวมธุรกิจและอำนาจเหนือตลาด หรือการผูกขาด ทำให้ทั้งสามดีลลอยลำยืนหนึ่งในธุรกิจค้าปลีก

จนกระทั่งเกิดดีลล่าสุด เมื่อเครือซีพีชนะการประมูลซื้อกิจการเทสโก้ในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยวงเงิน 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.38 แสนล้านบาท ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ยังต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชี้ขาดว่า การควบรวมกิจการจะเข้าข่ายการผูกขาดหรือการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ซึ่งนายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ระบุจะได้ข้อสรุปภายในเดือนตุลาคมนี้

นายสกนธ์เคยระบุกับสื่อว่า กรณีการควบรวมกิจการค้าปลีกของเครือซีพีและเทสโก้ ถือเป็นเคสขนาดใหญ่ครั้งแรกในบอร์ดแข่งขันชุดปัจจุบัน และเป็นครั้งแรกของการบังคับใช้ พ.ร.บ. แข่งขันฯ ฉบับปี 2560 ถือเป็นงานใหญ่ทิ้งทวนก่อนที่กรรมการ 3 ใน 7 คนของบอร์ดชุดนี้จะหมดวาระในเดือนธันวาคมนี้ โดยวางกรอบพิจารณาหลายข้อ ได้แก่ ขอบเขตตลาดของซีพีเมื่อรวมกับเทสโก้ โลตัส แล้วเป็นอย่างไร ผู้ถือหุ้นในกิจการที่มีการควบรวมกันแล้วจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายกันอย่างไร ผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่สำคัญ เข้าเงื่อนไขการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่

ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ออกประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องหลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดฉบับใหม่ และให้ยกเลิกประกาศฯ หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2561 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา

สาระสำคัญในประกาศการกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณา “อำนาจเหนือตลาด” คือ 1. ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

2. ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ 75% ขึ้นไป แต่ไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำ 10%

นอกจากนี้ กำหนดการนับส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดให้นับรวมส่วนแบ่งตลาดและยอดเงินขายในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งของบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนดด้วยและให้ถือว่าบรรดาผู้ประกอบธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด

เทียบกับหลักเกณฑ์เดิมตามประกาศในปี 2561 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด คือ

1. ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

หรือ 2. ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรก ในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกันตั้งแต่ 75% ขึ้นไป และมียอดเงินขายในปีที่ผ่านมาแต่ละรายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยไม่ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาต่ำกว่า 10%

ข้อแตกต่าง คือ หลักเกณฑ์ใหม่จะพิจารณาส่วนแบ่งตลาดเป็นหลัก ขณะที่หลักเกณฑ์เดิม หากผู้ประกอบการมีบริษัททำธุรกิจรูปแบบเดียวกันหลายบริษัท อยู่ในเครือเดียวกัน แม้มีส่วนแบ่งตลาดรวมแล้วเกิน 75% แต่เมื่อแยกรายบริษัทแล้วไม่ได้มียอดขายเกินหลักพันล้าน จะไม่เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด เรียกว่า จะทำให้การควบคุมขยายวงกว้างมากขึ้นและชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะบริษัทที่มีรายได้เกินกว่าหลักพันล้านบาท

ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของ กขค. มี 3 แนวทางคือ 1. ไม่ผ่าน หากมีการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งกรณีนี้ซีพีจะถูกยึดเงินมัดจำและหากจะอุทธรณ์ต้องไปร้องต่อศาลปกครอง

2. ผ่าน คือไม่เข้าข่ายผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด ซีพีจะมีอำนาจในการเข้ามาบริหารจัดการเทสโก้ โลตัสได้ทันที

3. ผ่านแบบมีเงื่อนไข ซึ่ง กขค. จะกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินการ เพื่อจำกัดการผูกขาดหรือมีอำนาจเหนือตลาด

หลายฝ่ายมีการคาดการณ์กันว่า กขค. น่าจะพิจารณาให้ผ่านแบบมีเงื่อนไขและให้เครือซีพีมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินงาน ซึ่งน่าสนใจว่า จะออกมาในรูปแบบใด

ขณะที่ในแง่ผู้คัดค้านอย่างนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ซึ่งยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการฯ ทันทีที่กลุ่มซีพีประกาศชัยชนะคว้าดีลเทสโก้โลตัส โดยระบุว่า กลุ่มซีพีมีกิจการโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ คือ แม็คโคร มีส่วนแบ่งตลาดถึง 37.4% จากภาพรวมประเทศไทยที่มีโมเดิร์นเทรดเพียง 3 ราย คือ บิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาด 24.2% แม็คโคร 37.4% และเทสโก้-โลตัส 38.4% และเมื่อเข้ามาซื้อกิจการของเทสโก้-โลตัส จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 75.8%

นอกจากนั้น ยังมีร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีกขนาดเล็ก คือ 7-11 จำนวนหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ เมื่อกลุ่มซีพีเข้ามาซื้อเทสโก้-โลตัส ซึ่งมีร้านค้าในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 214 สาขา ตลาดโลตัส 179 สาขา และยังมี Tesco Express อีก 1,850 สาขา จะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 50% จึงน่าจะเข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาด

ดังนั้น ไม่ว่าบอร์ดแข่งขันทางการค้าจะตัดสินเช่นใด ทุกแนวทางต้องมีเหตุผลและยืนยันด้วยข้อเท็จจริงชัดเจนบนหลักการของกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่า ผู้เล่นคู่แข่งขันในสมรภูมิเดียวกันต่างกำลังลุ้นผลชี้ชะตาบิ๊กดีล “ซีพี-เทสโก้” ที่ยืดเยื้อมากว่า 9 เดือน จะสรุปจบในรูปแบบใด

ใส่ความเห็น