วันอังคาร, พฤศจิกายน 5, 2024
Home > Cover Story > คอมมูนิตี้มอลล์ฟื้น ตลาดนัดเทรนด์ใหม่ผุดพรึ่บ

คอมมูนิตี้มอลล์ฟื้น ตลาดนัดเทรนด์ใหม่ผุดพรึ่บ

ผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นจุดพลิกฟื้นค้าปลีกกลุ่มคอมมูนิตี้มอลล์และตลาดนัดกลางคืนแนวใหม่ บรรยากาศชิคๆ เพิ่มไลฟ์สไตล์ มีจุดแฮงก์เอาต์ เล่นดนตรี จนสร้างจุดเช็กอินมาแรงแซงหน้าศูนย์การค้าขนาดใหญ่แบบเดิมๆ และการตอบโจทย์พฤติกรรมการจับจ่ายยุค New Normal โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสอันตรายระลอกสอง

ล่าสุด มีนักลงทุนแห่ผุดโครงการคอมมูนิตี้มอลล์เพิ่มขึ้นหลายแห่ง ขณะที่โครงการที่เปิดให้บริการก่อนช่วงโควิดยังดึงดูดผู้เช่าและกลุ่มลูกค้า หลังทางการคลายล็อกเต็มรูปแบบ เนื่องจากเจ้าของร้านค้าเช่าส่วนใหญ่ต้องปรับลดพื้นที่รองรับจำนวนลูกค้าที่ลดลงและรักษามาตรฐานตามมาตรการ Social Distancing โดยปรับโหมดสู่โมเดลขนาดกลางและขนาดเล็ก เน้นบริการดีลิเวอรี่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับศูนย์การค้าประเภทคอมมูนิตี้มอลล์ ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์และตลาดนัด ทั้งอัตราค่าเช่าที่ไม่แพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่และบรรยากาศกลางแจ้งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กลุ่มลูกค้าอีกส่วนหนึ่ง

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) ระบุว่า การรักษาระยะห่างทางสังคมถือเป็นมาตรฐานใหม่ในธุรกิจ ศูนย์การค้ากึ่งในร่มและกลางแจ้งที่ลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับอากาศบริสุทธิ์ ป๊อปอัปสโตร์ หรือรูปแบบโครงการค้าปลีกที่แปลกใหม่ เพิ่มพื้นที่สันทนาการ เช่น พื้นที่สีเขียว ที่นั่งกลางแจ้ง พื้นที่สำหรับสัตว์เลี้ยง พื้นที่หอประชุม พื้นที่บนดาดฟ้า และลู่วิ่งจ๊อกกิ้ง สถานที่รูปแบบใหม่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความปลอดภัยและมีส่วนร่วมมากขึ้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มร้านค้าปลีก โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แฟชั่น เครื่องสำอาง ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เน้นรูปแบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งธุรกิจที่ปรับตัวเร็วที่สุด คือ กลุ่มฟาสต์ฟู้ดต่างลดโซนพื้นที่นั่ง เพิ่มขนาดห้องครัวและพื้นที่รับส่งอาหาร ร้านอาหารบรรยากาศนั่งสบายที่มีขนาดใหญ่ต่างลดขนาดพื้นที่เช่า คาดการณ์ร้านค้าปลีกมีแนวโน้มลดพื้นที่ลง 20-40% จากขนาดพื้นที่เดิมก่อนการระบาดโควิด-19

ด้านกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่หลายแห่งเร่งแผนขยายโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ อย่างกลุ่มบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามาบุกสมรภูมิศูนย์การค้าชุมชนภายใต้บริษัทลูก บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) โดยมีโครงการ 2 รูปแบบ คือ ธุรกิจตลาดชุมชน หรือ J Market เน้นร้านค้ารายย่อยสินค้าหลากหลาย เสื้อผ้า เครื่องประดับ กิฟต์ช็อป ร้านขายอาหารสด และร้านอาหาร Street Food ล่าสุดเปิดแล้ว 4 สาขา ได้แก่ เจมาร์เก็ต อมรพันธ์ เจมาร์เก็ต เกษตร-ราษฎร์พัฒนา เจมาร์เก็ต ไทรม้า และเดินเพลินมาร์เก็ต ลาดปลาเค้า

