Column: Well – Being
ภาวะหมดประจำเดือนเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่เราได้รับการบอกเล่ามาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สำหรับผู้หญิงจำนวนมาก ช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับภาวะหมดประจำเดือนเป็นเวลาหลายปี หมายถึงการต้องอดทนต่ออาการไม่สบายตัวต่างๆ ขณะที่คนอื่นๆ ดูเหมือนจะผ่านพ้นไปได้ค่อนข้างสบายๆ
ภาวะหมดประจำเดือนไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ตลอดหลายปีที่นำไปสู่ช่วงสุดท้ายนี้ มีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในร่างกายมากมาย ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับกระบวนการชราภาพ สามารถก่อให้เกิดอาการที่ไม่คุ้นเคย และบางครั้งก็น่าตกใจกลัวสารพัดอย่าง
นิตยสาร GoodHealth พูดถึงขั้นตอนของวัยหมดประจำเดือนว่ามี 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
วัยใกล้หมดประจำเดือน
เป็นช่วงเวลาที่ระดับฮอร์โมนในร่างกายค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ซึ่งเป็นช่วงแรกที่คุณก้าวเข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน เมื่อร่างกายลดปริมาณการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและไข่ กระบวนการนี้มักเริ่มต้นเมื่ออยู่ในวัย 40 ปีกว่าๆ แต่อาจเริ่มเมื่ออายุ 30 ปีกว่าๆ ก็เป็นได้ และเป็นสัญญาณว่าภาวะหมดประจำเดือนกำลังคืบคลานเข้ามา โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มต้นเมื่อ 3–4 ปีก่อนผู้หญิงจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่มันอาจส่งสัญญาณเตือนนานถึง 10 ปีก็ได้
วัยหมดประจำเดือน
เมื่ออายุราว 51 ปี รังไข่ของคุณอาจหยุดการตกไข่และการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ลดลงอย่างมาก อาการที่เกิดขึ้นในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือนอาจต่อเนื่องมาจนถึงวัยหมดประจำเดือน คำจำกัดความที่แท้จริงของภาวะหมดประจำเดือนคือ เมื่อรังไข่ไม่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศอื่นๆ อีกต่อไป และคุณไม่มีประจำเดือนติดต่อกันครบ 12 เดือนเต็ม
วัยหลังหมดประจำเดือน
เมื่อคุณอยู่ในช่วงวัยหลังหมดประจำเดือน คุณจะรู้สึกกลับมาควบคุมร่างกายของคุณได้อีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญ ร่างกายของคุณจะเรียนรู้วิธีทำงานในภาวะที่มีฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำ ส่วนใหญ่แล้ว อาการที่เป็นปัญหาต่างๆ ได้ลดลงไปมาก และค่อยๆ หายไปโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม มีผู้หญิงอีกไม่กี่คนที่ยังเผชิญกับอาการไม่สบายตัวต่างๆ เช่น ร้อนวูบวาบ และช่องคลอดแห้ง แม้จะผ่านพ้นวัยหมดประจำเดือนมาอย่างสมบูรณ์แล้วก็ตาม
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก รวมทั้งความเครียด ปัจจัยด้านการบำบัดรักษา เช่น การรักษามะเร็ง หรือการผ่าตัดทางนรีเวชวิทยา สามารถทำให้ผู้หญิงต้องเปลี่ยนผ่านสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ และด้วยความยากลำบากมากกว่าผู้หญิงที่ไม่เคยมีปัญหาเหล่านี้ การศึกษาบางชิ้นยังเชื่อมโยงอาหารตะวันตกหรืออาหารที่อุดมไปด้วยการใช้ฮอร์โมน เข้ากับวัยหมดประจำเดือนที่ล่าช้าและคงอยู่เป็นเวลานานได้
สิ่งที่หมอไม่ได้บอกคุณ
การมีประจำเดือนปริมาณมาก อาการร้อนวูบวาบ และการปัสสาวะบ่อย เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าคุณอยู่ในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน แต่ยังมีอาการอื่นๆ อีกมากมายที่มักไม่ค่อยระบุในเอกสารหรือแผ่นพับที่แจกเผยแพร่ทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถทำให้ชีวิตของคุณสาวๆ ต้องสะดุดลงอย่างรุนแรงได้
การล่วงรู้ว่าคุณคาดหมายอะไรได้บ้าง สามารถทำให้จิตใจของคุณสงบลง และกระตุ้นให้คุณพยายามแสวงหาความช่วยเหลือ อาการต่างๆ ที่ปรากฏนี้อาจไม่ใช่เพราะภาวะหมดประจำเดือนก็ได้ จึงแนะนำให้ปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด
