วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > พิพิธภัณฑ์เหรียญ ทุกการเดินทางมีเรื่องราว

พิพิธภัณฑ์เหรียญ ทุกการเดินทางมีเรื่องราว

 
เมื่อเดือนที่แล้ว (สิงหาคม) มีข่าวเหรียญ 10 บาท ที่ผลิตขึ้นในปี พ.ศ. 2533 เพียง 100 เหรียญ ซึ่งอยู่ที่กรมธนารักษ์จำนวน 60 เหรียญ ส่วนอีก 40 เหรียญนั้นได้มีการแจกให้กับผู้ร่วมการประชุม Mint Directors Conference (MDC) ครั้งที่ 16 ที่ประเทศอังกฤษ โดยมีคนไทยได้รับแจกเหรียญ 10 บาท ปี พ.ศ. 2533 จำนวน 20 คน และมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีเหรียญ 10 บาท ปี พ.ศ. 2533 จำนวนหนึ่งอยู่ในตลาดของนักสะสม 
 
ขณะเดียวกันข่าวนี้อาจปลุกจิตวิญญาณของนักล่าสมบัติที่มีอยู่ในตัวของใครอีกหลายคน เมื่อมีนักล่าสมบัติชาวอังกฤษค้นพบเหรียญโบราณ 3 เพนนีของอังกฤษ ซึ่งเป็นเหรียญที่หายาก ผลิตในปี ค.ศ. 1652 ที่ถูกพบเจอบริเวณทุ่งนาของเกษตรกรรายหนึ่ง และถูกนำไปเปิดประมูลในราคาสูงถึง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 50 ล้านบาท
 
ข่าวนี้ทำให้เกิดกระแสสังคมที่นอกจากจะตรวจสอบเหรียญ 10 บาทในกระเป๋าของตัวเองแล้ว อาจมีบางส่วนต้องแคะกระปุกเพื่อค้นหาและสละเวลามานั่งพินิจเหรียญของตัวเองว่ามีเรื่องราวอะไรพิเศษไปจากเหรียญอื่นๆหรือหนักหน่อยอาจจะลงทุนขุดดินในสวนหลังบ้านเพื่อหวังจะเจอเหรียญเก่าโบราณที่อาจจะนำเข้าตลาดประมูลกับเขาได้บ้าง 
 
เสียงกรุ๊งกริ๊งของโลหะทรงกลมที่อยู่ก้นกระเป๋ากระทบกันในทุกจังหวะก้าวเดินของเรา จะมีสักกี่คนที่หยิบขึ้นมาและตั้งข้อสงสัยที่นอกเหนือจากความสงสัยในมูลค่าที่จะสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าได้มากน้อยเพียงใด เราอาจไม่เคยสงสัยว่าเหรียญในมือเราก่อนหน้านี้อยู่ในมือใครมาก่อน หรือได้เดินทางไปที่ใดมาบ้างกระทั่งการเดินเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์เหรียญจุดประกายความสงสัยนี้ขึ้นมาอย่างห้ามไม่ได้
 
บริเวณหัวมุมถนนจักรพงษ์ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เหรียญ ซึ่งปรับปรุงจากอาคารสำนักงานบริหารเงินตราเดิม ภายใต้การกำกับดูแลโดยกรมธนารักษ์ เพื่อให้เป็นสถานที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเหรียญกษาปณ์ตั้งแต่สมัยบรรพกาล และถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย และเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ของนักสะสมเหรียญ ภายใต้อาคาร 3 ชั้น พื้นที่ประมาณ 4,948 ตร.ม. และพื้นที่โดยรอบอาคารประมาณ 10,365 ตร.ม. 
 
พื้นที่ชั้นแรกของพิพิธภัณฑ์ถูกแบ่งเป็นห้องนิทรรศการถาวร นำเราเดินทางย้อนเวลาไปสู่เรื่องราวของปฐมบทแห่งเงินตราซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่น 4D ฉายบนผนังถ้ำแบบ 360 องศา ที่บอกเล่าจุดเริ่มต้นแห่งการแลกเปลี่ยนของสังคมมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนแปรเปลี่ยนสู่การใช้สื่อกลางและปรับปรุงวัสดุของสื่อกลางเมื่อโลกได้มีการค้นพบโลหะ หลังจากได้เรียนรู้การผลิต มนุษย์จึงรู้จักการใช้โลหะมาผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้รวมไปถึง “เงินตรา” เรื่องราวที่ฉายออกมาสร้างอารมณ์ร่วมให้รู้สึกเหมือนนั่งฟังเรื่องเล่าจากรอบกองไฟ พื้นสัมผัสสั่นสะเทือน สายลมพัดต้องใบหน้าเป็นบางช่วง อุณหภูมิที่เปลี่ยนไป รวมถึงกลิ่น เรียกความตื่นตาได้ไม่น้อย แม้บางช่วงจะชวนเวียนหัวเวลาต้องหันซ้ายหันขวาเพื่อมองตามภาพที่ฉายวนอยู่รอบตัวก็ตาม
 
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ดึงอารมณ์เราออกจากถ้ำฉายภาพยนตร์ เดินไปสู่เส้นทางวิวัฒนาการของเงินตรา แน่นอนว่าหากจะบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเหรียญกษาปณ์ไทยอย่างเดียว คงจะไม่ครบถ้วนกระบวนความ โดยเนื้อหาจะเริ่มต้นจากภาพรวมของเงินตราทั่วโลก ก่อนจะขยายความและเจาะลึกลงไปถึงที่มาแห่งเงินตราของแต่ละพื้นที่ แต่ละทวีป
 
