วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ ซีพีชนห้างยักษ์ ลุ้นผล 6 เดือน

ดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ ซีพีชนห้างยักษ์ ลุ้นผล 6 เดือน

แม้ “เคาน์เตอร์เซอร์วิส” ของกลุ่มซีพี สามารถคว้าสิทธิ์โครงการ แวตรีฟันด์ ชนิดตัดหน้ากลุ่มห้างยักษ์ที่เตรียมการมานานนับปี และดูเหมือนว่าการยื่นเรื่องอุทธรณ์กรมสรรพากรยังมีแนวโน้มไร้ผลเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่การช่วงชิงยังไม่จบ โดยเฉพาะ 4 ยักษ์ค้าปลีกเตรียมเปิดศึกอีกรอบทันทีที่โครงการระยะทดลองนำร่อง  6 เดือนสิ้นสุดลง

สำหรับโครงการ Vat Refund For Tourist ซึ่งกรมสรรพากรวางแผนทดลองนำร่องตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561-31 มีนาคม 2562 ตั้งเป้าเปิดจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติภายในเมืองเหมือนประเทศญี่ปุ่น หรือ “ดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์” จากปกตินักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ช่องทางหลัก

ช่องทางแรก ขอรับคืนที่สนามบินนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10 แห่ง ประกอบด้วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ อู่ตะเภา กระบี่ สมุย สุราษฎร์ธานี และแม่ฟ้าหลวงเชียงราย

ช่องทางที่ 2 ใส่ในตู้รับคำร้อง ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวประจำท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่ง และช่องทางที่ 3 ส่งกรมสรรพากรทางไปรษณีย์ โดยกรอกแบบ ภ.พ.10 และมียอดซื้อ 2,000 บาทขึ้นไป

การขยายช่องทางขอคืนภาษีเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและสร้างความโดดเด่นด้านการชอปปิ้ง เนื่องจากจำนวนผู้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในกลุ่มนี้เฉลี่ยปีละ 2 ล้านราย คิดเป็นเงินราว 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี โดยปี 2560 มียอดคืนภาษีแวตแก่นักท่องเที่ยว 2,500 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขอคืน 2.5 ล้านราย มูลค่าซื้อสินค้า 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 54% จากปีก่อน

ดังนั้น หากเปิดให้ขอคืนภาษีแวตในหัวเมืองและแหล่งธุรกิจสะดวกขึ้น จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น โดยกรมสรรพากรเริ่มทดลองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าจะเกิดเงินหมุนเวียนในประเทศเพิ่มมากขึ้น และการเปิดจุดขอคืนภาษีเป็นเงินสดหวังให้นักท่องเที่ยวมีเงินสดในมือทันที ไม่ขอเปิดดูรายการสินค้าเพียงแสดงสลิปใบเสร็จชำระค่าสินค้า การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ยกเว้นสินค้าราคาแพง 10 ประเภทที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องขอเปิดดู เช่น นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนมราคาหลักหมื่นบาทต่อชิ้น

แน่นอนว่า ห้างค้าปลีกย่านชอปปิ้งสตรีทไม่อยากพลาดโอกาสทองเช่นนี้ จนกระทั่งมีการจับมือร่วมกันของ 4 ห้างยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท เดอะมอลล์ บริษัท สยามพิวรรธน์ และบริษัท โรบินสัน จัดตั้งบริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งชื่อและการกำหนดจุดให้บริการ รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับกรมสรรพากรมาได้ระยะหนึ่ง เพื่อผลักดัน 5 จุดนำร่อง ได้แก่ ห้างเซน ห้างเซ็นทรัล ชิดลม ห้างดิเอ็มโพเรียม ห้างโรบินสัน สุขุมวิท และศูนย์การค้าสยามพารากอน

แต่ปรากฏว่ากรมสรรพากรประกาศจากผู้ยื่นสมัครโครงการแวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ ทั้งหมด 3 ราย มีผู้ได้รับการอนุมัติเพียง 1 ราย คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งจะให้บริการใน 3 สาขา ได้แก่ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น- ลิโด้ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น แบงค์ค็อกไนท์บาร์ซาร์ และร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ผดุงด้าว (เยาวราช)

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต้องซื้อสินค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น มูลค่าสินค้าที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป สามารถคืนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 12,000 บาท หรือหากคิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อทริป โดยนักท่องเที่ยวจะเสียค่าธรรมเนียมแก่ผู้ให้บริการจำนวนหนึ่ง

ปิ่นสาย สุรัสวดี ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพากร ระบุว่า กรมสรรพากรได้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนเพื่อคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (คืนแวต) แก่นักท่องเที่ยวในเมืองอย่างโปร่งใสตามแนวปฏิบัติทุกประการ และไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้บุคคลหรือกลุ่มธุรกิจใด โดยประกาศรับคัดเลือกผู้ให้บริการระหว่างวันที่ 7-17 ก.ย. ที่ผ่านมา และกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือก 2 ส่วน

1. คุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีจุดคืนภาษีในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เสนอเข้ามา 3 จุดให้กรมฯ พิจารณา

2. ความเหมาะสมในการเป็นผู้ให้บริการเป็นตัวแทนฯ ได้แก่ การพิจารณาความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ตั้งของสถานที่ให้บริการ การคมนาคมสะดวก ความปลอดภัย อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่วัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต้องเชื่อมต่อกับกรมสรรพากรได้ โดยผู้สมัครต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 60%

ปิ่นสายกล่าวว่า เคาน์เตอร์เซอร์วิสผ่านเกณฑ์เพียงรายเดียว เพราะมีความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสูง และมีพื้นที่จุดให้บริการรับคืนภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเหมาะสม ทั้ง 3 จุด ไม่ว่าจะเป็น เซเว่นฯ-ผดุงด้าว ย่านเยาวราช  เซเว่นฯ-แบงค์ค็อกไนท์บาซาร์ และเซเว่นฯ-ลิโด ย่านสยามเซ็นเตอร์เป็นแหล่งชอปปิ้งขนาดใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก

ส่วนผู้สมัครอีก 2 ราย รายหนึ่งไม่ได้จดทะเบียนบริษัท เพื่อเป็นแวตรีฟันด์ เซ็นเตอร์ และอีกหนึ่งราย ซึ่งก็คือ บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ ของกลุ่มห้างค้าปลีก 4 ค่าย มิได้ยื่นคำขออนุมัติตามแบบที่แนบท้ายประกาศเพราะกำหนดจุดบริการถึง 5 แห่ง เกินกว่าจำนวนจุดบริการที่กำหนดไว้ตามแบบคำขออนุมัติฯ เพียง 3 แห่ง

ด้านวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ในฐานะตัวแทนของกลุ่มห้างค้าปลีก งัดข้อมูลการเป็นจุดยุทธศาสตร์แหล่งชอปปิ้งที่มีทัวริสต์มากที่สุดทั้ง 5 จุดที่นำเสนอให้กรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นห้างเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างเซ็นทรัล ชิดลม ห้างดิเอ็มโพเรียม ห้างโรบินสัน สุขุมวิท และศูนย์การค้าสยามพารากอน รวมทั้งเป็นแหล่งที่มีร้านค้าจดทะเบียน Vat Refund for Tourists มากที่สุด

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าใน 5 จุด ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และมีระบบในการออกใบ ภ.พ.10 อยู่แล้ว จึงสามารถออกใบ ภ.พ.10 ได้ดีกว่า เนื่องจากการขายสินค้าและบริการของห้างสรรพสินค้ามีขั้นตอนและกระบวนการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบวงจร จนถึงการออกใบกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) ซึ่งในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวยื่นแบบคําร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับนักท่องเที่ยว (ภ.พ.10) มากกว่า 900,000 ใบต่อปีในบริเวณ 5 จุดดังกล่าว คิดเป็น 60% ของปริมาณการขอใบ ภ.พ.10 ทั่วประเทศ

ขณะที่ในประเทศที่มีการคืนภาษีแวตแก่นักท่องเที่ยว ไม่มีประเทศใดที่ตั้งจุดคืนภาษีแก่นักท่องเที่ยวในร้านค้าขนาดเล็ก ทุกประเทศล้วนกำหนดจุดบริการในห้างสรรพสินค้า หรือในศูนย์การค้าทั้งนั้น และร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถรองรับคนได้จำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความไม่สะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่อาจต้องต่อคิวรอเป็นเวลานาน

“5 จุดยุทธศาสตร์นี้ติดอันดับต้นๆ ของจุดที่นักท่องเที่ยวรู้จัก และการพิจารณาเปิดจุดให้บริการ 5 จุด จาก 3 จุด มีแต่จะเอื้อประโยชน์ให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะใน 5 โลเกชั่นนี้ เป็นใจกลางของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม ร้านค้า ร้านอาหาร เป็น Shopping Destination ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300,000 คนต่อวัน เดินจับจ่ายอยู่ในบริเวณนี้ และทั้ง 5 จุดเดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที”

ที่สำคัญ บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ คาดการณ์หากเข้าร่วมโครงการจะกระตุ้นระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจไทย เฉพาะช่วงทดลอง 6 เดือน จะมีเงินหมุนเวียนมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายและไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลและไฮซีซั่น

บวกลบคูณหาร ช่วง 6 เดือนของโครงการดาวน์ทาวน์ แวต รีฟันด์ น่าจะประเมินได้ไม่ยากว่า ข้อมูลของใครถูกต้องมากกว่ากัน

ใส่ความเห็น