วันอังคาร, พฤศจิกายน 12, 2024
Home > Cover Story > เกมจัดฉากประมูลดิวตี้ฟรี ปรับเงื่อนไขลดกระแสต้าน

เกมจัดฉากประมูลดิวตี้ฟรี ปรับเงื่อนไขลดกระแสต้าน

แม้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ยอมปรับเงื่อนไขการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี หลังเจอกระแสต่อต้านรูปแบบสัญญาผูกขาดสัมปทานยาวนานนับสิบปี ถูกตั้งคำถามถึงการเอื้อประโยชน์และเปิดช่องโหว่ให้ยักษ์เอกชนบางรายกอบโกยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ดูเหมือนว่า การจับตาจากทั้งกลุ่มองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กลุ่มนักวิชาการสถาบันทีดีอาร์ไอ และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังไม่จบ เพราะมีประเด็นน่าสงสัยต้องติดตามอีกหลายข้อ

ที่สำคัญระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลมากมาย ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงธุรกิจเปรียบเทียบกับสนามบินชั้นนำในต่างประเทศถูกสะท้อนสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง แต่ ทอท. ยืนกรานจะเลือกใช้โมเดลเปิดประมูลแบบสัญญาเดียว และรวบสัญญาดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ เป็นสัญญาเดียว

กระทั่งวันที่ 15 มีนาคม 2562 จะด้วยเหตุผลจากสถานการณ์การเมืองใกล้เลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาสั่งการให้คณะกรรมการ ทอท. และผู้บริหาร ทอท. พิจารณาทบทวนแนวทางการประมูล โดยคำนึงถึงข้อท้วงติงของสังคมและประโยชน์ที่ ทอท. และประเทศชาติจะได้รับอย่างรอบด้าน

ต่อมา วันที่ 28 มีนาคม 2562 คณะกรรมการ ทอท. มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2562 เห็นชอบให้ฝ่ายบริหาร ทอท. ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งให้แนวทางในการคัดเลือกเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและผู้ถือหุ้น โดยกำหนดโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรแยกเป็น 2 สัญญา

คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พื้นที่ 12,021 ตารางเมตร 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร อีก 1 สัญญา รวมทั้งกำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ (Brand Name) สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้ และผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท. ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังยืนยันให้สัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession)

ทั้งนี้ ทอท. ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมประมูล (TOR) งานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2563-31 มี.ค. 2574 หรือ 10 ปี 6 เดือน โดยบริษัทเปิดขายเอกสารระหว่างวันที่ 1-18 เม.ย. 2562 จากนั้นกำหนดรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 22 เม.ย. และดูสถานที่ประกอบกิจการในวันที่ 23 เม.ย.

ขั้นตอนต่อไปให้ยื่นข้อเสนอในวันที่ 22 พ.ค. 2562 พร้อมประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ ทอท. กำหนด จากนั้นกำหนดการนำเสนอผลงาน (Presentation) ข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในวันที่ 27-28 พ.ค. พร้อมกำหนดการเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด ในวันที่ 31 พ.ค. 2562

ขณะที่การประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว ซึ่งสัญญามีกำหนดตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2563-31 มี.ค.2574 หรือ 10 ปี 6 เดือน โดยเปิดซื้อเอกสารระหว่างวันที่ 1-18 เม.ย. และกำหนดรับฟังคำชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 22 เม.ย. และดูสถานที่ประกอบกิจการในวันที่ 23 เม.ย.

กำหนดการยื่นข้อเสนอวันที่ 22 พ.ค. 2562 พร้อมประกาศรายชื่อผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ ทอท. กำหนด กำหนดการนำเสนอผลงาน (Presentation) ข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในวันที่ 29-30 พ.ค. พร้อมกำหนดการเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด ในวันที่ 31 พ.ค. 2562

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ทอท. เห็นว่าข้อเสนอเรื่องของการแยกสัญญาประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ กับ ดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาคออกจากกัน พอมีเหตุผลรับฟังได้จึงนำเรื่องเสนอบอร์ดเพื่อแยกสัญญา โดยมองว่ายอดขายดิวตี้ฟรี 3 สนามบินภูมิภาคหากรวมกันจะคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 18% น่าจะพอไปได้ในเชิงธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ และ 3 สนามบินภูมิภาค ทอท. ยังยืนต้องเป็นการหาผู้ประกอบการรายเดียว (Master Concessionaire) ภายใต้ระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี และจะไม่แยกประมูลตามหมวดสินค้า (Category Concessions) ตามที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเรียกร้อง เนื่องจากเป็นไปตามความเหมาะสมในเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่และการไหลเวียนของผู้โดยสาร ซึ่ง ทอท. อยากได้ผู้ชนะการประมูลในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ เพราะขณะนี้ล่าช้ามากแล้ว

