วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน ลามไทย ผลักค่าครองชีพ-เงินเฟ้อสูงขึ้น

พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน ลามไทย ผลักค่าครองชีพ-เงินเฟ้อสูงขึ้น

ดูเหมือนว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้ จะสร้างผลกระทบให้แก่เศรษฐกิจทั่วโลก ที่เห็นได้ชัดเจนคือราคาขายน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนว่านั่นส่งผลโดยตรงต่อราคาขายปลีกในหลายประเทศด้วยเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลให้ราคาทองในตลาดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์นักลงทุนทองคำทยอยเทขายทองในมือหลังจากที่ถือเพื่อเก็งกำไรกันจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนไม่น้อยต่อคิวเพื่อนำทองที่ซื้อไว้เพื่อสะสม เพื่อเก็งกำไรออกมาขาย เมื่อทั้งทองรูปพรรณและทองแท่งรับซื้อคืนบาทละกว่าสามหมื่นบาท

สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจยังไม่ถึงขั้นที่จะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ทว่า สถานการณ์หลายด้านก็ส่งผลร้ายตามมา ทั้งความมั่นคงในด้านภูมิรัฐศาสตร์ของทั้งสองชาติ รวมไปถึงชาติพันธมิตรของทั้งสองฝ่าย การคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นส่งผลกระทบดั่งระลอกคลื่นที่ยังมองไม่ออกว่าผลร้ายที่จะตามมานั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แม้ว่าจะยังมีความพยายามที่เจรจาหาสันติภาพให้เกิดขึ้นในเร็ววันก็ตาม

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลกระทบจากกรณีพิพาทรัสเซีย-ยูเครนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ว่าได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากกรณีพิพาทฯ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในกรณีแย่ที่สุด ความขัดแย้งยืดเยื้อทั้งปี 2565 จะทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนเสียหาย 78,800 ล้านบาท การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นจากต้นทุนวัตถุดิบพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น เสียหาย 60,500 ล้านบาท การส่งออกสินค้าเสียหาย 54,800 ล้านบาท รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเสียหาย 50,400 ล้านบาท รายได้จากการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศเสียหาย 250 ล้านบาท รวมความเสียหายทั้งหมด 244,750 ล้านบาท หรือกระทบต่อจีดีพี 1.5% ส่งผลต่อจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.7% และเงินเฟ้อสูงถึง 4.5-5.5%

หรือกรณีที่ความขัดแย้งจบใน 6 เดือน มูลค่าความเสียหาย 146,850 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.9% ส่งผลต่อจีดีพีทั้งปีอยู่ที่ 3.3% เงินเฟ้อ 3.5-4.5% และกรณีความขัดแย้งจบใน 3 เดือน ความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 73,425 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 0.5% ส่งผลต่อจีดีพีทั้งปีที่ 3.7% เงินเฟ้อ 3-3.5%