สยบอาการท้องอืด
ปกติแล้วการเกิดอาการท้องอืดจากภาวะหมดประจำเดือน เกิดจากหนึ่งในสาเหตุหลัก 2 ข้อด้วยกันคือ ภาวะคั่งน้ำ หรือมีแก๊สตกค้าง ขณะที่ระดับฮอร์โมนของคุณผันผวนในช่วงวัยใกล้หมดประจำเดือน การที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มขึ้น สามารถก่อให้เกิดภาวะบวมคั่งน้ำในระหว่างและหลังหมดประจำเดือน อาการท้องอืดสามารถเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งยังอาจมาจากสาเหตุอื่นๆ ที่รวมถึงการเปลี่ยนอาหาร ระบบย่อยอาหารที่ทำงานช้าลง และความเครียด
วิธีแก้ไขทำได้ด้วยการกินอาหารที่ผ่านการหมัก เช่น กิมจิ ซาวเคราท์ (กะหล่ำปลีเปรี้ยว) และนมเปรี้ยว
อาการขาอยู่ไม่สุข
เป็นอาการรู้สึกผิดปกติที่ขา ที่อาจบ่งบอกว่ามีอาการเหมือนเป็นตะคริว เจ็บแปลบๆ รู้สึกเหมือนถูกไฟช็อต หรือมีแมลงหรือหนอนไต่อยู่ในขา ซึ่งเชื่อมโยงกับประวัติคนในครอบครัว และอาการขาดธาตุเหล็กนั่นเอง
อาหารเสริมแมกนีเซียมอาจช่วยได้ แต่ให้พบแพทย์และทดสอบระดับธาตุเหล็กในร่างกายเสียก่อน
ข่าวดีเกี่ยวกับเนื้องอกมดลูก
เนื้องอกมดลูกเป็นกลุ่มเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตในกล้ามเนื้อมดลูก ส่วนใหญ่จะไม่ใช่มะเร็งที่เป็นเนื้อร้าย และพบได้มากในผู้หญิงถึงร้อยละ 50
เนื้องอกมดลูกต้องการฮอร์โมนเอสโตรเจนในการเจริญเติบโต โดยเหตุที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนของคุณลดลงอย่างมากในช่วงหลังหมดประจำเดือน ภาวะนี้จึงลดความเสี่ยงของการพัฒนาเนื้องอกมดลูก ทำให้เนื้องอกมดลูกที่มีอยู่เดิมฝ่อและลดขนาดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมีเลือดออกทางช่องคลอด หรืออาการอื่นๆ ของเนื้องอกมดลูกหลังหมดประจำเดือนแล้ว ให้พบแพทย์ทันที
ร้อนวูบวาบจัดการได้
ในบรรดาอาการทั้งหมดที่เกิดกับผู้อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาการร้อนวูบวาบเป็นอาการร่วมที่เกิดขึ้นมากที่สุดและมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากที่สุดอย่างหนึ่ง มักเกิดขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกถึง 2 ปีของวัยใกล้หมดประจำเดือน และสามารถต่อเนื่องไปอีกเป็นเวลาถึง 10 ปีก็ได้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ ร้อนมาก ผิวหนังแดงที่เกิดจากหลอดเลือดขยายตัว มันยังรบกวนการนอนอย่างยิ่ง ผู้หญิงบางคนต้องทรมานกับการตื่นกลางดึกคืนละ 8 ครั้งหรือมากกว่า และส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่ออารมณ์ ความสัมพันธ์ การทำงาน กิจกรรมทางกายภาพ อาหาร และสุขภาพโดยทั่วไป
6 วิธีสยบอาการร้อนวูบวาบ
มีน้ำอยู่ใกล้มือ–ดื่มน้ำเย็นหรือใช้น้ำเย็นลูบหน้าและข้อมือ สามารถช่วยให้ร่างกายเย็นลงได้อย่างรวดเร็ว การดื่มน้ำให้เพียงพอ อาจช่วยอุณหภูมิในร่างกายสมดุลได้
อาบน้ำ–อาบน้ำเย็นหรือใช้น้ำเย็นล้างหน้าและข้อมือ ช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายได้เร็วขึ้น
อยู่ใกล้พัดลม–ช่วยให้อุณหภูมิในห้องนอนลดลงและคงที่ตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ การใช้พัดที่โบกด้วยมือยังช่วยให้รู้สึกเย็นได้ทันที
ลดความเครียด–ความเครียดทำให้ร่างกายหลั่งอะดรีนาลีนซึ่งทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น และมีเหงื่อออก การเล่นโยคะ ไทชิ นวด ฝึกหายใจ และนั่งสมาธิ ทั้งหมดนี้อาจช่วยลดความถี่ของอาการร้อนวูบวาบ จากผลการศึกษา หากผ่อนคลายวันละ 20 นาที จะช่วยลดความรุนแรงและความถี่ของอาการร้อนวูบวาบได้อย่างมาก
กินอาหารมีประโยชน์–โปรตีนและไขมันสามารถทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนสมดุล และลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการคล้ายกับอาการร้อนวูบวาบ การกินอาหารสมดุลยังช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ด้วย
สวมเสื้อผ้าเป็นชั้นๆ–ใช้วิธีสวมเสื้อผ้าเป็นชั้นๆ จะดีกว่า เพื่อคุณจะสามารถถอดออกได้เมื่อรู้สึกร้อน