วันพุธ, ตุลาคม 23, 2024
Home > Cover Story > เซเว่นฯ ปลดล็อกสแกนจ่าย โหมโรงรับเงินหมื่นเฟส 2

เซเว่นฯ ปลดล็อกสแกนจ่าย โหมโรงรับเงินหมื่นเฟส 2

เซเว่น อีเลฟเว่น (7-eleven) ตัดสินใจทุ่มระบบสแกนจ่ายทุกสาขาทั่วประเทศกว่า 14,845 สาขา แบบไม่มีขั้นต่ำและรองรับทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2567 หลังเริ่มทดลองระบบกว่า 400 สาขาช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เตรียมความพร้อมรองรับเม็ดเงินก้อนโตจากนโยบายแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่รอรัฐบาลไฟเขียววันดีเดย์ที่แน่นอนอีกครั้ง และปูทางลุยแผนธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ของทรูมันนี่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเซเว่นอีเลฟเว่นมีจุดขายเหนือกว่าคู่แข่งทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็นซีเจเอ็กซ์เพรส ท็อปส์เดลี่ มินิบิ๊กซี ร้านโดนใจหรือแม้กระทั่งร้านค้าปลีกทั่วไป ทั้งตัวสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องดื่มหลากหลายชนิด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มี คือ ระบบสแกนจ่าย ชนิดที่ว่า เมื่อเซเว่นฯ ปลดล็อกสแกนจ่ายค่าสินค้าผ่านพร้อมเพย์และแอปพลิเคชันธนาคารได้แล้ว คอมเมนต์ผู้บริโภคดีใจสุดขีด

บ้างว่า “น้ำตาจะไหล”

บ้างว่า “ฝันที่ไม่กล้าฝัน เซเว่นรับสแกนแล้วจ้า” และอีกหลายคนบอก “วันนี้ฝันเป็นจริงแล้ว”

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายเดิมของบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเครือข่ายธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ต้องการใช้ “ทรูมันนี่ วอลเล็ต” แอปพลิเคชันทางการเงินรองรับการใช้จ่ายอย่างครบวงจร ทั้งซื้อสินค้า จ่ายบิล เติมเงินมือถือ ตู้จำหน่ายสินค้า รวมถึงใช้จ่ายผ่านทรูมันนี่ มาสเตอร์การ์ด ซื้อแอป เกม สติกเกอร์ และช้อปออนไลน์ได้เหมือนบัตรเดบิต ทั้งการขยายฐานสมาชิกและการใช้จ่าย

แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้านโยบายแจกเงินหมื่น เม็ดเงินงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเฟสแรกโอนจ่ายเป็นเงินสดให้กลุ่มเปราะบางใช้จ่ายอย่างอิสระ 1.45 แสนล้านบาท ส่วนเฟสสอง แม้ยังไม่ชี้ชัดจะจ่ายเงินสดหรือเงินดิจิทัล แต่การจำกัดเพียงทรูมันนี่วอลเล็ตอาจหมายถึงการปิดกั้นโอกาสช่วงชิงเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

ทั้งนี้ ฟังสุ้มเสียงของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ยังวาดหวังเกมแจกเงินหมื่นปลุกเรตติ้งทางการเมืองให้ได้แบบถล่มทลาย ยืนยันจะมีการลุยต่อโครงการดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 โดยกันงบประมาณปี 2568 ไว้แล้ว 189,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ผลจากการลุยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโอนเงินหมื่นเฟสแรกให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 และทยอยจ่ายซ้ำให้ผู้ตกหล่นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเงินหมื่นบาทเฟสแรก วงเงิน 1.45 แสนล้าน จะเข้ามาหมุนเศรษฐกิจได้ 2-3 รอบ ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบรวม 2.5-4.5 แสนล้านบาท ผลักดันจีดีพีปีนี้โตเพิ่มอีก 0.2-0.3% และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.6-2.8%

แม้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 ต้องรอความชัดเจนจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนจะจ่ายเงิน 10,000 บาท หรือ 5,000 บาท ต้องดูความเหมาะสม เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายมิติ ซึ่งจากการโอนเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก ทั้งตลาดสด ตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีก คึกคักมาก และหากเฟส 2 เติมเงินให้ประชาชนถูกจังหวะจะเป็นแรงเสริมเศรษฐกิจต่อไป

ที่สำคัญ หากการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลตแล้วเสร็จทั้งโครงการ จากเม็ดเงินงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาอยู่ในเกณฑ์ระดับศักยภาพได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม มีโจทย์ข้อสำคัญจากปัจจัยลบเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน รวมถึงความหวั่นวิตกว่าจะลุกลามใหญ่มาถึงเขตภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะมีผลกระทบภาคเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น

สัญญาณเริ่มสะท้อนให้เห็น คือ ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนกันยายน 2567 ดัชนีทุกรายการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และต่ำสุดในรอบ 17-22 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยที่ค่าดัชนีของทุกภาคต่ำกว่า 50 ยกเว้นภาคตะวันออก เพราะผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่คาดว่าเสียหาย 30,000-40,000 ล้านบาท แม้รัฐบาลแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง โดยใช้งบกว่า 145,000 ล้านบาทเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ประกอบกับดัชนีเสถียรภาพทางการเมืองลดลง จึงทำให้ความเชื่อมั่นไม่โดดเด่น

นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงอื่น เช่น สงครามในตะวันออกกลาง ที่รุนแรงขึ้น ความกังวลค่าครองชีพอยู่ในระดับสูง รายได้ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย คนยังระมัดระวังการใช้จ่าย เห็นได้จากดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านใหม่ ซื้อรถยนต์คันใหม่ ท่องเที่ยว ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้เห็นภาพว่าเศรษฐกิจไทยยังซึมตัว และยังไม่มีสัญญาณปรับขึ้น

ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบทำให้ธุรกิจค้าปลีกหรือโมเดิร์นเทรดต้องพยายามช่วงชิงเม็ดเงินจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ ซึ่งเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย (Modern trade) ประกอบด้วยผู้เล่นหลากหลายประเภท ทั้งกลุ่ม Modern grocery อย่างไฮเปอร์มาร์เกต ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม Modern grocery เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มธุรกิจ Grocery โดยมีสัดส่วนราว 72% ของร้านค้าปลีกกลุ่ม Grocery ทั้งหมด เป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นจากช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีสัดส่วนราว 64% ยังไม่นับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง เช่น ร้านขายสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ร้านขายสินค้าสุขภาพและความงาม ร้านขายสินค้าแฟชั่นที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่ม Fast fashion, Traditional fashion และ Sportwear

ทั้งนี้ ธุรกิจโมเดิร์นเทรดมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของการบริโภคและภาคท่องเที่ยว แม้ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบางจากภาวะหนี้ แต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 มีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าธุรกิจโมเดิร์นเทรดจะเติบโตและมีมูลค่าเม็ดเงินราว 2.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะเติบโต 3.4%

ไม่ว่าจะเป็นโครงการแจกเงินหมื่น มาตรการลดค่าครองชีพ การปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหาหนี้นอกระบบและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันภายในปี 2568 ล้วนส่งผลให้ธุรกิจโมเดิร์นเทรดได้รับอานิสงส์ชัดเจน

ดังนั้น เซเว่นอีเลฟเว่น เบอร์1 ในตลาดคอนวีเนียนสโตร์ย่อมไม่ยอมพลาดโอกาสทอง และหากสำรวจโปรโมชั่นล่าสุดที่ยิงยาวจนถึงไตรมาสสุดท้ายมีการอัดแคมเปญลดราคาสินค้าหลากหลายมากขึ้น ทั้งอาหารพร้อมรับประทานที่เป็นจุดขายหลัก สินค้า All Grocer’s ของใช้ในบ้าน กลุ่มเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ มีสินค้ายกแพ็กยิ่งคุ้ม อัดแคมเปญลดอย่างแรง 7 วัน การแจกคูปองไลน์ ซื้อสินค้ามากชิ้น Save more และแคมเปญจับคู่อิ่มคุ้ม

ขณะที่มีโปรโมชั่นหลักจัดทุกปี คือ แสตมป์แทนเงินสดและสะสมแลกสินค้าพรีเมียม ซึ่งปีนี้ใช้ธีม “เสน่ห์ไทย ใครๆ…ก็หลงรัก” ในฐานะที่เซเว่น อีเลฟเว่นเป็นหนึ่งใน Destination ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องมาเช็กอินทุกครั้งที่มาเมืองไทย มีสินค้า SME อาหารไทย 4 ภาคเป็นสีสันที่ต่างชาติให้ความสนใจ โดยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นำของเด่น ของดีประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว อาหารไทย ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม ของ 77 จังหวัด ผนวกเข้ากับดวงแสตมป์ และ AI Thailand นำคาแรกเตอร์ “โดราเอมอน” มาผสมผสานเสน่ห์ความเป็นไทยครั้งแรก

กติกา คือ เมื่อซื้อสินค้าครบทุกๆ 80 บาท จะได้รับดวงแสตมป์หรือ M-Stamp มูลค่า 1 บาท หรือซื้อสินค้า “แสตมป์จัดหนัก” มูลค่า 3 บาท ใช้แทนเงินสดซื้อสินค้าและสมาชิก ALL member สามารถร่วมสนุกสะสมล่าลายแสตมป์ให้ครบทั้ง 77 จังหวัด รับ M-Stamp มูลค่า 77 บาท

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานของเซเว่นอีเลฟเว่น ภายใต้บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 มีสาขาทั่วประเทศกว่า 14,845 สาขา ยอดขายเฉลี่ย 86,656 บาทต่อสาขาต่อวัน หรือรวมทุกสาขาทำเงินเฉลี่ยกว่า 1,286 ล้านบาทต่อวัน จำนวนลูกค้าประมาณ 1,007 คนต่อสาขาต่อวัน หรือรวมทุกสาขา ลูกค้ามากกว่า 14.94 ล้านคนต่อวัน ลูกค้ามียอดการซื้อสินค้าต่อบิล 85 บาทต่อคนต่อครั้ง

สัดส่วนยอดขายมาจากกลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน 23.7% ที่เหลือมาจากกลุ่มอาหาร เครื่องปรุง และเครื่องดื่ม.