“สงครามยังยืดเยื้อและบานปลาย อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยลง และระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เพราะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดแตะระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงคราม ก็ยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวตามไปด้วย และที่น่าห่วงอีกก็คือ ภาวะเงินเฟ้อที่มีโอกาสขยายตัว 5% ซึ่งน่ากังวล โดยจะมีการติดตามสถานการณ์และประเมินเป้าหมายจีดีพีปีนี้อีกครั้ง” นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ได้เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565 และมีแนวโน้มอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก ได้ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกให้ปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะข้าวสาลีที่มีอัตราการขยายตัวของราคาพุ่งสูงอย่างมาก สอดคล้องไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้งบทบาทของรัสเซียและยูเครนที่เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกซึ่งรวมสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีราวร้อยละ 28.5 ของปริมาณการส่งออกข้าวสาลีโลก จึงมีอิทธิพลต่อการปรับตัวของราคาข้าวสาลีในตลาดโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ผลกระทบของราคาข้าวสาลีโลกที่พุ่งสูงขึ้นจะส่งผลต่อไทย ในแง่ต้นทุนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบอย่างอาหารคนและอาหารสัตว์ ให้มีราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหาอุปทานขาดแคลน และการแย่งซื้อข้าวสาลีจากแหล่งอื่นยิ่งดันราคาให้สูงขึ้น โดยพบว่า ไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีจากยูเครนถึงร้อยละ 13.1 ของการนำเข้าข้าวสาลีทั้งหมดของไทย ในภาวะที่อุปทานข้าวสาลีในยูเครนตึงตัวและมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากท่าเรือทะเลดำที่จะได้รับผลกระทบจากสงคราม อันจะทำให้ไทยต้องประสบภาวะอุปทานขาดแคลน และทำให้เกิดปัญหา Supply Disruption ในกรณีที่หากไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศอื่นได้ หรือหากไทยสามารถจัดหานำเข้าจากประเทศอื่นได้ เช่น ออสเตรเลีย แต่ก็คงต้องเผชิญราคานำเข้าที่สูงเช่นกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากการแย่งชิงวัตถุดิบกันในตลาดโลกในภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกก็อยู่ในระดับสูง ท้ายที่สุดจะทำให้อุตสาหกรรมอาหารปลายน้ำมีราคาสูงขึ้นและกระทบต่อผู้บริโภค สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ขยายตัวร้อยละ 3.45 ดังนั้น จากราคาข้าวสาลีที่สูงขึ้น นับเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ต้องเผชิญในปี 2565 ทั้งในแง่ความเสี่ยงด้านการจัดหาอุปทาน ต้นทุนราคาวัตถุดิบและต้นทุนโลจิสติกส์ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในราคาที่สูงขึ้น ซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงระยะเวลาราว 6 เดือนจากนี้ (มี.ค.-ก.ย.) ราคาข้าวสาลีนำเข้าน่าจะยืนในระดับสูง เนื่องด้วยปัญหาขาดแคลนอุปทานข้าวสาลีจากผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จนเกิดการแย่งกันซื้อ และผลผลิตข้าวโพดไทยรอบใหม่ยังไม่ออกสู่ตลาด ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปลายน้ำอย่างอาหารคนและอาหารสัตว์ให้มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรืออาจต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่สายการผลิต จะยิ่งเป็นการผนวกช้ำเติมกับปัญหาต้นทุนค่าขนส่งให้สูงขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่ได้มีการปรับขึ้นค่าระวางเรือไปแล้ว 2-3 เท่า นอกจากนี้ ยังดันให้ราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ท้ายที่สุดผลของความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันราคาข้าวสาลีให้พุ่งขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาอาหารปลายทางที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้สูงขึ้นด้วย เช่น เนื้อสัตว์ ตามราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง ตามราคาข้าวสาลีและราคาธัญพืชทดแทนที่สูงขึ้น เป็นต้น จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคในภาวะที่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงและกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เปราะบางอยู่แล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 อุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้ข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบ อาจให้ภาพปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่คลี่คลายมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตของพืชทดแทนอย่างข้าวโพดของไทยที่จะมีผลผลิตรอบใหม่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 72.5 ของผลผลิตข้าวโพดทั้งปี อันจะช่วยให้ผู้ประกอบการปลายน้ำมีวัตถุดิบป้อนเข้าสู่สายการผลิตได้อย่างเพียงพอมากขึ้น และทำให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงได้ ท้ายที่สุด การที่มีอุปทานข้าวโพดเข้ามาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในภาวะที่อุปทานข้าวสาลียังคงมีความไม่แน่นอนสูง จึงน่าจะช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อราคาอาหารที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้ทยอยปรับตัวลดลงได้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสเซียและยูเครน สร้างความสนใจให้แก่คนไทยค่อนข้างมาก ทั้งการติดตามข่าวสารประจำวัน เรื่องราวต้นเหตุของความขัดแย้ง แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่คนไทยสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เช่น น้ำมันแพง สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งคนไทยที่เริ่มมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยเลือกใช้จ่ายเงินกับสินค้าที่มีราคาถูกลง หลายครอบครัวมีความกังวลต่อรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่าย

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าครัวเรือนมีแนวโน้มเผชิญกับภาวะราคาสินค้าที่สูงลากยาวจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงไปจนถึงครึ่งปีหลัง ขณะที่ภาครัฐยังทยอยออกมาตรการมาแบ่งเบาภาระต่างๆ ต่อเนื่อง ล่าสุดมีการกล่าวถึงโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 ซึ่งจะมีการประเมินหลังสิ้นระยะที่ 4 (เม.ย. 65)

นอกจากนี้สถานการณ์โควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องยังเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง แม้จะไม่ได้กระทบรุนแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่อาจเป็นตัวช้ำเติมสถานการณ์เศรษฐกิจให้มีความเปราะบางมากขึ้น.

ใส่ความเห็น