วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > รัฐประหารเมียนมากระทบรอบด้าน ค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัว

รัฐประหารเมียนมากระทบรอบด้าน ค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 คือการทำรัฐประหารอย่างเงียบๆ ในเมียนมา ภายใต้การดำเนินการของกองทัพเมียนมา โดย อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐถูกควบคุมตัว เช่นเดียวกับผู้นำคนอื่นๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา กองทัพเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและถ่ายโอนอำนาจให้แก่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

สิ่งที่เกิดขึ้นกับการเมืองภายในประเทศเมียนมาเป็นผลให้การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านถูกปิดด่านเป็นการชั่วคราว และเปิดให้ทำการขนส่งสินค้ากันได้อีกครั้งหลังจาก 4 ชั่วโมงผ่านไป

ประธานหอการค้าอำเภอแม่สาย ผกายมาศ เวียร์รา เปิดเผยว่า แม้จะเกิดความตื่นตระหนกในหมู่ผู้ค้าชายแดนอยู่บ้าง แต่ไม่กระทบต่อการค้าชายแดน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งภายในของเมียนมา และเมียนมายังให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของประชากรเมียนมา

ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ กล่าวว่า การปฏิวัติในเมียนมาไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจการค้าชายแดนกับฝั่งไทย ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ นักลงทุนยังคงดำเนินกิจการได้ตามปกติ

แน่นอนว่า การประเมินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการทำรัฐประหารได้ไม่นาน และกระแสจากประชาชนเมียนมามีเพียงการประท้วงที่สงบสุข

กระทั่งวานนี้ที่สถานการณ์การประท้วงเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาคืนอำนาจให้ประชาชน และปล่อยตัว อองซานซูจี รวมไปถึงผู้นำพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ เริ่มบานปลายและมีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่ากองทัพจะระบุว่า จะใช้เวลาในการยึดอำนาจเพียง 1 ปี และจะให้มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

ปัญหาภายในประเทศของเมียนมา ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ดี คงทำได้เพียงแค่มองและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างเงียบๆ โดยมิควรก้าวล่วง ในขณะที่ยังต้องประเมินว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ไทยจะได้รับผลกระทบในด้านใดบ้าง ทั้งการค้าชายแดนและด้านแรงงาน

โดยสถิติการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยช่วง ม.ค.-ต.ค. ปี 2563 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,081,572 ล้านบาท ลดลง 4.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออก 626,396 ล้านบาท ลดลง 4.32% และการนำเข้า 455,176 ล้านบาท ลดลง 3.81% ไทยเกินดุลการค้า 171,219 ล้านบาท

ขณะที่สถิติการค้าชายแดนกับเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ (มาเลเซีย เมียนมา สปป. ลาว และกัมพูชา) ช่วง ม.ค.-ต.ค. ปี 2563 พบว่า มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มีมูลค่าการค้ารวม 198,646 ล้านบาท ลดลง 14.67% รองลงมาคือ สปป. ลาว มูลค่า 156,114 ล้านบาท ลดลง 5.21% เมียนมา มูลค่า 137,726 ล้านบาท ลดลง 14.85% และกัมพูชา มูลค่า 131,173 ล้านบาท ลดลง 1.16%

ด้านสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปเมียนมา ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ น้ำมันดีเซล และ ผ้าผืนและด้าย

ข้อมูลสถิติการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย. 2563 อยู่ที่ 164,779 ล้านบาท ลดลง 14.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่สองในเมียนมา ส่งผลให้จังหวัดชายแดนของไทยด้านประเทศเมียนมาได้เพิ่มความเข้มงวดในการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าข้ามแดน โดยในเดือนตุลาคม 2563 จังหวัดตากได้มีคำสั่งระงับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าตามแนวชายแดนจังหวัดตากเป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 18-25 ตุลาคม 2563 เพื่อจัดระเบียบการขนส่งสินค้าบริเวณชายแดน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาหลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล โดยมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล

ดังนั้นการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกในตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 23% ของมูลค่าการส่งออกรวมของเมียนมา ดังนั้นหากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ พิจารณาเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสิ่งทอ และเครื่องแต่งกาย ที่จะถูกสหภาพยุโรปเรียกเก็บภาษีประมาณ 12% รวมทั้งผลิตภัณฑ์การเดินทางที่จะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีประมาณ 20% ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของเมียนมา และที่สำคัญเมียนมาพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ สูงถึง 60% ในสินค้ากลุ่มนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% ในปี 2564

ด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วน 22% จากการลงทุนของต่างชาติทั้งหมด ซึ่งการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า หากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ต้องถูกเรียกภาษีนำเข้าจากสหภาพยุโรปอีกประมาณ 12% ความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในอาเซียน อาจไม่เพียงพอกับต้นทุนภาษีที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้ความสามารถในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมาลดลง 30-40% ในปี 2564

สำหรับระยะยาว หากมีการเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาเพื่อส่งออกไปยังสองตลาดนี้จะลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของจีนในเมียนมาจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียที่ชายทะเลทางตะวันตกของเมียนมา แต่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ไม่เน้นภาคอุตสาหกรรม จึงอาจไม่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเมียนมาได้มากนัก

ด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมากับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ-0.5% ถึง -2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยจะเกิดขึ้นผ่าน 2 ช่องทางหลักได้ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การค้าชายแดนไทย เมียนมาจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยหดตัวประมาณ -0.5% ในปี 2564 สุดท้าย อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจประมง และสินค้าประมงแปรรูป ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ ตลอดจนธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร ได้ในอนาคต

แม้ว่ามูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาจะไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมาก และเมียนมาก็ไม่ใช่ประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งในบรรดาสี่ประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับไทย ทว่า ไทยก็ไม่อาจยอมสูญเสียมูลค่าการค้าต่อเมียนมาไปได้

ขณะที่ด้านแรงงานไทยยังคงต้องกังวลว่าอาจมีอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานถูกกฎหมาย กระนั้นสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมาอาจส่งผลให้การค้าแรงงานเถื่อนขยายวงกว้างมากขึ้นก็เป็นได้ ซึ่งคงต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ต้องเพิ่มความรอบคอบบริเวณชายขอบมากขึ้น

เพราะหากแรงงานผิดกฎหมายทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น สินค้าเพื่อการส่งออกของไทยอาจเป็นปัญหาได้ในอนาคต

 

ใส่ความเห็น