วันพุธ, มกราคม 15, 2025
Home > Cover Story > เสาวลักษณ์ ศรีคิรินทร์ จากชีวิตซึมเศร้าสู่หญิงแกร่ง Smart SME

เสาวลักษณ์ ศรีคิรินทร์ จากชีวิตซึมเศร้าสู่หญิงแกร่ง Smart SME

“26 ตุลาคม 2565 สามีจากไปแบบกะทันหัน เกิดอาการซึมเศร้ารุนแรง ต้องเข้ารับการรักษา เวลานั้นแม้ทำธุรกิจต่อ แต่ไม่มีกำลังใจ ไม่อยากทำอะไรเลย  ไม่อยากมีชีวิตอยู่ด้วย เพราะอยู่กับสามี 33 ปี ช็อกมาก อยากตายอย่างเดียว!!”

เสาวลักษณ์ ศรีคิรินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มและผลไม้แปรรูปแบรนด์ Pasuda Food เล่าให้ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงจุดวิกฤตที่หนักที่สุดในชีวิต ก่อนจะกลับมาปลุก Passion ได้อีกครั้ง ลุยธุรกิจจนกลายเป็นหนึ่งต้นแบบ Smart SME ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)

“ยอมรับเลยว่า ช่วงนั้นรู้สึก fail มาก ปีกว่าๆ เลย  คิดถึงเขาตลอดเวลา จนวันหนึ่ง อาจารย์หมอที่ทำการรักษาเตือนสติให้นึกถึงสิ่งที่คู่ชีวิตเคยแนะนำให้ทำ คิดอยู่นาน และในที่สุด นึกถึงสิ่งที่สามีพูดเสมอว่า ธุรกิจผักผลไม้ การเกษตร จะเป็นอนาคตของโลกและเราสองคนเคยฝันอยากกลับไปอยู่กับธรรมชาติในช่วงบั้นปลายชีวิต”

วันที่ 3 มกราคม 2567 เสาวลักษณ์ออกมาประกาศกับพนักงานจะกลับมาลุยงานอย่างจริงจังอีกครั้ง และตัดสินใจปรับปรุง “สวนแก้วฟ้า” ในจังหวัดนครปฐม ซึ่งสามีเคยตั้งใจจะสร้างสวนดอกไม้แปลงใหญ่เหมือนสวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof) ในประเทศเนเธอร์แลนด์

“เดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของป้าสายทอง ไม่มีลูก และทำพินัยกรรมระบุไว้ เมื่อเสียชีวิตให้ขายที่ดินผืนนี้ นำเงินบริจาคสร้างโรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น เรากับสามีคิดตรงกัน ถ้าซื้อที่ดินผืนนี้ ได้ที่ดินและร่วมบุญสร้างโรงพยาบาล ขยายพื้นที่ให้โรงพยาบาลหลวงพ่อเปิ่น จึงตัดสินใจซื้อเมื่อปี 2554 ตั้งอยู่ที่ ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ทุกครั้งสามีชวนมาสวนจะบอกไปสวนแก้วฟ้ามาตลอด”

ช่วงปี 2555 คุณช้าง สามีซึ่งเป็นวิศวกร ออกแบบบ้าน ถมที่ด้านหน้าเป็นบ่อปลาและแบ่งแปลน 2 ส่วน ส่วนแรกสร้างสวนดอกไม้และบ้าน อีกส่วนเป็นพื้นที่ด้านหลัง เปิดให้เกษตรกรละแวกใกล้เคียงเข้ามาทำกินแบบไม่คิดค่าเช่า เวลาได้ผลผลิต ชาวบ้านมักแบ่งผลผลิตให้เธอเสมอ

ที่สำคัญ สวนแก้วฟ้าแห่งนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจผลไม้แปรรูปอย่างไม่ได้ตั้งใจ

เธอเล่าว่า ช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด เกิดปัญหาเกษตรกรไม่มีแหล่งระบายสินค้า ราคาตกต่ำต้องเอาไปเททิ้งถนน ซึ่งแรกๆ  เราอาสาช่วยเหลือเจ้าของสวนสามสี่รายในนครปฐม หาช่องทางให้เจอกับซัปพลายเออร์กลุ่มโรงงานแปรรูปผลไม้ แต่จับพลัดจับผลูสามารถสร้างออเดอร์หลายร้อยตันต่อวันและมีดีมานด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นธุรกิจ  Pasuda Food มีลูกค้าทั้งในประเทศและยังส่งออกไปแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น

แต่ในขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินหน้าสวยหรู ช่วงปี 2565 สามีเกิดเหตุจากไปอย่างกะทันหัน กิจการเหมือนถูกชัตดาวน์ไปด้วย ซึ่งเสาวลักษณ์บอกว่า เธอสามารถสร้าง Passion ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จากเจตนารมณ์ของ “พี่ช้าง” สามีของเธอ โดยเฉพาะการพลิกฟื้นสวนแก้วฟ้า เพื่อขยายแหล่งผลิตรองรับ “Pasuda Food”

