วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เผาจริงเศรษฐกิจไทยปี 63 กับปัจจัยเสี่ยงฉุดจีดีพีลด

เผาจริงเศรษฐกิจไทยปี 63 กับปัจจัยเสี่ยงฉุดจีดีพีลด

คนไทยเริ่มต้นศักราชใหม่ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงจากหลายเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหวาดวิตกต่อสถานการณ์ที่จะส่งผลต่อปากท้องของตัวเอง

นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคมส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยที่ยืนอยู่ขอบเหวหรือขาหนึ่งก้าวลงเหวไปแล้วในปี 2562 นั้นเป็นแค่การเผาหลอก แต่ปี 2563 นี่เรียกได้ว่า “เผาจริง”

ภาครัฐพยายามดิ้นรนหลายต่อหลายครั้งเพื่อรักษาลมหายใจเฮือกสุดท้ายเอาไว้ให้ได้นานที่สุด หากภาครัฐไม่เข้าข้างตัวเองจนเกินไป และเปิดตามองให้ลึกถึงแก่นแท้ของปัญหา จะเห็นความจริงที่ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤตโดยที่ประชาชนทุกหย่อมหญ้าได้รับผลกระทบ

แน่นอนว่าประเทศไทยไม่อาจดำรงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปข้างหน้าได้ด้วยลำพังตัวเอง เมื่อไทยยังต้องคอยรับอานิสงส์จากปัจจัยแวดล้อมจากเศรษฐกิจโลก ทว่า อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือการแก้ปัญหาของภาครัฐ ที่แม้จะบอกว่าเป็นการหยิบยื่นโอกาสให้แก่ประชาชนที่อยู่ในเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ประหนึ่งหยอดน้ำมันลงไปในฟันเฟืองตัวสุดท้าย ด้วยหวังว่าจะให้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับมหภาค

ทว่าการหว่านเม็ดเงินเข้าระบบผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ไม่อาจสร้างความยั่งยืนและมั่นคงให้แก่รากฐานของเศรษฐกิจไทยได้ เพราะสุดท้ายแล้วรัฐนาวาจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ นอกเสียจากมือเปล่าที่ยื่นขึ้นมารอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐอีกครั้ง

นอกเหนือไปจากเสียงโอดครวญและถ้อยคำบริภาษของประชาชนที่บอกเล่าถึงความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพแล้ว ตัวเลขจีดีพีเป็นอีกสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

แนวโน้มทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่มีปัจจัยลบหลายด้านทำให้ ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปี 2563 ลงจากเดิมที่คาดไว้ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.3 เปอร์เซ็นต์ เหลือเติบโตเพียง 2.8 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่การบริโภคเอกชนลดจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ด้านการนำเข้าในปีนี้จะขยายตัว 1.7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0.8 เปอร์เซ็นต์ โดยการปรับตัวเลขครั้งนี้ถือเป็นการสะท้อนตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่แท้จริง ไม่ได้ประเมินแบบมุมมองโลกสวยแต่อย่างใด

กระนั้น สศค. ยังมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ยังดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยปี 2562 เศรษฐกิจน่าจะโดยได้ 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2563 น่าจะโตได้ 2.8 เปอร์เซ็นต์ โดยมีภาคการลงทุนเป็นพระเอก ทั้งการลงทุนจากภาคเอกชนที่จะเพิ่มจาก 2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็น 4.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มจาก 2.1 เปอร์เซ็นต์ เป็น 6.5 เปอร์เซ็นต์

และอย่างที่ทราบกันดีว่า ปัจจัยที่จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในปี 2563 นั้น มาจากการบังคับใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้าและยังมีเกมการเมืองที่อาจเป็นจุดเปลี่ยน ซึ่งนั่นจะทำให้การลงทุนใหม่ที่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจชะงักงัน

อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยลดลงไปเฉลี่ย 800,000 คนต่อเดือน โดย สศค. คาดว่า น่าจะทำให้รายได้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบถึง 1 แสนล้านบาท

การประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังดูจะไม่แตกต่างจากการวิเคราะห์ของ สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมากนัก โดยในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2563 เผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อใด

เมื่อความยากลำบากที่จีนกำลังเผชิญจะเป็นแรงฉุดสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทยให้อยู่ในสถานการณ์อันยากลำบาก เพราะสัดส่วนด้านจำนวนและรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 28 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เที่ยวไทยทั้งหมด

นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้จะเป็นตัวฉุดให้จีดีพีไทยถดถอยแล้ว การส่งออกที่ถูกปัจจัยลบกระหน่ำอยู่รอบทิศทางในขณะนี้ ทำให้ยากที่จะต้านทานกระแสและดีดตัวเองจากหลุมดำขึ้นมายืนอย่างสง่าบนเวทีโลกได้ เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมายังไม่สู้ดีนัก และศักราชใหม่ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงยังไม่แน่ชัดว่าจะช่วยให้ภาคส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ในเร็ววันหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากปัจจัยภายนอกที่แผ่อิทธิพลต่อสถานการณ์ไทยแล้ว ปัจจัยภายในประเทศเองอาจเป็นผู้ร้ายตัวจริง เมื่อความล่าช้าของการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ยังรอคอยการสรุป ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และปัญหาภัยแล้งรุนแรงในปีนี้อาจก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีผลต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน

โดย กกร. ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีในปี 2563 อาจลดลงมาอยู่ที่ 2.0-2.5 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5-3.0 เปอร์เซ็นต์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์ภัยแล้งในฤดูกาลปี 2563 (ม.ค.-เม.ย. 2563) เกิดขึ้นเร็วกว่าปีก่อน และส่อเค้าความรุนแรงยาวนานมากขึ้น จากปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 16 มกราคม 2563 ที่ลดลง 33.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการลดลงในแทบทุกภาคของประเทศ และยังเป็นระดับที่วิกฤตกว่าปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของภัยแล้งปี 2563 อาจทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ราว 17,000-19,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.10-0.11 เปอร์เซ็นของจีดีพี ซึ่งเป็นการประเมินความเสียหายของข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อยเป็นหลัก ทั้งนี้ยังต้องติดตามระดับความรุนแรงของภัยแล้งโดยเฉพาะในเดือน มี.ค.-เม.ย. และระยะเวลาการเกิดภัยแล้งที่อาจลากยาวไปในช่วงแล้งนอกฤดูกาล จนกระทบต่อภาพรวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้อยู่ในภาวะที่วิกฤตมากขึ้น

ผลพวงจากความตกต่ำและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในประวัติศาสตร์การเงินของไทย

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนั้นสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่น่าวิตกกังวลไม่น้อย เมื่อ กนง. เคยมีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.75 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2562 และมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 โดยลดลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ จาก 1.50 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.25 เปอร์เซ็นต์

ด้วยระยะห่างของการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปีนี้นั้น การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายสามครั้งในรอบปีเศษ แสดงให้เป็นว่าเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าการประมาณการเดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพมาก

ทั้งนี้สาเหตุของการตัดสินใจของ กนง. ในครั้งนี้คือ การระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และปัญหาภัยแล้ง

หวังว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ และน่าจะหนุนให้เกิดสภาพคล่องในด้านการเงินของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนได้

หากไทยผ่านสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไปได้ คาดว่าอาจจะบอบช้ำและได้รับบาดเจ็บกันไม่น้อย การกลับขึ้นมาจากก้นเหวในห้วงยามนี้ ไม่ง่ายเลยจริงๆ

 

ใส่ความเห็น