ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปิดรับคำขออนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา สรุปมีผู้ยื่นเข้ามา 5 ราย โดยหนึ่งใน 5 ราย มีกลุ่ม Ascend Money ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต “True Money” ในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ซึ่งก็คือ กลุ่มซีพี จับมือกับแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ผู้นำฟินเทค รวมถึงเป็นบริษัทลูกของ อาลีบาบา (Albaba) จากประเทศจีน
ส่วนอีก 4 กลุ่มที่มีชื่อออกสื่อก่อนหน้า ได้แก่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ร่วมมือกับพันธมิตร “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในประเทศจีนและ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ธนาคารกรุงไทย และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
กลุ่ม Sea Group ร่วมมือกับ 4 พันธมิตร คือ ธนาคารกรุงเทพ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เครือสหพัฒน์ และบริษัท ไปรษณีย์ไทย
กลุ่ม Lightnet ภายใต้การก่อตั้งโดย นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ จับมือกับ Lightnet Group และ WeLab ผู้นำด้าน Virtual Bank ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ประสบความสำเร็จในฮ่องกงและอินโดนีเซียรองรับลูกค้ากว่า 65 ล้านราย และมีใบอนุญาตการให้บริการทางการเงินกว่า 20 ใบ
ทั้งในเอเชียและยุโรปรวมถึงประเทศไทย
ทั้งนี้ ธปท. วางไทม์ไลน์จะประกาศรายชื่อผู้ได้รับไลเซนส์จากกระทรวงการคลังภายในช่วงกลางปี 2568 จากนั้นจะเปิดดำเนินธุรกิจได้ภายใน 1 ปี
แน่นอนว่า การรุกก้าวของเครือซีพีผ่านทรูมันนี่เป็นการต่อยอดธุรกิจทางการเงิน โดยเฉพาะบริการด้านการรับฝากเงิน ซึ่งทรูมันนี่ให้บริการร่วมกับธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ในปัจจุบัน
แต่หากสามารถเปิดบริการรับฝากด้วยตัวเองได้ผ่านธุรกิจ Virtual Bank จะช่วยให้ทรูมันนี่ลดต้นทุนทางการเงินและสามารถทำโปรโมชั่นส่งเสริมการตลาด ทั้งแคมเปญดอกเบี้ยและสิทธิพิเศษต่างๆ รวมทั้งการขยายบริการด้านสินเชื่อและเพิ่มวงเงินสินเชื่อ เติมเต็มวิชั่นสำคัญตั้งแต่การปลุกปั้น True money wallet คือ การให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยใช้เทคโนโลยี ตั้งเป้าหมายเจาะตลาดในประเทศไทยที่มีผู้คนมากกว่า 10 ล้านคน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกกว่า 100 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
จริงๆ แล้ว บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2546 และเปิดตัวบริการ “true money” อย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2548 ในฐานะ 1 ใน 5 เครือข่ายธุรกิจหลักตามยุทธศาสตร์ “คอนเวอร์เจนซ์” ของทรูคอร์ปอเรชั่น โดยมีภารกิจแรกเริ่ม คือ การบริการเทคโนโลยีด้านธุรกรรมทางการเงินของกลุ่มทรู การรับชำระค่าบริการของบริษัทในกลุ่ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ลดต้นทุนให้กลุ่มธุรกิจและเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ
จนกระทั่งขยับขยายบริการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดผู้ใช้บริการและจำนวนธุรกรรม ภายใต้บริการหลัก “เติม-จ่าย-โอน-ถอน” ผ่านมือถือทรูมูฟทุกที่ทุกเวลา ก่อนทรูคอร์ปฯ ประกาศปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และบริการใหม่ ภายใต้ธีม true money : ‘Re-Imagine money’ หรือ “จินตนาการครั้งใหม่เกี่ยวกับเงินยุคดิจิทัล” ในปี 2556
ปี 2557 ทรู คอร์ปอเรชั่น แยก “ทรูมันนี่” ออกไปอยู่ภายใต้บริษัทลูกใหม่ แอสเซนด์ คอร์ปอเรชั่น ขยายเป้าหมายใหม่ สร้างแอปพลิเคชัน E-Payment ในชื่อ TrueMoney และระบบ E-Wallet กระเป๋าเงินออนไลน์ เพียงแค่เติมเงิน ลูกค้าสามารถจ่ายบิล เติมเงินมือถือ ชำระเงินค่าสินค้า เหมือนย่อธนาคารเอามาไว้ในแอปพลิเคชัน โดยไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีกับธนาคาร
ขณะเดียวกัน ขอใบอนุญาตประกอบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีข้อมูลประมาณการประชากรในอาเซียนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงบริการของสถาบันทางการเงิน ผู้บริโภคกว่า 60% ไม่มีบัญชีธนาคาร แม้มีการใช้สมาร์ทโฟนมากกว่า 60% จนกลายเป็นภารกิจสำคัญของ Ascend Group ที่จะเข้าถึงกลุ่มคนเหล่านั้น
ล่าสุด ทรูมันนี่สร้างเครือข่ายครอบคลุม 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ให้บริการ 3 กลุ่ม ประกอบด้วยบริการในกลุ่มใช้จ่าย ทั้งการจ่ายออนไลน์ ออฟไลน์ โอนเงิน ใช้จ่ายต่างประเทศ และวงเงินใช้ก่อนจ่ายทีหลัง เช่น การจับจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น จ่ายบิลทรู จ่ายที่ร้านค้าชั้นนำ จ่ายที่ร้านทรูพอยท์แอนด์เพย์ จ่ายค่าบัตรเครดิต จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ
บริการในกลุ่มการเงินที่เป็นบริการด้านการออม ลงทุน ประกัน และสิทธิประโยชน์หลากหลาย และบริการสนับสนุนธุรกิจ ทั้งบริการสนับสนุนเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ระบบสมาชิก และฟีเจอร์โปรโมตร้านค้า
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านราย ผ่านแอปพลิเคชัน ทรูมันนี่ วอลเล็ท และเครือข่ายตัวแทน (ศูนย์ TrueMoney) จำนวนกว่า 88,000 แห่งใน 7 ประเทศ เปิดสินเชื่อออนไลน์กว่า 2 ปี และราว 60% เป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินหรือโดนปฏิเสธ ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อคงค้างเติบโตถึง 20,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ระดับต่ำ 7.5% ยังจัดการได้ดี
นอกจากนั้น บริษัทต้องการเป็นผู้ให้บริการโซลูชันทางการเงินดิจิทัลสำหรับธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย หรือ TrueMoney for Business เช่น บริการรับชำระเงินสำหรับร้านค้าผ่านแอปพลิเคชันทางการเงิน หรือ e-Money ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงมากจากปี 2563 ที่มีเพียง 1,200 ล้านรายการ เพิ่มเป็น 3,000 รายการในปี 2566
เมื่อเร็วๆ นี้ เผยโฉม Money Box กล่องรับชำระเงินที่มีเสียงแจ้งเตือนระบุยอดเงินเมื่อรับชำระ สำหรับร้านค้าขนาดย่อมและขนาดย่อย (Micro & Small Merchants) แบบเรียลไทม์ อัปเกรดระบบรับชำระเงินให้สมาชิกร้านค้าทรูมันนี่ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ร้านค้ามักพบการใช้สลิปปลอม ต้องคอยตรวจหรือถ่ายสลิปหลังโอนเงิน ซึ่งหลังจากนี้จะมีบริการรองรับอีกจำนวนมากและเร่งปูทางสู่การเป็น Virtual Bank อย่างเต็มรูปแบบทันทีที่คว้าใบอนุญาตได้.