วันที่ 14 ธันวาคม 2567 เสาวลักษณ์ได้ฤกษ์เปิด “สวนแก้วฟ้า (คคฮ)” โฉมใหม่ โดยใช้ชื่อที่พี่ช้างเรียกตั้งแต่ต้น ใส่โลโก้ “ช้าง” และเพิ่มตัวย่อห้อยท้าย” (คคฮ)” มาจากชื่อสวน “เคอเคนฮอฟ” แบ่งพื้นที่ด้านหน้าเป็นสวนดอกไม้ 228 ชนิด จำนวน 3 พันกว่าต้น ลักษณะสวนพฤกษศาสตร์ขนาดเล็กรวมดอกไม้หลากหลายชนิด

ส่วนที่ดินด้านหลังยังคงให้ชาวบ้านเข้าทำกิน แต่ปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรปลูกมะม่วงมหาชนกเป็นแปลงขนาดใหญ่ เมื่อได้ผลผลิตหารสองแบ่งกัน โดยบริษัทลงทุนให้ทุกอย่าง บวกกับ Contract Farm ในจังหวัดนครปฐมที่ปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น ฝรั่งกิมจู อีกกว่า 200 กว่าไร่ ซึ่งผลผลิตทั้งหมดนำส่งเข้าโรงงานและทำผลิตภัณฑ์แบรนด์ “Pasuda Food”

ขณะเดียวกัน สวนแก้วฟ้า (คคฮ) จะเป็นสวนต้นแบบให้กลุ่มลูกค้าเข้ามาดูกระบวนการผลิตต่างๆ ทั้งกลุ่มลูกค้าส่งออก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ลูกค้ากลุ่มโฮเรก้า โรงแรม ภัตตาคาร เช่น โรงแรม Crown Plaza Hotel และกลุ่ม Modern Trade

นอกจากนั้น บริษัทเตรียมจัดกิจกรรมในสวนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น เปิดคลาสสังคมสูงวัยให้มาเรียนวาดรูป จัดดอกไม้ ปลูกพืชผักปลอดสาร คลาสพูดคุยเรื่องการดูแลสังคมสูงวัย เป็นกลุ่มเล็กๆ และกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าทำกิจกรรมฮีลใจกัน ไม่ใช่แค่แก้เหงา แต่สามารถสร้างรายได้ด้วย เช่น การปลูกพืชผักปลอดสาร เป็น Retirement Community หรือ Cancer Community

ในส่วนธุรกิจ Pasuda Food เสาวลักษณ์พูดอย่างภูมิใจว่า ปี 2567 เติบโตมากกว่า 20% จากเมื่อ 3 ปีก่อนตอนเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เน้นการขายผลไม้สดเข้าโรงงานและส่งออกผลไม้สดไปต่างประเทศ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ แต่พบว่า สินค้ายิ่งสดยิ่งเสี่ยง เพราะการใช้เวลาขนส่งสินค้าทำให้ผลไม้สูญเสียความสด ทำให้หันมามองสินค้าแปรรูป เช่น ผลไม้อบนุ่มและอบกรอบ ปัจจุบันมี 5 ชนิด ได้แก่ มะม่วงอบนุ่ม สับปะรดอบนุ่ม ขนุนอบนุ่ม มะพร้าวอบกรอบ และมะพร้าวอบกรอบรสทุเรียน ซึ่งสร้างยอดขายดีมาก

ล่าสุด ออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมัก หรือ Vinegar Drink ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสุขภาพแนวใหม่

“เวนิกาดริงค์ เริ่มจากที่ตัวเองเป็นโรคไขมันในเส้นเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง และค้นข้อมูลพบว่า แอปเปิลไซเดอร์ เวนิกาช่วยลดน้ำตาลและไขมัน แต่มี Pain Point คือ กินยาก เปรี้ยวมาก ต้องผสมน้ำ  ซึ่งหลังจากศึกษาข้อมูลต่างๆ พบว่า เราสามารถใช้ผลไม้ไทยที่มีรสเปรี้ยวได้ บริษัทตัดสินใจปรึกษาสถาบันวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และออกทุนวิจัยกับ Institute of Food Research and Product Development (IFRPD) จนได้ผลิตภัณฑ์ตัวแรก Mango Passion Vinegar Drink มีเสาวรสเพิ่มรสชาติ กลิ่น ออกมาเป็นน้ำส้มสายชูหมัก และขยายไลน์ผลไม้อื่นๆ ทั้ง ฝรั่ง ลิ้นจี่ สับปะรด ลูกหม่อน ไปออกบูธเปิดตัวในต่างประเทศ ฮือฮามาก”

สำหรับตลาดในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติในไทย รับรู้คุณประโยชน์ของเครื่องดื่มชนิดนี้และหลายคนอยากดื่ม นอกเหนือจากแอปเปิลไซเดอร์ ซึ่ง Pasuda Food ตอบโจทย์ได้ จนมีซูเปอร์มาร์เกตระดับพรีเมียมติดต่อให้เข้าไปจำหน่าย ทั้งกูร์เมต์ของเดอะมอลล์กรุ๊ป ท็อปส์ของกลุ่มเซ็นทรัล และห้างฟีนิกซ์ โดยปีนี้บริษัทเร่งขยายไลน์เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้รับทุนวิจัยและพัฒนา ทั้งผลไม้พร้อมปั่น เช่น น้ำมะพร้าวปั่น น้ำมะม่วงปั่น ฉีกซองใส่น้ำแข็ง ปั่นกินได้เลย และขนมอบกรอบจาก “ไข่ผำ” พืชพื้นบ้านที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ได้รับการยอมรับจากทั่วทุกมุมโลกเป็น Superfood

เสาวลักษณ์กล่าวว่า การกลับมาลุยธุรกิจ Pasuda Food ทำให้เธอกลับมามีชีวิตใหม่และเกิดความภูมิใจที่สามารถคิดค้นสินค้าที่มีประโยชน์ อย่างเวเนกาดริงค์ ถือเป็นแบรนด์ไทยเจ้าแรกและแก้เพนพอยต์ของแอปเปิลไซเดอร์ได้สำเร็จ

ที่สำคัญ สินค้าทุกตัวใช้วัตถุดิบในประเทศไทย 100% ต่อยอดให้เกษตรกรมีโอกาสทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

“ที่ Proud มากๆ คือ เราเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชาติ การพิมพ์ฉลาก Product of Thailand ซองผลิตภัณฑ์ สร้างความรู้สึก very proud  ไม่เหมือนเครื่องจักร แม้ Made in Thailand แต่ไม่ใช่วัตถุดิบหลักในประเทศไทยทั้งหมด ต้องนำเข้า แต่การเป็น Product of Thailand คือ 100% สร้าง Passion กำลังใจที่จะลุกขึ้นมาทำธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อครอบครัวอย่างเดียว แต่ชาเลนจ์และเป็นการทำเพื่อประเทศด้วย”.

ภาพจาก  facebook.com/visitkeukenhof

คอเคนฮอฟ ทุ่งทิวลิป 7 ล้านดอก

สวนเคอเคนฮอฟ (Keukenhof) หรือ The Garden of Europe เป็นสวนดอกไม้สำคัญของเนเธอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในสวนดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื้อที่กว่า 200 ไร่ ตั้งอยู่ในเมืองลิซเซ่ (Lisse) แคว้นเซาท์ฮอลแลนด์ ห่างจากเมืองอัมสเตอร์ดัมราว 29 กิโลเมตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ดอกทิวลิปที่เปิดให้เข้าชมเฉพาะฤดูใบไม้ผลิ ช่วงปลายเดือนมีนาคม-พฤษภาคมของทุกปี

ตามประวัติศาสตร์ย้อนไปเมื่อศตวรรษที่ 15 สวนเคอเคนฮอฟเคยเป็นเขตพื้นที่ล่าสัตว์ของ Countess Jacqueline นายหญิงแห่งปราสาท Hainaut และเป็นแหล่งเพาะปลูกสมุนไพรให้กับปราสาท ผ่านมาหลายร้อยปีมีการเปลี่ยนเจ้าของที่ดินแห่งนี้หลายต่อหลายคน

กระทั่งปี ค.ศ. 1949 นายกเทศมนตรีลิซเซ่มีแนวคิดจะจัดงานแสดงดอกไม้เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมอุตสาหกรรมการเพาะปลูกดอกไม้ในเนเธอร์แลนด์ในฐานะผู้ส่งออกดอกไม้รายใหญ่ของโลก จึงจัดงานแสดงดอกไม้ประจำปีที่สวนเคอเคนฮอฟในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวยาวนานจนถึงปัจจุบันกว่า 1.5 ล้านคนต่อปี

ไฮไลต์อยู่ที่ดอกทิวลิปกว่า 800 สายพันธุ์ มากกว่า  7 ล้านดอก แต่ละสายพันธุ์มีเอกลักษณ์ สีสันเฉพาะตัว เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ดอกทิวลิปจะเบ่งบานสีสันทั่วทั้งสวนพร้อมๆ กับดอกไม้ชนิดอื่นๆ เช่น ดอกลิลลี่ ดอกแดฟโฟดิล หรือนาซิสซัส ดอกไฮยาซินธ์ ดอกซากุระ และดอกกล้วยไม้ อีกหลากหลายสายพันธุ์.