วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “โออาร์” เร่งปลุกภาพลักษณ์ ปูพรมแดงเข้าตลาดหลักทรัพย์

“โออาร์” เร่งปลุกภาพลักษณ์ ปูพรมแดงเข้าตลาดหลักทรัพย์

ยักษ์ใหญ่ ปตท. ถือฤกษ์ 1 พฤศจิกายน 2562 เปิดตัวบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิดหลัก TOGETHER FOR BETTERMENT พร้อมๆ กับประกาศเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะบริษัทเรือธง (Flagship) ด้านการดำเนินธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีกทั้งในประเทศและยกระดับเป็นแบรนด์ไทยชั้นนำระดับโลก

ที่สำคัญ โออาร์ต้องการตอบโจทย์ใหญ่อีก 3 ข้อ ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นเงื่อนไขการเข้าระดมทุน

ข้อ 1 การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

ข้อ 2 การดูแลสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายหลักของรัฐบาล

และ ข้อ 3 การเข้าตลาดของโออาร์ สร้างความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ พาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เติบโตได้

นั่นทำให้การเปิดตัวบริษัทไม่ได้เน้นหนักเฉพาะแผนการขยายอาณาจักรธุรกิจ แต่ทีมผู้บริหาร โดยเฉพาะนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการ และนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “โออาร์” ต้องเน้นย้ำคีย์เวิร์ดหลัก คือ ผู้บริโภค ชุมชน และสังคม ตลอดการแถลงข่าวในวันนั้น

ขณะเดียวกัน สปอตโฆษณาของโออาร์ที่ยิงถี่ยิบในช่วงนี้และหลังจากนี้ พยายามตอกย้ำ Vision: TOGETHER FOR BETTERMENT การเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน เพื่อตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อใหญ่ของรัฐบาล

นางสาวจิราพรกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 ที่ ปตท. ปรับโครงสร้างโดยนำหน่วยธุรกิจน้ำมันและบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเดิมเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งมาอยู่ภายใต้โออาร์ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อเป็นอีกบริษัทเรือธง (Flagship) หลังจากสร้างเครือข่ายมีบริษัทลูกอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวม 5 บริษัท

ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TOP” ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายนํ้ามันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ประกอบธุรกิจโรงงานปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก คลังเก็บน้ำมัน และโรงไฟฟ้า

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจร ครอบคลุมการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลาย ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม อุปกรณ์การสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ ธุรกิจก่อสร้าง พลาสติกเชิงวิศวกรรม อุปกรณ์ ทางการเกษตร

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC บริษัทผลิตไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืน

กระทั่งถึงคิวของโออาร์ ซึ่ง ปตท. ชูธงเป็นแฟลกชิปด้านธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก โดยมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ

หากไล่เรียงแต่ละกลุ่ม เริ่มจากธุรกิจน้ำมันถือเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลัก คิดเป็นสัดส่วน 70% ยึดครองส่วนแบ่งตลาดรวมน้ำมันเป็นอันดับ 1 ในประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 26 ปี โดยมีธุรกิจหลัก ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น (PTT Station) ปัจจุบันมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 1,850 แห่ง ผลิตภัณฑ์หล่อลื่นภายใต้แบรนด์ พีทีที ลูบริแคนท์ส มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศต่อเนื่องถึง 10 ปี และส่งออกไปจำหน่ายกว่า 40 ประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้ลูกค้ากลุ่มอากาศยาน เรือขนส่ง และอุตสาหกรรม การจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน

ขณะที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) ซึ่งจิราพรย้ำว่า โออาร์ คือ ผู้บุกเบิกธุรกิจนอนออยล์ในสถานีบริการน้ำมันรายแรกของประเทศชนิดที่คู่แข่งทุกค่ายต้องเดินตาม

เริ่มตั้งแต่การเปิดธุรกิจร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน (Cafe Amazon) จนปัจจุบันมีสาขาในประเทศรวมกว่า 2,800 สาขา และเร่งขยายไลน์ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ ร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ ร้านชานมไข่มุกเพิร์ลลี่ที ร้านไก่ทอดเท็กซัสชิคเก้น ร้านติ่มซำฮั่วเซ่งฮง รวมถึงศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้ (FIT Auto) โดยใช้บัตรพีทีที บลูการ์ด (PTT Blue Card) สร้างฐานลูกค้าและเก็บข้อมูลผ่านเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) เพื่อขยายกลุ่มธุรกิจนอนออยล์

สำหรับกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ โออาร์ เน้นการนำรูปแบบทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จภายในประเทศเข้าไปเจาะตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ และศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้

