วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร หมุดหมายแห่งปัญญา-ความรู้

หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร หมุดหมายแห่งปัญญา-ความรู้

ก้าวย่างของกาลเวลาที่ดำเนินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและไม่เคยอิดออดรอสิ่งใด การมาถึงของเทคโนโลยีอันทันสมัยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่ดูจะเร่งเร้าให้เท่าทันตามจังหวะของการพัฒนา

กระนั้นดูเหมือนว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้น อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ในหลากหลายมิติ และแม้ว่าในบางแง่มุมของการพัฒนาจะทำให้วัฏจักรบางอย่างไม่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างที่ควรเป็น และในทางกลับกัน เสมือนว่าสิ่งนั้นเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เป็นการนับถอยหลังเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายของเส้นทางที่เดิน

การพัฒนาที่ว่าส่งผลต่อวัฒนธรรมบางอย่างที่เรามักคุ้นชินในสังคม ให้ค่อยๆ ถูกกลืนหายพร้อมกับการมาถึงของความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี จากสังคมการอ่านเพื่อประเทืองปัญญา เข้าสู่สังคมก้มหน้าเพื่อค้นหาความบันเทิงที่มีมากล้นเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละคน

แม้ว่าการปฏิเสธเทคโนโลยีจะเป็นเรื่องที่ดูจะทำได้ยากยิ่งในสังคมยุคดิจิทัล เมื่อสาระความรู้ หรือข่าวสารบางอย่างสามารถสืบเสาะค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อโลกใบใหญ่ให้ดูเล็กลงไปถนัดตา และแน่นอนว่าอะไรก็ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส

ขณะที่สภาพทางสังคม วิถีชีวิตของผู้คนที่กำลังหมุนเปลี่ยนไปอย่างชนิดนาทีต่อนาที หลายหน่วยงาน หลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากมองเห็นผลเสียที่ตามมา ทั้งในด้านการถูกลดทอนศักยภาพในตัวของเยาวชนไทยที่ดูจะเป็นความหวังใหม่ของสังคม ทำให้เกิดความพยายามที่จะรังสรรค์สังคมแห่งการอ่าน “หนังสือ” ให้กลับมาเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยอีกครั้ง

“ราชดำเนิน” ถนนที่อุดมไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติ ที่น่าเรียนรู้ จดจำ อาคารที่ตั้งอยู่ตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางหลายอาคารถูกปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย โดยเฉพาะอาคารที่บัดนี้กลายเป็น “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งอาคารหลังนี้มีความเป็นมาแรกเริ่มภายใต้พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ให้ตัดถนนราชดำเนินจากพระบรมมหาราชวังไปยังพระราชวังดุสิต โดยจัดวางรูปแบบตามลักษณะของ Champs Elysees ในประเทศฝรั่งเศส การก่อสร้างบนถนนราชดำเนินเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 ส่วนอาคารตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางได้เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2480

การก่อสร้างอาคารดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ต่อเนื่องมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ.ศ. 2482- 2491 อาคารบริเวณถนนราชดำเนินประกอบด้วย อาคารพาณิชย์ โรงแรม และโรงมหรสพ รูปแบบเป็นศิลปะสไตล์อาร์ตเดคอร์ และนีโอ-คลาสสิก ซึ่งมีลักษณะเฉพาะบางประการด้วยแนวคิดการอนุรักษ์และเคารพในคุณค่าของสถาปัตยกรรมเดิม ส่งผลให้การออกแบบปรับปรุงอาคารหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครยังคงกลิ่นอายอารยธรรมตะวันตกผสมผสานการตกแต่งแบบศิลปะไทยเพื่อคงรูปแบบเดิมไว้ให้มากที่สุด

ทั้งนี้หอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ได้ถูกออกแบบภายใต้กรอบโครงความคิด “แสงแห่งปัญญา” (Wisdom of Light) ตามรอยทางของพระราชา ตามรอยแสงแห่งปัญญา เพราะการเรียนรู้เปรียบเสมือนแสงสว่าง

หลายคนอาจจะมีภาพจำของผู้คนที่มีวิถีในการใช้ชีวิตที่จำต้องก้มหน้ามองอุปกรณ์สื่อสาร และใช้ปลายนิ้วลากเลื่อนดูข้อมูลแค่เพียงผ่านตา แต่ที่หอสมุดเมืองฯ กลับต่างกัน เสียงพลิกหน้ากระดาษและก้มหน้าก้มตา เก็บเกี่ยวข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิงจากหนังสือเล่มกระดาษ เรียกภาพจำในอดีตให้กลับมาโลดแล่นในโลกปัจจุบันยุคดิจิทัลได้อีกครั้ง

โดยพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า “หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร มีจุดกำเนิดจากการที่องค์การยูเนสโกได้จัดให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013) โดยการจัดตั้งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในพันธกิจดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดสร้างหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครขึ้น เพื่อส่งเสริมให้คนไทยได้ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยขณะนี้หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครมีหนังสือรวบรวมไว้กว่า 35,000 เล่ม และตั้งเป้าที่จะมีหนังสือหมุนเวียนในหอสมุดเมืองฯ ให้ได้ถึง 100,000 เล่ม พร้อมเปิดรับหนังสือเก่าที่ทรงคุณค่าและหายากที่ประชาชนต้องการนำมามอบให้เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ ซึ่งหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครจะมีการคัดเลือกหนังสือที่เหมาะสมเพื่อเก็บไว้ และบางส่วนจะนำไปไว้ที่ห้องสมุดอื่นๆ ของกรุงเทพฯ โดยหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานครพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญให้แก่ประชาชน เพื่อนำกรุงเทพฯ สู่การเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป”

อย่างไรก็ตาม เป้าประสงค์ของ กทม. ที่ต้องการจะมีหนังสือเข้ามาหมุนเวียนในหอสมุดเมืองฯ ให้ได้มากถึง 100,000 เล่มนั้น ดูจะไม่ใช่เรื่องยากลำบากเท่าใดนัก เมื่อในแต่ละปี กทม. จะจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อหนังสือใหม่เข้ามาเพิ่มปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหนังสือที่มีอยู่เดิม และยังเปิดรับบริจาคหนังสือจากประชาชน และหน่วยงานองค์กรภาครัฐและเอกชนอื่นๆ อีกด้วย

แน่นอนว่าการมีนโยบายจัดซื้อหนังสือใหม่เข้ามาในหอสมุดเมืองฯ ของ กทม. นั้น ดูเหมือนจะเป็นการหนุนนำและส่งเสริมธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่แม้ว่าจะยังมียอดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง หากแต่สถานการณ์ความเป็นไปของสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ยังมองเห็นทางสว่างไม่ชัดเจนเท่าใดนัก และคงจะดีไม่น้อยที่นอกเหนือไปจากหน่วยงานที่กำกับดูแลหอสมุดเมืองฯ ที่เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนธุรกิจสิ่งพิมพ์ ในอนาคตจะมีหน่วยงานภาครัฐอื่นมองเห็นความสำคัญของกรณีนี้

เพราะหากภาครัฐต้องการที่จะปรับเปลี่ยนสังคมไทยให้กลายมาเป็นมหานครแห่งการอ่าน ต้องไม่ปล่อยให้องค์กร บริษัทสิ่งพิมพ์ ดิ้นรนสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพนำเสนอสู่สังคมเท่านั้น หากแต่ควรที่จะต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มกำลังจากภาครัฐ

และแน่นอนว่า “แสงแห่งปัญญา” ที่เป็นกรอบโครงแนวความคิดของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จะต้องไม่จำกัดหรือปิดกั้น หากผู้ใดปรารถนาที่จะเปิดรับความรู้ เพราะรูปแบบของอาคารหอสมุดเมืองแห่งนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานของผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย ทั้งผู้ที่จำเป็นต้องใช้วีลแชร์ในการเดินทาง หรือผู้พิการทางสายตา ก็สามารถที่จะเข้ามาใช้บริการหอสมุดแห่งนี้ได้ทัดเทียมกับผู้อื่น

ทั้งนี้พื้นที่ของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ได้ถูกจัดแบ่งสร้างความเป็นสัดส่วนของหนังสือแต่ละประเภท เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ หมวดหนังสือพระราชนิพนธ์ หมวดหนังสือหายาก หนังสือภาษาต่างประเทศ ฯลฯ อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับเด็กเล็กๆ ให้ได้อ่านหนังสือและเปิดพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมเอาไว้ได้อย่างลงตัว หรือพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียน ห้องอเนกประสงค์ที่สามารถใช้จัดอีเวนท์เปิดตัวหนังสือ

และอีกครั้งที่ บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ผู้ที่รังสรรค์ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เอาไว้มากมาย ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ด้วยการเข้ามารับหน้าที่การออกแบบพื้นที่จนทำให้บรรยากาศของหอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แหล่งที่น่าเบื่ออีกต่อไป

การปรับโฉมอาคารเก่าที่ถูกสร้างขึ้นตามพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 นอกจากจะเป็นการทำให้ประวัติศาสตร์ถูกเปลี่ยนหน้า ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เติบโตขึ้นในสังคมไทย เสมือนการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้น และรอคอยวันที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างสวยงาม หรืออย่างน้อยก็ทำให้สังคมไทยหลีกหนีวาทกรรมที่แสนเจ็บปวดที่ว่า “คนไทยอ่านน้อย” ได้บ้าง

ใส่ความเห็น