วันเสาร์, ตุลาคม 5, 2024
Home > Cover Story > โลจิสติกส์ไทยสุดคึก รับกระแสอี-คอมเมิร์ซบูม

โลจิสติกส์ไทยสุดคึก รับกระแสอี-คอมเมิร์ซบูม

การมาถึงของอาลีบาบากรุ๊ป พร้อมกับบันทึกข้อตกลงที่จะลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยมูลค่ารวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ดูจะเป็นแรงกระตุ้นเร้าภาคธุรกิจและจุดประเด็นความหวังของรัฐบาลไทยที่จะนำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยให้ก้าวหน้าไปตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งหมายไม่น้อยเลย

ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจว่าด้วยการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่กำลังรุกเร้าและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนในสังคมด้วยอัตราเร่ง อย่างก้าวกระโดด และดำเนินไปท่ามกลางสีสันที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และกำลังส่งผลให้ภูมิทัศน์ของธุรกิจปรับเปลี่ยนและเกิดภาพใหม่ที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม

แผนการก่อสร้างโครงการ Smart Digital Hubในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าลงทุนกว่า 11,000 ล้านบาท ของ “อาลีบาบา” ที่จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2561-2562 ซึ่งเป็นโครงการที่จะอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลข้อมูลโลจิสติกส์ เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) และไปยังที่อื่นๆ ทั่วโลก ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะทำให้ประเทศไทยทะยานไปสู่ความเป็นศูนย์กลางการค้า “อี-คอมเมิร์ซ” ได้ไม่ยาก และคาดหวังว่าจะกรุยทางให้ไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ในอนาคต

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้ประเมินมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ในปี 2561 ว่าจะพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับที่มีมูลค่าเกิน 3 ล้านล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งกรณีที่ว่านี้จะทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้ากลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตามอง และมีการแข่งขันสูง ด้วยเหตุที่การจัดการขนส่งสินค้าจากผู้ขายไปถึงมือผู้ซื้อยังคงต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าเป็นหลัก

ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยและจากต่างประเทศต่างทยอยสร้างฐานการให้บริการเพื่อรองรับและเก็บเกี่ยวอานิสงส์ของธุรกิจค้าออนไลน์ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยนอกจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ซึ่งดูเหมือนจะมีความได้เปรียบจากโครงข่ายการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศอยู่ก่อนแล้ว ยังมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศทั้ง Kerry Express สัญชาติฮ่องกง, SCG Express ที่ร่วมมือกับบริษัทขนส่งสัญชาติญี่ปุ่น Yamato Asia ที่มีสัญลักษณ์ “แมวดำ” เข้ามาร่วมแบ่งปันโอกาสทางธุรกิจ

ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้ารายใหญ่จากภาคเหนืออย่าง นิ่มซี่เส็ง ที่พร้อมจะขยายบริบททางธุรกิจไปทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงบริษัท พัสดุภัณฑ์ไทย จำกัด และ DHL Express ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจขนส่งข้ามทวีปจากเยอรมนีมาร่วมขับเคี่ยวในสมรภูมินี้ด้วยสรรพกำลังที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป

ความเป็นไปของธุรกิจรับส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กิจการ “ไปรษณีย์ไทย” ที่เกือบจะถูกบดขยี้ให้ล่มสลายกลายเป็นอดีตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทำให้บริการจัดส่งจดหมายติดแสตมป์และไปรษณียภัณฑ์ลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ สามารถพลิกฟื้นและกลับมาสร้างโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่รองรับตลาด “อี–คอมเมิร์ซ” ที่กำลังขยายตัวรวดเร็วได้อย่างมีนัยสำคัญ

ผลประกอบการของไปรษณีย์ไทยในรอบปี 2560 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 27,800 ล้านบาท กำไร 4,200 ล้านบาท โดยใน 2561 ตั้งเป้าจะมีรายได้ 30,000 ล้านบาทและมีกำไร 4,400 ล้านบาท โดยธุรกิจโลจิสติกส์และรับส่งพัสดุของไปรษณีย์ไทยในปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ประมาณร้อยละ 50 จากมูลค่าตลาดรวม 30,000 ล้านบาท มีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 10-20 ต่อปีตามการขยายตัวของธุรกิจ “อี–คอมเมิร์ซ” ซึ่งทำให้ในแต่ละวันไปรษณีย์ไทยให้บริการส่งพัสดุด่วนมากถึง 8-10 ล้านชิ้นต่อวัน

ปริมาณงานและการแข่งขันที่หนักหน่วงขึ้นทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและสถานภาพการเป็นผู้นำในธุรกิจโลจิสติกส์และขนส่งพัสดุ ซึ่งเดิมไปรษณีย์ไทยเคยครองสัดส่วนมากถึงร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 ไว้ให้ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงเพื่อรองรับกับการเผชิญหน้าการแข่งขันที่หนักหน่วงยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยปัจจุบันไปรษณีย์ไทยได้นำระบบคัดแยกอัตโนมัติมาใช้งานเพื่อความรวดเร็ว แม่นยำ และลดทอนจำนวนพนักงานคัดแยกลง แต่หันไปเพิ่มพนักงานนำจ่ายให้มากขึ้น พร้อมอุปกรณ์นำจ่ายที่รวดเร็วสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาตามมาตรฐานสากลที่ควรจะเป็น