อีกรูปแบบเป็นศูนย์การค้าชุมชน เดอะแจส (The Jas) เปิดให้บริการ 4 แห่ง ได้แก่ สาขาวังหิน รามอินทรา ศรีนครินทร์ และชลบุรี

สุพจน์ สิริกุลภัสสร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ “J” ในเครือเจมาร์ทกรุ๊ป กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่างๆ ต้องหยุดให้บริการชั่วคราว แต่บริษัทแทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากการพัฒนาโครงการศูนย์รวมร้านค้าของบริษัทเน้นกลุ่มลูกค้าในชุมชน ซึ่งยังคงมีความต้องการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน จนถึงวันนี้บริษัทยังมีอัตราการเช่าพื้นที่รวมเฉลี่ยในแต่ละแห่งสูงกว่า 90% จากพื้นที่ในการบริหารพื้นที่เช่าทั้งหมดรวมกว่า 60,000 ตารางเมตร

สำหรับสาขา JAS Village Amata-Chonburi ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นโมเดลใหม่สไตล์วิลเลจ โดยปรับเพิ่มจุดขายและแม็กเน็ตต่างๆ ลักษณะศูนย์การค้าชุมชนชั้นเดียว เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านค้าได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา และประหยัดการเดินทาง

พื้นที่แบ่งเป็นโซนไลฟ์สไตล์ สินค้าแฟชั่น ความงาม สุขภาพ และบริการต่างๆ โซนอาหาร และโซนเทคโนโลยี รวมทั้งจับมือกับพันธมิตร ได้แก่ ปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ ฟิตเนส 24 ชั่วโมง Fitness 7 ศูนย์อาหาร Urban FoodVille มินิบิ๊กซี ร้านเคเอฟซี ตลาด อ.ต.ก. ศูนย์อุปกรณ์ Mr.DIY ศูนย์เจมาร์ท ซิงเกอร์ เทเลวิซ และพันธมิตรร้านค้าอื่นๆ รองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคในโซนภาคตะวันออก

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมแผนขยายโมเดลวิลเลจมากขึ้น โดยปลายปี 2564 จะเปิดสาขา JAS Village คู้บอน มีโซนและพันธมิตรหลักเช่นเดียวกัน

“ต้องถือว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งพฤติกรรมผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงไป โดยเทรนด์ศูนย์การค้าชุมชนได้อานิสงส์มาก เนื่องจากผู้บริโภคหันมาจับจ่ายใช้สอยในสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันได้ง่าย เดินทางสะดวก อยู่ใกล้บ้าน ใกล้แหล่งชุมชน และมีร้านค้าคอยให้บริการอย่างครบครัน อีกทั้งคอนเซ็ปต์ Open Air ออกแบบสถานที่เปิดรับลมธรรมชาติ ลดการแพร่ระบาดในช่วงสถานการณ์ที่ต้องเว้นระยะห่าง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นเทรนด์ที่ตอบรับกับสังคมยุคใหม่ในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีคอมมูนิตี้มอลล์อีกหลายแห่งที่สร้างจุดขายจนได้รับความนิยมมากและยอดทราฟฟิกกลับมาเติบโตได้เร็วหลังโควิด เช่น the COMMONS ซึ่งเปิดแล้ว 2 สาขาที่ทองหล่อซอย 17 และศาลาแดง รูปแบบการตกแต่งยึดต้นแบบสาขาทองหล่อ คอนเซ็ปต์ Wholesome Living สื่อการใช้ชีวิตอย่างใส่ใจสุขภาพ สไตล์การตกแต่งทันสมัยแนวลอฟต์ฉาบปูนเปลือยแซมต้นไม้สีเขียว แบ่งเป็น 4 โซน

ได้แก่ โซน Market อาหารนานาชาติต่างๆ เช่น อาหารเม็กซิกัน อาหารญี่ปุ่น เครื่องดื่มต่างๆ โซน Village ร้านค้าและสินค้าสไตล์วินเทจ เช่น ร้านขายดอกไม้ ร้านทำผมรวม บาร์ค็อกเทล โซน Play Yard สนามเด็กเล่นและที่เรียนพิเศษต่างๆ และโซน Top Yard ชั้นบนสุด รวมร้านอาหารและพื้นที่การทำกิจกรรม

