วันอังคาร, พฤศจิกายน 5, 2024
Home > Cover Story > พิษ “อู่ฮั่น” ระบาด เศรษฐกิจไทยระส่ำอีกรอบ

พิษ “อู่ฮั่น” ระบาด เศรษฐกิจไทยระส่ำอีกรอบ

ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “อู่ฮั่น” ในจีน ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำลายสถิติผู้ติดเชื้อในประเทศจีนตลอดช่วงเวลาการแพร่ระบาดของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือ “ซาร์ส” ระหว่างปลายปี 2545 ถึงกลางปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ 5,327 คน และยังพบผู้ป่วยอย่างน้อยใน 14 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ศรีลังกา เนปาล ฝรั่งเศส และเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุขยืนยันควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะเคยรับมือโรคซาร์ส อีโบลา และไข้หวัดนกมาแล้ว ซึ่งสถิติการควบคุมโรคของไทยจัดว่าดีเป็นอันดับ 6 ของโลก

แต่ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดรอบนี้ก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเดิมที่คาดการณ์จะเริ่มฟื้นตัว ต้องกลับมาย่ำแย่และถือเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องวางกระบวนยุทธ์แก้ไขรอบคอบมากขึ้น

หากย้อนบทเรียนที่ประเทศไทยเจอผลพวงพิษโรคระบาดครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปี 2540 เกิดการระบาดเชื้อไข้หวัดนก (Avian influenza) จากไวรัสไข้หวัดใหญ่ “H5N1” เริ่มต้นที่ฮ่องกง และเมืองเชาหู ในประเทศจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 กระทั่งระบาดเข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547-2550 พบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย และก่อผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสัตว์ปีก มูลค่ามากกว่า 60,000 ล้านบาท รวมถึงผลกระทบด้านอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน มีการทำลายไก่มากกว่า 60 ล้านตัว ซึ่งประเทศไทยต้องใช้เวลาปลุกความเชื่อมั่นจนได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่ามีความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เกิดกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม โคโรนาไวรัส (Corona Virus) ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคนี้มีต้นกำเนิดมาจากมณฑลกวางตุ้งของประเทศจีนและระบาดไปที่ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ และแคนาดา โดยต่อมามีผู้พบโรคนี้ในที่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ ไต้หวัน และเยอรมนี

ถัดมาในปี 2552 เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 (H1N1) ที่ประเทศเม็กซิโกและแพร่ระบาดไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โดยสถานการณ์ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงต่อเนื่อง จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดเป็นระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในวันที่ 11 มิถุนายน 2552 โดยข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อจากโรคนี้กว่า 1,330 คน มีผู้เสียชีวิตรวม 3 คน

ในปีนั้นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ผ่านพ้นมาได้แต่เศรษฐกิจไทยบอบช้ำมาก

กระทั่งปี 2555 เกิดโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome) หรือ โรคเมอร์ส (MERS) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 MERS-CoV ซึ่งเป็นเบตาโคโรนาไวรัสที่เคยติดต่อในค้างคาวและอูฐ อย่างไรก็ดี แหล่งที่มาของเชื้อนี้ยังไม่ชัดเจน แต่มีการรายงานครั้งแรกเมื่อปี 2555 ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ต่อมาเชื้อได้แพร่กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง ได้แก่ การ์ตา จอร์แดน ฝรั่งเศส อิตาลี และ ตูนิเซีย

แน่นอนว่า กรณีไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความรุนแรง หากไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดและจะรุนแรงมากขึ้นอีกหลายเท่าจากปัญหาการส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม หรือ “เฟคนิวส์” เพราะปลุกความหวาดกลัวและความไม่มั่นใจ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจไทย กรณีไวรัสโคโรนา 2 กรณี คือ กรณีปกติหรือเหตุการณ์จบลงภายในไตรมาสที่ 1/2563 หรือใน 3 เดือน และกรณีเลวร้ายหรือสถานการณ์ลุกลามมากกว่า 3 เดือน

ในกรณีจบเร็วใน 3 เดือนจะส่งผลกระทบทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยลดลง 1 ล้านคน หรือลดลง 10% รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนลดลง 45,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลง 5 แสนคน รายได้จะลดลงอีก 30,000 ล้านบาท รวมลดลง 75,000 ล้านบาท

กรณีมากกว่า 3 เดือน นักท่องเที่ยวจีนมาไทยลดลง 2 ล้านคน หรือลดลง 15-20% รายได้ไทยลดลง 90,000 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 1 ล้านคน รายได้ไทยลดลง 60,000 ล้านบาท รวมรายได้ท่องเที่ยวลดลง 150,000 ล้านบาท

ด้านการส่งออกไทยไปจีน กรณีจบเร็วใน 3 เดือนจะลดลงราว 9,405 ล้านบาท หรือลดลง 1.03% คำนวณจากฐานข้อมูลส่งออกไทยไปจีนย้อนหลัง 15 ปี เฉลี่ยปีละ 9.13 แสนล้านบาท และกรณีมากกว่า 3 เดือนส่งออกไทยไปจีนจะลดลง 19,819 ล้านบาท หรือลดลง 2.5%

การลงทุนของจีนในไทย กรณีจบเร็วใน 3 เดือนจะลดลง 233 ล้านบาทหรือลดลง 1.12% คำนวณจากฐานจีนลงทุนไทยย้อนหลัง 15 ปี เฉลี่ยปีละ 2.08 หมื่นล้านบาท และกรณีมากกว่า 3 เดือนจะลดลง 566 ล้านบาท หรือลดลง 2.4%

เมื่อรวมผลกระทบภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนทั้งหมด กรณีเหตุการณ์จบเร็วใน 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 84,633 ล้านบาท และกรณีมากกว่า 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 170,385 ล้านบาท ขณะที่จะส่งผลกระทบจีดีพีไทย กรณีเหตุการณ์จบเร็วใน 3 เดือนจะกระทบจีดีพีไทยปีนี้ลดลง 0.5% มูลค่า 79,376 ล้านบาท และกรณีมากกว่า 3 เดือนจะกระทบจีดีพีลดลง 1-1.5% มูลค่า 238,129 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากรวมกับประเด็นอื่นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ทั้งเรื่องงบประมาณปี 2563 ล่าช้า ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว การแข็งค่าของเงินบาท ภัยแล้งและฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อาจทำให้เศรษฐกิจของไทยในปี 2563 ขยายตัวต่ำกว่า 2% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 2.8%

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังตัดสินใจปรับลดตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ “จีดีพี” เหลือ 2.8% จากเดิมคาดการณ์ไว้ 3.3% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และความไม่แน่นอนทางการค้า รวมทั้งมีปัจจัยลบใหม่จากปัญหาโรคระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ของไทย จึงคาดว่าตลอดช่วง 3 เดือนนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป จากปกติเดินทางเข้าไทยเฉลี่ย 800,000 คนต่อเดือน ยอดใช้เงิน 50,000 บาทต่อคน

ดังนั้น เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจที่หายไปมากกว่าแสนล้านถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ที่รัฐบาล โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจต้องเร่งมาตรการสร้างรายได้ก้อนใหม่ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและเยียวยาผลกระทบแบบได้ผลลัพธ์ เพราะวิกฤตรอบนี้จากบทเรียนที่ผ่านมา กว่าไวรัสโคโรนาจะสิ้นฤทธิ์หยุดการระบาดอาจต้องกินเวลาอย่างน้อย ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแน่

ใส่ความเห็น