ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงความต้องการของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการเรียนรู้ นี่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของสังคม โดยเฉพาะการใช้นวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสำคัญในสถาบันการศึกษายุคใหม่
“เราต้องการให้ CMMU เป็นมากกว่าสถาบันการศึกษา แต่เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์การเรียนรู้ สำหรับบุคคลและองค์กรในทุกระดับ ทุกช่วงของชีวิต” หนึ่งในแนวคิดของ ดร. ปรารถนา คณบดีคนใหม่ของ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU)
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เพิ่งได้คณบดีคนใหม่เมื่อไม่นานมานี้ “ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. ปรารถนา ปุณณกิติเกษม คณบดี ที่ฉายภาพแนวคิดพร้อมกลยุทธ์ของ CMMU ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้เรียนรู้
“CMMU เราไม่ได้ต้องการที่จะเป็นเพียงสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้เชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่ต้องการจะเป็น Place for Transformation ที่จะช่วยยกระดับชีวิตผู้คนในทุกมิติ ที่นักศึกษาไม่ใช่แค่มาเพื่อเรียนรู้ แต่จะได้โอกาสในการพัฒนาตัวเอง นำความรู้ความสามารถไปพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ตนเอง องค์กร และสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม” ดร. ปรารถนากล่าว
เป้าหมายของ CMMU คือการเป็นสถาบันการจัดการชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และการเป็น Place for Transformation ในบทบาทผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมด้วยงานวิจัย นวัตกรรมการศึกษา การบริหารจัดการ เพื่อความยั่งยืน
คณบดีคนใหม่ขยายความผลกระทบเชิงบวกว่า “การสร้างผลกระทบเชิงบวกจะครอบคลุมทั้งในมิติของ Transform Lives, Transform Organizations, Transform Society โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียน ด้วยการพัฒนาความสามารถและทักษะของผู้เรียนให้พร้อมเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูง เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบัน และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสร้างคุณค่า สร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร ต่อยอดขยายผลไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับสังคม”
แผนการขับเคลื่อน CMMU ไปสู่เป้าหมายสำคัญในครั้งนี้ รศ. ดร.ปรารถนา จะใช้ 5 กลยุทธ์สำคัญที่จะเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางตลอดการดำเนินงานในช่วงปี 2568-2572 ได้แก่
- สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการที่ตอบโจทย์และสร้างประโยชน์ได้จริง (Research & Innovation for Real-World Impact)
- สร้างมิติใหม่ทางการศึกษาด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยและการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Innovative Education & Authentic Learning)
- ยกระดับบริการวิชาการการสู่ความเป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการในทุกมิติและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Excellent & Impactful Academic Services)
- สร้างนวัตกรรมการจัดการที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนจากภายใน (Management Innovation for Sustainability)
- สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักและสร้างการยอมรับในระดับสากล (Internationalization)
ก่อน รศ. ดร.ปรารถนา จะขยายความแต่ละกลยุทธ์ว่า “กลยุทธ์ข้อที่ 1 ที่เกี่ยวกับเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรม โดยจะเน้น 3 ด้าน คือ 1. ความยั่งยืน (Sustainability) เช่น งานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน งานวิจัยด้านการบริหารจัดการเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน งานวิจัยการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 2. ธุรกิจสุขภาพ (Health and Wellness) เช่น การบริหารจัดการแบบองค์รวม การจัดการในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การบริหารจัดการในสังคม การแพทย์เชิงป้องกัน
3. การบริหารจัดการยุคใหม่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Modern Management, Innovation, Technology and Entrepreneurship) เช่น AI, Fintech, อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เราสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยและองค์กรพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงมีการจัดตั้งฟอรัมงานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาเครือข่ายนักวิจัย พัฒนากลไกการสนับสนุนนักวิจัย และส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งประยุกต์ใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน และการพัฒนาธุรกิจและสังคม โดยไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศไทย แต่ต้องสามารถสร้างอิมแพ็คไปถึงระดับภูมิภาคและระดับโลกได้”
การเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน อาจทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มมองว่าใบปริญญาอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป เมื่อเห็นตัวอย่างจากนักธุรกิจระดับโลกบางคน ไม่ได้เลือกปลายทางที่วุฒิบัตรทางการศึกษาในระดับสูง แต่กลับประสบความสำเร็จอย่างมาก
ในขณะที่โลกของธุรกิจ นักธุรกิจหลายคนยังมองว่า หากมีเพียงทักษะเดียวไม่อาจเพียงพอที่จะต่อยอดธุรกิจ CMMU เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนและเพิ่มหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาที่มากขึ้น ทั้งในด้านความหลากหลาย และเทรนด์ของสังคม เศรษฐกิจ
“เราพัฒนาหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย และตอบโจทย์ทุกความต้องการ เช่น หลักสูตรสหวิทยาการที่ผสมผสานองค์ความรู้ข้ามศาสตร์ เช่น ทันตแพทยศาสตร์และการจัดการ วิศวกรรมศาสตร์และการจัดการ หลักสูตรปริญญาเอก Doctorate of Business Administration (DBA) สำหรับผู้บริหารระดับสูง หลักสูตรปริญญาคู่ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น ที่เน้นการพัฒนาทักษะเฉพาะทางที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ต้องการ Upskill/Reskill เช่น ทักษะแห่งอนาคต ความยั่งยืน UN-SDGs การวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้ Generative AI อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้และปรับแต่งให้เหมาะสมกับความต้องการได้”
นอกจากนี้ รศ. ดร.ปรารถนายังอธิบายเสริมว่า “CMMU จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำและพันธมิตรในภาคธุรกิจพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับผู้บริหารและบริการให้คำปรึกษา รวมถึงพัฒนาหลักสูตรสาธารณะที่ทันสมัย ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการแบบเฉพาะบุคคล รวมถึงการเดินหน้าขยายฐานนักศึกษานานาชาติเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศ “Truly International”
“เราต้องการให้ CMMU เป็นมากกว่าสถาบันการศึกษา แต่เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์การเรียนรู้ หรือคู่คิด สำหรับบุคคล องค์กรในทุกระดับ และทุกช่วงของชีวิต ที่ต้องการเข้ามาแสวงหาความรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ทุกคนสามารถมาร่วมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ของแต่ละคนเพื่อที่จะได้ปรับตัวและเติบโตในโลกธุรกิจได้อย่างมั่นคง ก้าวไปสู่ความสำเร็จในเส้นทางของตัวเอง พร้อมสร้างประโยชน์ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร และเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกให้ดีกว่าเดิม” รศ. ดร.ปรารถนาทิ้งท้าย
กลยุทธ์ที่ CMMU จะนำมาใช้ในการบริหารตลอดระยะเวลา 5 ปี ต้องติดตามกันต่อไปว่า แผนงานดังกล่าวจะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักธุรกิจ นักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน คำตอบคงไม่ได้มาง่ายๆ.