ปัจจุบัน โออาร์ มีสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ในประเทศลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเมียนมา รวมกว่า 280 แห่ง คาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 675 แห่ง

ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น และโอมาน รวมกว่า 200 สาขา โดยวางแผนใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 700 แห่ง ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ มีจำนวนกว่า 70 สาขา และกำลังเร่งขยายศูนย์บริการยานยนต์ ฟิต ออโต้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะบริษัทลูกของ ปตท. ที่ถูกจับตาจากหลายฝ่ายทำให้โออาร์เร่งสร้างการรับรู้ใหม่ กลายเป็นที่มาของโครงการไทยเด็ด ตอกย้ำแนวคิดการสร้างสินค้าพลิกฟื้นความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น กระเป๋าสานกระจูด กระเทียมดำ ผัดไทยภูเขาไฟ

จิราพรกล่าวว่า โออาร์เปิดตัวปั๊มแนวคิดใหม่ พีทีที สเตชั่น แนวคิด ลีฟวิ่ง คอมมิวนิตี้ ทำให้สถานีบริการน้ำมันเป็นศูนย์กลางของชุมชนร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดตั้งโครงการไทยเด็ดครั้งแรกเมื่อปี 2561 สื่อถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นของดีของเด็ดในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ และเปิดพื้นที่ตลาดไทยเด็ดให้ผู้ประกอบการนำสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาจำหน่าย ซึ่งโออาร์จะคัดสรรผลิตภัณฑ์ไทยเด็ดมาวางจำหน่ายในร้านขายของฝากภายใต้ชื่อ มุมไทยเด็ดอีกระดับหนึ่ง

ล่าสุด มีวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 138 ราย และมีสถานีบริการน้ำมันฯ เข้าร่วมโครงการฯ 110 แห่ง

นอกจากนี้ มีการพัฒนาโครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการรับซื้อเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรผ่านบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด โครงการ Cafe Amazon for Chance จ้างงานผู้ด้อยโอกาส

แต่ที่เด็ดกว่าไทยเด็ด คือ แผนการกระจายหุ้น IPO ให้ชุมชนตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หากเกิดขึ้นจริง นั่นจะเป็นมิติใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะโออาร์ที่ถือเป็นขุมทรัพย์แสนล้านของ ปตท.

เส้นทางจาก ปตท. สู่ “โออาร์”

ปี 2520 รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อเร่งรัดการพัฒนานำก๊าซธรรมชาติมาให้ประโยชน์ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

ต่อมามีพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 โอนกิจการขององค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทยไปเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เพื่อเป็นองค์กรนำในการแก้ไขวิกฤตขาดแคลนน้ำมันและจัดจ้างขนส่งน้ำมันจากต่างประเทศ

นับตั้งแต่นั้นมา ปตท. ได้ขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ปี 2523 มีการเปลี่ยนชื่อสถานีบริการน้ำมันจาก “สามทหาร” เป็น “ปตท.”
ปี 2527 สร้างคลังและโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม 6 แห่งทั่วประเทศ/ขนส่งก๊าซหุงต้มไปยังคลังทั่วประเทศ
ปี 2528 จัดตั้ง ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมของคนไทย
ปี 2534 จำหน่ายน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ชื่อ “พีทีที ไฮ ออคเทน” ไร้สารตะกั่ว รายแรกของไทย
ปี 2537 กำเนิดโครงการปลูกป่าถาวร เฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่
ปี 2540 สู้วิกฤตต้มยำกุ้งแปรรูป ปตท. เพื่อระดมทุนจากตลาดหุ้น
ปี 2544 จดทะเบียน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์
ปี 2545 เริ่มธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน
ปี 2546 เปิดตัวสถานีบริการน้ำมันเต็มรูปแบบ “PTT Life Station”
ปี 2547 สร้างศูนย์การศึกษาเรียนรู้ ระบบนิเวศป่าชายเลน สิรินาถราชินี
ปี 2550 เปิดสถานีบริการต้นแบบพลังงานแสงอาทิตย์ สาขา ถนนบางนา – ตราด กม. 14 อ.บางพลี จ. สมุทรปราการ
ปี 2554 นวัตกรรมแก้วกาแฟ พลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ “Amazon Bio Cup”
ปี 2554 เริ่มนำเข้าก๊าซ LNG เป็นครั้งแรก
ปี 2557 ก่อตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี
ปี 2559 เปิดบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า PTT EV Station
ปี 2561 โอนย้ายธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกไปเป็น PTTOR
1 พ.ย. 2562 โออาร์ เปิดตัวอย่างเป็นทางการและประกาศเดินหน้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ใส่ความเห็น