วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 3, 2024
Home > PR News > ค้าปลีก-ค้าส่ง ติดไวรัส โควิด 19 ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทรุดดิ่ง

ค้าปลีก-ค้าส่ง ติดไวรัส โควิด 19 ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทรุดดิ่ง

ค้าปลีก-ค้าส่ง ติดไวรัส โควิด 19 ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทรุดดิ่ง หวังมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่น-กระตุ้นการจับจ่าย และบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและการเลิกจ้างงาน

ตามที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค 19 ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยนั้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้มาใช้บริการตลอดช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2563 จนถึงปัจจุบัน มีสัดส่วนจำนวนลูกค้าลดลงมากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผลจากการปิดตัวของธุรกิจท่องเที่ยวหรือที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง ส่งผลให้กำลังซื้อหายไปจากระบบเป็นจำนวนกว่า 70,000 ล้านบาท (*ข้อมูลจากEIC)

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง นับเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ โดยสร้างรายได้คิดเป็น 16% ของจีดีพีรวมของประเทศไทยและมีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 6.2 ล้านคน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอีกกว่า 450,000 ราย

นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า จากผลกระทบของไวรัสโควิด 19 ในนามสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีค้าปลีกทั่วประเทศ จึงขอเสนอมาตรการที่จำเป็นให้รัฐบาลช่วยเหลือและเยียวยา เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ผู้บริโภคประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีกค้าส่งให้อยู่รอด รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ โดยมีข้อเสนอเร่งด่วน 4 มิติ ดังนี้

มิติด้านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
1. เสนอให้นำโครงการ“ช้อป ช่วย ชาติ” กลับมาอีกครั้ง โดยการขยายวงเงินการบริโภคจากเดิม 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท และกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 31 กันยายน พ.ศ.2563โดยไม่มีข้อจำกัดกลุ่มสินค้าหรือประเภทธุรกิจ โครงการ “ช้อป ช่วย ชาติ” เป็นโครงการกระตุ้นการจับจ่ายทั่วไปของผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนที่เป็นผู้เสียภาษีเงินได้ที่จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” เป็นโครงการกระตุ้นการจับจ่ายในระดับผู้บริโภคฐานล่าง ที่นำไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันเท่านั้น จึงเสนอให้มีการมอบเงินจำนวนหนึ่งให้ผู้บริโภคที่ลงทะเบียนได้นำไปใช้ซื้อสินค้า โดยเปิดให้ร้านค้าทุกร้านเข้าร่วมโครงการได้ผ่าน โครงการ “ชิม ช้อป ใช้” ด้วยเช่นกัน

2. เสนอโครงการ “คืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund” สำหรับสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้กับทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยวกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 ทั้งนี้เนื่องจากอัตรากำแพงภาษีสินค้านำเข้าของประเทศไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ เฉลี่ยที่ 25-40% โครงการคืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund จะเป็นปัจจัยจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจ มาเที่ยวหลังจากสิ้นสุดวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัส โควิด 19 ขณะเดียวกัน ก็จะเป็นปัจจัยจูงใจให้ผู้บริโภค คนไทยที่นิยมไปต่างประเทศช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม หันกลับมาซื้อสินค้าในประเทศไทยทดแทน ส่งผลให้เม็ดเงินมหาศาลที่ไปช้อปปิ้งต่างประเทศกลับสู่ประเทศไทยได้

3. เสนอภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค

4. พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี พ.ศ.2563

มิติในด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล
1. เสนอให้พิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนพฤษภาคม ไปเป็นเดือนสิงหาคม และพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลกลางปี พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนสิงหาคม ไปเป็นเดือนธันวาคม พ.ศ.2563

2. เสนอให้นิติบุคคลที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด 19 ที่ใช้ในจุดคัดกรอง อาทิ กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกน และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องสามารถนำค่าใช้จ่าย มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ก่อนการคำนวณภาษี

3. เสนอให้พิจารณาลดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟ ต่อหน่วย ให้แก่ นิติบุคคล กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563

มิติในด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน
1. เพื่อชะลอการลดกำลังคน การยกเลิกชั่วโมงล่วงเวลา (OT) ตลอดจนถึง การเลิกจ้างงาน อันเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 รวมทั้งเพื่อให้สามารถจ้างแรงงานเสริมเพื่อรับมือกับแรงงานที่อาจขาดแคลนเนื่องจากเจ็บป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สมาคมฯ ใคร่เสนอให้กระทรวงแรงงาน ประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง เพื่อที่ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นในการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้อย่างถูกกฎหมาย โดยอาจประกาศอนุญาตให้จ้างงานรายชั่วโมงเป็นช่วงระยะเวลา 6-12 เดือน

2. เสนอให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ในช่วงวิกฤตนี้ โดยพิจารณายกเว้นเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

3. นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นการจ้างได้เพิ่มขึ้น จึงขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราชดเชยภาษี ที่นิติบุคคลสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเดิมหักได้เพียง 15,000 บาท/คน เป็นหักได้สูงสุด 50,000 บาท/คน เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถมีโอกาสได้จ้างงานในช่วงวิกฤตนี้ และนอกจากนี้ขอให้พิจารณาให้ผู้สูงอายุสามารถสมัครประกันสังคมได้ (เพราะปัจจุบันผู้สูงอายุไม่มีหลักประกัน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำประกันชีวิตหรือสุขภาพเอง)

มิติในด้านการสร้างความความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว
1. ภาคค้าปลีกค้าส่งจะร่วมมือกับภาครัฐ รณรงค์ให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ดำเนินการทำ Big Cleaning ทำความสะอาด พ่นสเปรย์ด้วยยาฆ่าเชื้อโรคในสถานประกอบการครั้งใหญ่โดยพร้อมเพรียงกัน โดยจะมีกระทรวงสาธารณสุขรับรองมาตรฐาน โดยเริ่มจาก กรุงเทพมหานคร ขยายไปยังจังหวัดที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวตามลำดับ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน จะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน และประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทย

2. ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก และแหล่งท่องเที่ยว ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง การแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด 19 ในสถานประกอบการ ซึ่งถือเสมือนเป็นสถานที่สาธารณะ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว อาทิ กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ตามข้อเสนอข้างต้น

ใส่ความเห็น