หากย้อนดูข้อเสนอของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ซึ่งนายวรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะประธาน ออกโรงคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ชนิดประกาศต้องล้มการประมูล เพื่อปรับรายละเอียดทั้งหมด หรือแม้แต่การยอมปรับเงื่อนไขแยกสัญญาล่าสุดของ ทอท. นายวรวุฒิมองว่าเป็นการลดกระแสการต่อต้าน เพื่อเร่งรัดเดินหน้าโครงการให้เสร็จทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากข้อเสนอแนะของสมาคมฯ ต้องการให้แยกทีโออาร์ในส่วนของสิทธิบริหารร้านดิวตี้ฟรีเป็น 3 ฉบับ

ได้แก่ 1. ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินสุวรรณภูมิ ให้เป็นสัมปทานหลายรายการตามหมวดหมู่สินค้าเพื่อให้ตรงกับหลักสากลและประโยชน์สูงสุด เพราะร้านดิวตี้ฟรีในต่างประเทศภายใต้รูปแบบดังกล่าวสามารถให้ผลตอบแทนสูง 30-40% ต่างจากร้านดิวตี้ฟรีของไทยในขณะนี้ให้ผลตอบแทนเพียง 15-19% 2. ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินภูเก็ตให้เป็นสัมปทานรายเดียว และ 3. ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินเชียงใหม่และหาดใหญ่รวมกันเป็น 1 ฉบับ

นายวรวุฒิกล่าวถึงข้ออ้างของ ทอท. ในการให้สัมปทานรายเดียว เพราะการกระจายตัวของผู้โดยสารมีความไม่แน่นอน เกรงปัญหาเรื่องการขาดทุนนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าสามารถจัดให้กระจาย 2-3 จุดในสนามบิน มีทั้งเครื่องสำอาง กลุ่มไวน์ สุรา ยาสูบ รวมทั้งสินค้าหมวดแฟชั่น Luxury ซึ่ง ทอท. สามารถวางแผนจัดสรรพื้นที่ได้

ที่ผ่านมา สนามบินในเอเชียมีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีจำนวนมากกว่า 1 ราย ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ มีจำนวนผู้ประกอบการมากถึง 10, 10, 7 และ 5 รายตามลำดับ โดยกำหนดระยะเวลารับสัมปทานเพียง 5-7 ปี

นอกจากนี้ หากเทียบรายได้จากกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการบินของ ทอท. มีสัดส่วนเพียง 44% ของรายได้ทั้งหมด เป็นตัวเลขต่ำสุดในบรรดาสนามบินนานาชาติในเอเชีย อาทิ สนามบินฮาเนดะ มีสัดส่วนรายได้ Non-Aero ถึง 73% ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุไว้ชัดเจนว่า รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินเป็นปัจจัยหลักการบริหารการเงินของสนามบินให้อยู่รอดได้

“ล่าสุด สมาชิกสมาคมฯ ที่สนใจจะเข้าไปซื้อซองประมูลมีหลายราย เบื้องต้นกลุ่มที่ชัดเจนมี 4-5 ราย ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์ กลุ่มสยามพิวรรธน์ กลุ่มเครือโรงพยาบาลกรุงเทพและสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กลุ่มเกษร และเชื่อว่ายังมีรายอื่นๆ อีก แต่ยังไม่แสดงตัว ซึ่งสมาคมฯ จะตรวจสอบรายละเอียดของทีโออาร์ มีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หากพิจารณาเห็นว่ามีความไม่ถูกต้องเหมาะสม จะมีข้อเสนอไปยัง ทอท. เพื่อให้แก้ไขให้เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการทุกรายมากที่สุด” นายวรวุฒิกล่าว

ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเกาะติดโครงการประมูลดิวตี้ฟรีเช่นเดียวกัน มีแนวคิดไม่ต่างจากนายวรวุฒิและไม่เชื่อว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีแต่ละสนามบินจะขาดทุน ดูตัวอย่างจากการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินอู่ตะเภา พื้นที่แค่ 2,000 ตารางเมตร แต่มีผู้ร่วมประมูลหลายรายและเสนอค่าตอบแทนให้รัฐสูงกว่า 200 ล้านบาท

ที่สำคัญ การประมูลดิวตี้ฟรีแยกเป็นรายสนามบิน เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสแข่งขันกันทุกสนามบิน อาจเป็นรายเดิมทั้ง 4 สนามบินก็ได้ ไม่ให้ผูกขาดแบบที่ผ่านมา

แน่นอนว่า ทั้งฝ่าย ทอท. บริษัทเอกชน และผู้คัดค้าน ต่างจับตาจุดเปลี่ยนที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจดิวตี้ฟรีในสนามบินของประเทศไทย ที่สำคัญ เม็ดเงินรายได้มหาศาลที่กินยาวนับสิบปีจะย้ายหน้าตักจาก “คิงเพาเวอร์” หรือไม่!!

ใส่ความเห็น