วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 10, 2024
Home > Cover Story > จาก “ต้มยำกุ้ง” ถึง “หนี้ครัวเรือน” ย้ำปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

จาก “ต้มยำกุ้ง” ถึง “หนี้ครัวเรือน” ย้ำปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

 
 
ขณะที่รัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หลังเจอผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาการส่งออกติดลบ การบริโภคภายในประเทศหดตัว และที่สำคัญ คือ วิกฤตหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงสุด แม้มีมาตรการกระตุ้นออกมาหลายรอบ แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก จนดูเหมือนว่า วิกฤตครั้งนี้ทางออกเหนือมาตรการทั้งปวงที่จะช่วยประเทศไทยและคนไทยก้าวผ่านพ้นมรสุม คือ การยึดหลักปฏิบัติตามปรัชญาแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”
 
ล่าสุด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเรียกร้องให้คนไทยมั่นใจศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศและเปลี่ยนความโศกเศร้าของประชาชนเป็นพลังสามัคคีของคนทั้งประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยน้อมนำหลักปรัชญาและสืบสานพระปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปใช้เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณ 
 
เพราะวิกฤตเศรษฐกิจหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ปัญหาหลักอยู่ที่ความไม่สมดุลของการพัฒนา จนขาดภูมิคุ้มกันและต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก เมื่อเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวคิดที่ทันสมัยทุกยุค 
 
หรือแม้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 เปลี่ยนจากยุค 1.0 เน้นภาคเกษตรกรรม ยุค 2.0 เน้นอุตสาหกรรมเบา ยุค 3.0 เน้นภาคอุตสาหกรรมหนัก และยุค 4.0 ซึ่งเป็นโมเดลล่าสุดที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ Value-Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เปลี่ยนแนวคิดจาก “ทำมาก ได้น้อย” เป็น “ทำน้อย ได้มาก” แต่หากขาดความสมดุลและขาดความยั่งยืน กระบวนการเปลี่ยนผ่านจะพังทั้งระบบและหมายถึงวิกฤตครั้งใหญ่ด้วย 
 
ต้องถือเป็นพระวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นต้นเหตุและปัจจัยรอบด้าน ดังเช่นพระราชดำรัสริเริ่มแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อปี 2517 ใจความตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้อง ตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป”
 
แต่เมื่อ 55 ปีก่อน แนวพระราชดำริยังไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในยุคแรกๆ มุ่งสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม จนกระทั่งเกิดวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการขยายเศรษฐกิจเกินตัว เอกชนแห่กู้เงินทุนจากต่างประเทศ เกิดภาวะก่อหนี้สูง และการลงทุนโครงการอย่างไร้ขอบเขต โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ แต่ฐานรากทางการเงินไม่แข็งแรง พึ่งพิงการกู้สูงมาก เกิดการโจมตีค่าเงินบาท  ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำเงินทุนสำรองถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาปกป้องค่าเงินบาท เมื่อเงินสำรองน้อยลง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงประกาศ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 และเกิดวิกฤตทางการเงินลามทั่วภูมิภาคเอเชีย 
 
สถาบันการเงินล้มละลาย ธุรกิจแห่ปิดตัว เพราะเจอภาวะหนี้สูงขึ้นหลายเท่าตัวจากการกู้เงินต่างประเทศ ประชาชนตกงานและรายได้หายไปทันที นับเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด 
 
วันที่ 4 ธันวาคม 2540 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการพูดถึงอย่างชัดเจนอีกครั้ง เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย อันที่จริง ก่อนหน้า เมื่อปี 2536  พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเตือนสติผู้นำประเทศว่า “ถ้ามีเงินเท่านั้น มีการกู้เท่านั้น หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วประเทศก็เจริญ มีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้น ไม่มีทาง”
 
นับจากนั้นมา หน่วยงานรัฐได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวความคิดและทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจมหภาคของไทย โดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่สมดุล ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า “สังคมสีเขียว” ไม่เน้นเรื่องตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจแบบทวิลักษณ์ หรือระบบเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจชุมชนเมืองและชนบท
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยุคต่อๆ มา โดยเฉพาะยุคนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และนโยบายประชานิยมหลายด้าน ส่งเสริมการลงทุน เริ่มเกิดปัญหาสะสมทางเศรษฐกิจ รวมถึงการหยุดชะงักจากความขัดแย้งทางการเมือง จนมาถึงการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 
 
แน่นอนว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่สะสมเรื่อยมาบวกกับปัจจัยเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออก ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศสูญมูลค่ามหาศาล และลุกลามต่อเนื่องถึงกำลังซื้อ การบริโภคภายในประเทศ ที่สุดเกิดวิกฤตหนี้ครัวเรือน 
 
ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยสำรวจ 1,220 ตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า มีครัวเรือนไทยที่เป็นหนี้ 85.7% อีก 14.3% ไม่มีหนี้สิน และอัตราเฉลี่ยของภาระหนี้สินแต่ละครัวเรือนอยู่ที่ 2.98 แสนบาท หรือเกือบ 3 แสนบาท เพิ่มขึ้น 20.2% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 62.3% และหนี้นอกระบบอีก 37.7% โดยเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 9 ปี ที่เริ่มมีการสำรวจตั้งแต่ปี 2551
 
ขณะที่สถาบันคีนันแห่งเอเชียเผยผลวิจัยค้นคว้าปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความเสี่ยงสูงใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแรงงาน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 38.4 ล้านคน กลุ่มเกษตรกรที่มี 7.9 ล้านครัวเรือน และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีจำนวน 12.8 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดทักษะความรู้ความเข้าใจทางการเงินมากที่สุด ตัวการก่อหนี้ 2 เหตุหลัก คือ มหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 ที่ทำให้ครัวเรือนส่วนใหญ่ต้องกู้ยืมเงินเพื่อซ่อมแซมบ้าน และนโยบายรถคันแรกในช่วงปี 2555 ที่ทำให้มีการซื้อรถยนต์ผ่านสินเชื่อรถยนต์และการเช่าซื้อจำนวนมาก รวมถึงการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล กระตุ้นการใช้จ่ายทุกด้าน 
 
หากพิจารณาอย่างถ่องแท้ล้วนมาจากความไม่สมดุล ซึ่งตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงกำหนด “แก่น” อยู่ที่ “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” คือ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม” เป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับจากนักเศรษฐกิจทั่วโลกและสหประชาชาติ โดยล่าสุด องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ออกแถลงการณ์เตรียมอัญเชิญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบรรจุไว้ในแผนพัฒนาโลกอย่างยั่งยืนปี 2573 ตามกรอบของสหประชาชาติด้วย
 
ดังนั้น หากน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มากล่าวย้ำอีกครั้ง ทั้งในแง่การบริหารประเทศของรัฐบาล การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และการดำรงชีวิตของประชาชน ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านพ้นทุกวิกฤตได้อย่างแน่นอนที่สุด