หรือจะเป็นโครงการ ล้ง 1919 ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นมากจากประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ “ฮวย จุ่ง ล้ง” ท่าเรือกลไฟในอดีตสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคทองของการค้าไทย-จีน โดยพื้นที่นี้เป็นของตระกูลหวั่งหลีที่นำมาพัฒนาสร้างคอมมูนิตี้มอลล์เชิงศิลปะ มีที่สักการะศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) อายุมากกว่า 180 ปี สิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของชาวจีนในแผ่นดินไทย งานอีเวนต์ต่างๆ ลานกิจกรรมกลางแจ้ง Co-Working Space ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดีไซน์ งานฝีมือ จากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ ร้านอาหาร และสถาปัตยกรรมต่างๆ

เช่นเดียวกับครีเอทีฟคอมมูนิตี้มอลล์ “Warehouse 30 เจริญกรุง” ใช้บรรยากาศโกดังเก่าโทนสีเทา-ส้ม สร้างจุดแฮงก์เอาต์สุดชิค มีทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ งานศิลปะ และ Co-Working Space

ขณะที่รอบนอกกรุงเทพฯ เกิดโครงการอีกหลายแห่ง เช่น เจ้าคุณวิลล่า คอมมูนิตี้มอลล์สไตล์อังกฤษย่านลาดกระบัง พื้นที่ขนาด 8 ไร่เศษ บริหารงานโดย บริษัท ซี เอสเตท คอร์ปอเรชั่น เน้นจุดขายร้านอาหารระดับกลางถึงบน ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟต์สุกี้ตี๋น้อย บุฟเฟต์ Masaru Sushi ร้านตำนั๊วนัว ร้านติ่มซำ โรตี และชาชัก ร้าน Monte Bar & Restaurant สเต๊กและอาหารอิตาเลียน ร้านอาหารไทย Villa Restaurant หม่าล่าคำโต ก๋วยจั๊บญวน By Milk mee NobiCha พิซซ่าบางกอกชีสทะลัก นอกจากนี้ มีร้านอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงและร้านบอร์ดเกม Joyous Official และเร็วๆ นี้ เตรียมเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต ALFOODS Market เพื่อขยายฐานกลุ่มครอบครัว

ที่น่าสนใจและกำลังผุดขึ้นจำนวนมาก คือ ตลาดนัดไลฟ์สไตล์เทรนด์ใหม่ที่พัฒนาจากตลาดนัดเปิดท้าย รองรับทั้งกลุ่มคนตกงานที่หันมาหาอาชีพใหม่กับกลุ่มลูกค้าระดับแมส เมนูอาหารคุณภาพในราคาไม่แพงมาก เน้นบรรยากาศกลางแจ้งกลางทุ่ง หรือพื้นที่เปิดโล่ง อย่างตลาดนัดสายไหม ตลาดเลียบด่วน ตลาดนัดรถไฟ และมีแลนด์ลอร์ดหลายคนที่เห็นเทรนด์เข้ามาพัฒนาโครงการอีกจำนวนมาก เจาะชุมชนขนาดใหญ่

เช่น โครงการตลาดนัดกลางคืน Foodie Market ย่านบางนาตราด กม. 8 ของ “พรรณพัชร วัธนเวคิน” ชูจุดขาย ศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ย่านบางนา มีมุมถ่ายรูป ร้านอาหารหลากหลายชนิดในราคาจับต้องได้ จำนวนกว่า 200 ร้าน และร้านค้าประเภทอื่นๆ อีก 100 ร้าน เน้นอาหารที่ต่างจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นขนมโตเกียว ปลาหมึกแผ่น น้ำดอกมะพร้าว หมูปลาร้า มีร้านแปลกแหวกแนวอย่างร้านถนัดหอย ซึ่งเป็นศูนย์รวมหอยหลากหลายชนิด ร้านจระเข้ย่าง ร้านอีท มี ชีส มันฝรั่งทอดในเตาชีสพรีเมียม ฟังกี้ กริล พรีเมียมหม่าล่า ร้านต้าหลง ชาบู บักกุดเต๋ และร้านแซนด์วิชปรุงสดใหม่ AMPM Panini and shakes

คงต้องยอมรับว่า “โควิด” ได้สร้างวิถีชีวิตใหม่ พฤติกรรมใหม่ การบริโภคใหม่ และสร้างแนวรบค้าปลีกใหม่ที่มีสีสันมากขึ้นอย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น