วันเสาร์, ธันวาคม 7, 2024
Home > Cover Story > มูเตลูแรงไม่ตก ไสยศาสตร์ หมอดู เกิดใหม่อื้อ

มูเตลูแรงไม่ตก ไสยศาสตร์ หมอดู เกิดใหม่อื้อ

กรณีมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อ ถูกนายธนวันต์ หรืออาจารย์อ๊อด “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” หมอดูซินแสชื่อดัง หลอกลวงเงินให้เช่าวัตถุมงคลแก้เคล็ด เสริมโชคลาภ จนสูญเงินกว่าร้อยล้านบาท ถือเป็นปรากฎการณ์เตือนสติเหล่าผู้เลื่อมใสศรัทธา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเชื่อและความศรัทธา ที่เรียกกัน “สายมู” เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

จริงๆ แล้ว คำว่า “มูเตลู” หรือ “สายมู” มาจากชื่อภาพยนตร์ของอินโดนีเซีย เรื่อง Penangkal Ilmu Teluh (Antidote for witchcraft) โดย อิลมูเตลู (Ilmu Teluh) ภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า เวทมนตร์ (Witchcraft) ซึ่งหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อไทยว่า เมเตลู ศึกไสยศาสตร์ กำกับโดย S.A. Karim ออกฉายเมื่อปี 2522

เมเตลู ศึกไสยศาสตร์ เป็นเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีฐานะร่ำรวย วันหนึ่งสามีมีเมียน้อย เป็นหญิงสาวเล่นคุณไสยทำให้เป็นคนสวยเพื่อให้สามีหลงรักเพราะหวังกอบโกยเงินทอง จากนั้นหญิงสาวที่เป็นชู้ไปมีแฟนใหม่เป็นหนุ่มหล่อประจำหมู่บ้าน หญิงสาวและหนุ่มหล่อประจำหมู่บ้านจึงร่วมมือกันให้หมอผีทำคุณไสย มนต์ดำใส่สามี จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

แค่วันหนึ่ง คุณไสยเสื่อม หญิงสาวไม่สะสวยเหมือนเดิม เจ้าหนุ่มหล่อขอเลิกและไปมีผู้หญิงคนใหม่ เหตุการณ์การแก้แค้นเพื่อแย่งชิงชายหนุ่มจึงเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างทำคุณไสยใส่กันและเจอจุดจบอันเลวร้าย

เมเตลู หรือมูเตลู จึงไม่ต่างกับวิชามนต์ดำไสยศาสตร์ เรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ รวมถึงความเชื่อความศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยมากกว่าครึ่งประเทศ  โดยข้อมูลสำรวจจากสำนักวิจัย “นอร์ทกรุงเทพโพล” เรื่องความเชื่อปีชงและมูเตลู พบว่า คนไทยกว่า 14.81% มีความเชื่อเรื่องมูเตลู อีก 29.4% ค่อนข้างเชื่อ

ส่วนใหญ่มักมูเตลูด้านดูดวง 33.9% เครื่องรางของขลังพระเครื่อง 30.1% สีและเลขมงคล 26.9% เทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 26.4% ดูฤกษ์ยาม 23.3% สะเดาะเคราะห์ 19.7% ฮวงจุ้ย 18.0% ผี กุมาร 9.1% และอื่นๆ 0.5%

ปัจจัยที่ทำให้คนไทยพึ่งมูเตลู ได้แก่ หวังโชคลาภเงินทอง 39.9% หวังเรื่องสุขภาพ 22.3% หน้าที่การงาน 10.9% ความสุข 8.7% ดูแลคุ้มครองผู้เป็นที่รัก 75% ความรัก/เนื้อคู่ 5.5% การเรียน/การศึกษา 3.7% อื่นๆ 15%

แน่นอนว่า กระแสมูเตลูที่ไม่มีเสื่อมคลายในสังคมไทยก่อเกิดไอเทมสินค้าและบริการต่างๆ เช่น บริการดูดวงมีให้เลือกทั้งแบบโหราศาสตร์ไทย แบบศาสตร์ตัวเลข ไพ่ยิปซี ไพ่ออราเคิล มีทั้งดูกับนักพยากรณ์ App หรือโปรแกรมต่างๆ หรือมีการนำการพยากรณ์มาเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดความสนใจในตัวสินค้า

ตัวเลขและสีมงคล เช่น เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถ ซึ่งส่วนมากมีราคาสูงกว่าทั่วไป สีมงคล นิยมมาผนวกเข้ากับสินค้า แฟชั่น เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า ของใช้ต่างๆ