ห้องที่สองเป็นพื้นที่จัดแสดงรูปแบบการแลกเปลี่ยนโดยใช้ของแลกของ ซึ่งการตีมูลค่าสิ่งของ ก็แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม บางพื้นที่ใช้หนังสัตว์อย่างกระรอก บีเวอร์ บางพื้นที่นิยมใช้ลูกปัด เมล็ดพันธุ์ผลไม้ หอยเบี้ย ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันออกไป การเดินทางของเส้นทางวิวัฒนาการของเงินตรานำพาเรามาจนสุดทางเดิน ซึ่งเราจะได้ร่วมประทับตราลายเหรียญแรกของโลกไปเป็นของที่ระลึก
 
นอกเหนือจากบริเวณห้องนิทรรศการถาวรของเฟสแรกที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจซึ่งจัดอยู่ในห้องนิทรรศการหมุนเวียนที่จัดแสดงเงินตราของนักเดินทางแห่งสุวรรณภูมิ พดด้วงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย วิวัฒนาการของพดด้วง และขั้นตอนการผลิต นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่จัดแสดงเหรียญกษาปณ์สมัยรัตนโกสินทร์ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยในด้านการปฏิรูประบบเงินตราในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปฏิรูปเงินตราไทยโดยเปลี่ยนผ่านจากเงินพดด้วงสู่เหรียญกษาปณ์ไทย ให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ หรือห้องเหรียญนานาชาติ ที่รวบรวมเหรียญจากกว่า 80 ประเทศมาจัดแสดง ให้เรามีโอกาสทำความรู้จักผ่านเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้บนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ซึ่งห้องนี้เองที่บรรดานักสะสมเหรียญให้ความสนใจ เพราะมีเหรียญจากหลายๆ ประเทศถูกจัดแสดงไว้ หรือเหรียญที่บรรจุรหัสพันธุกรรมของเสือชีตาห์ จัดแสดงอยู่ในส่วน นิทรรศการเหรียญโดดเด่นด้านนวัตกรรม ที่เจ้าของดีเอ็นเออย่าง “เจ้าอเบย์” คงจะไม่มีโอกาสครอบครองเป็นเจ้าของ และสุดท้ายห้อง เหรียญของพ่อ เรื่องราวของเหรียญตั้งแต่ต้นรัชกาลถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่แผ่นดินและพสกนิกรชาวไทย
 
ทั้งนี้ ทุกห้องที่จัดแสดงเรื่องราวของเหรียญ จะมีการจัดทำป้ายที่เป็นอักษรเบรลล์ เพื่อรองรับและให้บริการผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตาที่มาเข้าชม เพื่อให้ได้ข้อมูลและยังสามารถสัมผัสเหรียญโบราณได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็หวังจะลดช่องว่างในการเรียนรู้ระหว่างคนปกติและผู้บกพร่องให้เข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นไปตามการออกแบบในลักษณะ Universal Design ที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ
 
เทคโนโลยี Interactive ก็ยังถูกนำมาใช้ไม่ต่างจากพิพิธบางลำพู หรือนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ที่ทำให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมในการชมพิพิธภัณฑ์ เพราะนอกเหนือจากความรู้ยังมีเกมที่ให้ผู้ชมได้สวมบทบาทเป็นพ่อค้า เด็กๆ ที่เคยเล่นเกมเศรษฐีมาก็สามารถนำทักษะมาใช้ได้
 
แม้จะมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเงินตรา แต่การพาชมของเจ้าหน้าที่ทำให้เราต้องวนกลับมายังโถงทางเดินซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในเวลาเพียงไม่นาน เพราะความไม่สมบูรณ์ในการก่อสร้างและตกแต่งทำให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งนี้เปิดให้บริการได้แค่เฟสแรกเท่านั้น ซึ่งในส่วนของเฟส 2 และ 3 กว่าจะแล้วเสร็จคงต้องรอกันจนถึงปลายปี พ.ศ. 2558 หรืออย่างช้าภายในปี พ.ศ. 2559 กันเลยทีเดียว
 
แม้จะมีเสียงตอบรับที่ค่อนข้างดีจากผู้เข้าชม นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หรือบรรดานักสะสมเหรียญหน้าเก่า และหน้าใหม่ แต่เจ้าภาพอย่างกรมธนารักษ์ก็ไม่ควรปล่อยให้การดำเนินการล่าช้ามากนัก 
 
เพราะแม่งานอย่างกรมธนารักษ์ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งด้วยว่า “เหรียญเดินทางไม่หยุดนิ่ง เปรียบเสมือนนักเดินทางคนหนึ่ง และการเดินทางของเหรียญก็นำเรื่องราวมาด้วยเสมอ” 
 
สุดท้ายเมื่อเราเดินออกจากพิพิธภัณฑ์เหรียญ สิ่งแรกที่ทำเกือบจะเป็นอัตโนมัติ คือเอามือล้วงลงไปในกระเป๋าเพื่อควานหาเหรียญ พร้อมกับคำถามที่ตามมาว่าบรรดาเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนในมือเราที่มีรอยบิ่นนี้เดินทางไปไหนมาบ้าง
 
Relate Story