แม้ว่าไปรษณีย์ไทยจะมีความได้เปรียบว่าด้วยการมีเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์มากกว่า 1,500 แห่งครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ มีบุรุษไปรษณีย์มากถึง 2 หมื่นคน และมีตัวแทนเอกชนอีกกว่า 5,000 แห่ง แต่โจทย์ที่ท้าทายของไปรษณีย์ท่ามกลางการแข่งขันหนักหน่วงอยู่ที่จะรักษาสถานะการนำในธุรกิจนี้ไว้ให้ได้อย่างไร

เพราะความเคลื่อนไหวของผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์รายอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมแบ่งปันส่วนแบ่งการตลาดก็มีความเข้มข้นไม่แพ้กัน โดย “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” จากฮ่องกง เข้ามาลงหลักปักฐานในประเทศไทยและจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยมานับสิบปี มีเครือข่ายบริการที่ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย โดยในปีที่ผ่านมา “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” ได้รับการโหวตให้เป็น “ธุรกิจออนไลน์ขวัญใจคนไทยแห่งปี 2560” สาขาการบริหารจัดส่งสินค้าเยี่ยมยอดครองใจมหาชนจาก “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)” หรือ ETDA มาแล้วด้วย

นอกจากนี้ “เคอรี่” ยังประกาศเพิ่มงบลงทุนกว่า 800 ล้านบาท เพื่อตอกย้ำศักยภาพความเป็นผู้นำในด้านการให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน ด้วยการประกาศความเป็น “เคอรี่เอ็กซ์เพรส ทุกที่ ทั่วไทย” เพื่อขยายเครือข่ายบริการจัดส่งพัสดุเร่งด่วนภายใน 1 วันในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มจุดให้บริการใหม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศพร้อมประกาศจะเพิ่มสาขาให้บริการจาก 1,500 สาขาขึ้นเป็น 2,500 สาขาภายในปี 2561 นี้

ขณะเดียวกัน “เอสซีจี โลจิสติกส์” ที่ผันตัวเองมาจากการขนส่งปูนซีเมนต์ ตั้งเป้าการเติบโตในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า ด้วยเป้าหมายรายได้กว่า 17,000 ล้านบาท โดยเอสซีจี มีบริการขนส่ง 2 รูปแบบ คือ SCG Logistic ให้บริการโลจิสติกส์แบบบริษัทสู่บริษัท (B2B) ขณะที่ SCG Express ธุรกิจโลจิสติกส์แบบ B2C และ C2C ที่ร่วมมือกับ Yamato Asia หรือ “แมวดำ” จากญี่ปุ่น ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา

ด้านผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่อย่าง DHL จากเยอรมนี และมีจุดแข็งจากเครือข่ายที่มีอยู่ทุกประเทศสามารถให้บริการส่งสินค้าไปต่างประเทศได้ทั่วทุกภูมิภาคของโลกก็ไม่ได้นิ่งเฉย เพราะนอกจากจะมีคลังสินค้ากว่า 70 แห่งในประเทศไทย มีพื้นที่รวม 650,000 ตร.ม.มีพนักงานกว่า 10,000 คน พร้อมกับเทคโนโลยีทันสมัย ทั้งระบบการทำงานอัตโนมัติและวิทยาการหุ่นยนต์แล้ว

DHL ยังรองรับการขยายตัวของธุรกิจตลาดขายสินค้าออนไลน์ด้วยการตั้ง DHL eCommerce ประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของธุรกิจ และยกระดับมาตรฐานการจัดส่งให้มีคุณภาพให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ และเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการให้บริการด้านโลจิสติกส์สำหรับผู้ประกอบการออนไลน์อีกทางหนึ่ง

พัฒนาการของ อี-คอมเมิร์ซไทย และเศรษฐกิจดิจิทัลที่รัฐบาลคาดหวังจะปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไปอีกมากมายเพียงใด สิ่งที่ปรากฏขึ้นในวันนี้ดูจะเป็นเพียงปฐมบทของการแข่งขันช่วงชิงการนำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ออกตัวไปก่อนแล้วจะสามารถเข้าสู่เส้นชัยหรือสามารถครอบครองส่วนแบ่งการตลาดที่กำลังเติบโตนี้ได้เสมอไป

เพราะในยุคของเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีอี-คอมเมิร์ซประกอบส่วนอยู่นี้ บางทีนอกจากจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีหลากหลายแล้ว ความจัดเจนในการบริหารจัดการ และวิสัยทัศน์ของการพัฒนาก็ดูจะเป็นปัจจัยบ่งชี้ความสำเร็จล้มเหลวของธุรกิจได้ไม่ยากเลย

ใส่ความเห็น