วัตถุมงคล เครื่องราง เช่น เช่น ปี่เซียะ หินมงคล พระประจำวันเกิด หยก ตะกรุด ปัจจุบันมีการออกแบบให้สวยงาม มีความเป็นแฟชั่น เช่น สร้อยข้อมือ แหวน การ์ดต่างๆ  Wallpaper โทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ เคสโทรศัพท์ที่เป็นรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือไพ่ทาโร่ต์ต่างๆ รวมถึง “ฮวงจุ้ย” ซึ่งเป็นศาสตร์หนึ่งของจีนในการสร้างสภาพแวดล้อมกับความเป็นอยู่ ให้คำปรึกษาและแนะนำในการปรับที่อยู่อาศัย สำนักงานต่างๆ โดยปัจจุบันธุรกิจอสังหาฯ ต่างนิยมออกแบบบ้านและอาคารให้ตรงกับหลักฮวงจุ้ย

ที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจความเชื่อและความศรัทธาหรือ “ธุรกิจสายมู” เติบโตมากและหลายธุรกิจวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด หรือ Muketing (MU + Marketing) เป็นจุดขายเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มมากขึ้น มีการเปิดบริษัทประกอบธุรกิจสายมูมากขึ้นด้วย โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ปี 2565 มียอดจัดตั้งบริษัทสายมูรวม 24 ราย จำนวนเพิ่มขึ้น 20% ส่วนทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 27.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.70% จากปีก่อนหน้า

ปี 2566 จัดตั้ง 33 ราย จำนวนเพิ่มขึ้น 37.50% แต่ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 26.88 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 2.08% และข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน พบว่า มีบริษัทประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโหราศาสตร์และไสยศาสตร์รวม 156 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขเฉพาะที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ขณะที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพแบบบุคคลธรรมดาจำนวนมาก ทั้งปรึกษาส่วนตัวและผ่านช่องทางออนไลน์

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้หยิบเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและต่างชาติ โดยปี 2566 สามารถสร้างรายได้ท่องเที่ยวสายมูถึง 15,000 ล้านบาท สร้างกระแสเงินสะพัดในพื้นที่ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ถ้ำนาคา จ.บึงกาฬ  วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) จ.นครศรีธรรมราช  วัดจุฬามณี ท้าวเวสสุวรรณ จ.สมุทรสงคราม คำชะโนด จ.อุดรธานี  ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย จ.ตรัง พญาเต่างอย จ.สกลนคร วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) พระตรีมูรติ หน้าตึกเอ็มไพร์ทาวเวอร์ เทวาลัยพระพิฆเนศ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ศาลพระแม่ลักษมี ตึกเกษรวิลเลจ วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

ล่าสุด ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ททท. จัดเทศกาลขนหัวลุก ตลาดขนลุก “Goosebump Market” ณ โรงงานมักกะสัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หลังประสบความสำเร็จจากเทศกาลขนหัวลุกเวียงพิงค์และเทศกาลขนหัวลุก เมืองกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา โดยหวังเป็นต้นแบบโมเดลตลาดนัด Pop-up แนวใหม่ สร้างแหล่งชอปปิ้งและแฮงก์เอาต์เขย่าขวัญ ปลุกกระแสท่องเที่ยวไทยสายศรัทธา ภายใต้กลยุทธ์ Event Marketing เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระตุ้นการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวต้นทาง

ภายในงานเนรมิตพื้นที่โรงงานมักกะสัน รฟท. 20,000 ตารางเมตร สถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี และเป็นต้นกำเนิดความรุ่งเรืองของกิจการรถไฟไทย จัดกิจกรรมขนหัวลุก 8 สาย ได้แก่ สายชอป เลือกซื้อสินค้าเสริมวาสนาดวงชะตา

สายกิน มีเมนูลูกชิ้นยันต์ ควายธนูแดดเดียว ป๊อปคอร์นสีเลือด น้ำแดงกุมาร

สายสนุก เที่ยวงานวัดย้อนยุค ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน สาวน้อยตกน้ำ ยิงปืน ปาเป้า โยนห่วง

สายไหว้ ขอพร โชคลาภ การงาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของโรงงานมักกะสัน ได้แก่ เสด็จพ่อ ร.5 หลวงพ่อนาคปรก ฤาษีต้นโพธิ์ และแม่ตะเคียนคู่ ร่วมทำบุญโลงศพ

สายเสน่ห์ เจิมหน้าผาก ฟังเสียงสังข์ ขอพรจากองค์พระพิฆเนศวิหารต้าเทียนเซียน

สายดวง กับ 5 หมอดู

สายสยอง ดูหนังกลางแปลงผีไทย ท้าลองผีถ้วยแก้ว ท้าลุยทางผีผ่านกับทางเดินสุดหลอนและการหลอกผีตลอดทาง และสุดท้าย สายย่อ การแสดงดนตรีบนเวที

ททท. ระบุว่า เทศกาลขนหัวลุก Goosebump Market ที่เพิ่งจบไปสามารถปลุกกระแสการเดินทางท่องเที่ยวสายศรัทธาและกลุ่มชื่นชอบประวัติศาสตร์ กระตุ้นการเดินทางช่วงกรีนซีซั่นหรือนอกฤดูกาลท่องเที่ยว พร้อมเตรียมแผนจัดเทศกาลขนหัวลุก ตลาดขนลุก อย่างต่อเนื่อง.