วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > Cover Story > โรงไฟฟ้าขยะ-วินัยคนไทย แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

โรงไฟฟ้าขยะ-วินัยคนไทย แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

“อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ” ข้อความรณรงค์โฆษณาเชิญชวนให้คนไทยทิ้งขยะให้ถูกที่เพื่อลดปัญหาขยะเกลื่อนเมือง แม้ข้อความดังกล่าวจะถูกสร้างสรรค์เมื่อหลายสิบปีก่อน กระนั้นก็ยังพบว่าปัญหาขยะในประเทศไทย โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ยังคงเป็นปัญหาระดับชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่หลายคนให้การยอมรับทั้งด้านความเจริญก้าวหน้าที่ดูจะรุดหน้าไปไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญด้านวัตถุ กระนั้นความเจริญดังกล่าวดูจะสวนทางกันกับความเจริญด้านจิตสำนึกที่มีต่อสังคม

และดูเหมือนว่าปัญหาที่เติบโตจนเกือบจะคู่ขนานกับความเจริญด้านวัตถุเทคโนโลยี คือปัญหาขยะ ที่ต้องยอมรับโดยดุษณีว่า กรุงเทพมหานครมีปัญหาขยะมูลฝอยล้นเมือง

รายงานจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ซึ่งตามรายงานที่บันทึกไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 1,920,294.96 ตัน หรือโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10,551.07 ตันต่อวัน

ตัวเลขดังกล่าวอาจจะค้านสายตาผู้คนทั่วไป หากมองเพียงตามถนนหนทางที่ต้องยอมรับว่าน่ามองขึ้น ในที่นี้หมายถึงสะอาดตากว่าแต่ก่อน

แม้ปัจจุบันภาครัฐจะมีวิธีกำจัดขยะทั้งรูปแบบของโรงเผาขยะ และการกำจัดขยะโดยการฝังกลบ โดยปัจจุบัน กทม. มีสถานที่รองรับปริมาณขยะด้วยกัน 3 แห่ง 1. อ่อนนุช สามารถรองรับขยะได้ 4 พันตันต่อวัน ซึ่งนำไปฝังกลบถึง 3,400 ตัน และที่เหลือนำไปทำปุ๋ย 2. หนองแขม รับขยะได้ 4 พันตันต่อวัน ซึ่ง 3,500 ตัน นำไปฝังกลบ และ 3. ท่าแร้ง เขตสายไหม รับขยะได้ 2,500 ตันต่อวัน ซึ่งต้องนำไปฝังกลบทั้งหมด ขณะที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขมนั้นสามารถรับขยะได้ 500 ตันต่อวัน แต่เป็นรูปแบบของโรงเผาขยะ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่รองรับปริมาณขยะที่มีอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ เมื่อล่าสุด ฝ่ายบริหารงานของ กทม. มีแผนที่จะก่อสร้างโรงเผาขยะที่ผลิตไฟฟ้า จำนวน 2 โรง คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างบนพื้นที่หนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งเป็นพื้นที่โรงขยะในปัจจุบัน

ภายใต้วงเงินงบประมาณในการก่อสร้างที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งโรงเผาขยะทั้งสองจะมีงบประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อโรง อย่างไรก็ตาม รูปแบบของโครงการดังกล่าวจะเป็นไปในรูปแบบของสัมปทาน 20 ปี ที่เปิดให้นักลงทุนเอกชนทั้งในและต่างประเทศเสนอตัวเข้าประมูล ซึ่งเอกชนที่ประมูลได้จะได้รับผลตอบแทนที่ กทม. จะจ่ายเป็นค่ากำจัดขยะให้ตลอดอายุสัญญา 20 ปี

ประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากงบประมาณก่อสร้าง พื้นที่ก่อสร้าง และระยะเวลาในการก่อสร้างแล้ว สิ่งที่น่าพินิจพิเคราะห์ให้ถ้วนถี่คือ ความมั่นใจที่ กทม. มี เกี่ยวกับโครงการนี้ ต่อเรื่องที่ว่า โครงการนี้จะสามารถดำเนินการได้เร็ว เพราะได้ไฟเขียว ซึ่งเป็นข้อยกเว้นจากคำสั่งของหัวหน้า คสช. และคำประกาศจากกระทรวงมหาดไทยในการที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และให้จัดทำเพียงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นหรือ IEE เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ท้องถิ่นเฟ้นหาผู้ลงทุนโรงกำจัดขยะที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้งานได้

ดูเหมือนว่าโครงการดังกล่าวของ กทม. จะเรียกความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติที่มีความชำนาญในเรื่องโรงกำจัดขยะที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ทั้งนักลงทุนจากประเทศจีน ญี่ปุ่น หรือยุโรป ที่ให้ความสนใจ กระนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงถึงผลที่ตามมาคือการคัดค้านจากภาคประชาชน ที่มีความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เพราะเมื่อปี 2558 ที่บริษัท อีโค เวสท์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัวบริษัท และเปิดเผยแผนการก่อสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอยที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ด้วย แม้จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว หากแต่โครงการกลับถูกกระแสต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.บ้านป่า ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง

ดังนั้นคำประกาศจากกระทรวงมหาดไทยที่ว่า ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA นั้น เป็นเรื่องที่ควรจะต้องนำกลับไปคิดพิจารณาให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง แม้ภาครัฐจะแสดงให้เห็นเจตนาที่ดีในการบริหารจัดการขยะ กระนั้นก็ต้องไม่ลืมคำนึงถึงความต้องการและผลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อภาคประชาชนด้วยเช่นกัน

แม้ว่าโครงการโรงกำจัดขยะของ กทม. ทั้งสองพื้นที่จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ กระนั้นดูเหมือนบริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเอกชนที่เป็นผู้รับจ้างของ กทม. ที่มีโรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมอยู่แต่เดิม น่าจะมีภาษีดีกว่าเอกชนรายอื่นไม่น้อย

กระนั้นการก่อสร้างโรงกำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบ การกำจัดขยะและนำความร้อนจากโรงเผามาผลิตกระแสไฟฟ้าก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

เมื่อต้นทางของสาเหตุการสร้างขยะเกิดจากการบริโภคของประชาชนเอง รวมไปถึงการคัดแยกขยะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเพิกเฉย และการจัดการขยะภายในครัวเรือน หากประชาชนรู้จักที่จะสร้างวินัย ลดการใช้ทรัพยากรที่สร้างขยะในอนาคต หรือเรียนรู้ที่จะคัดแยกขยะ ปัญหาขยะล้นเมืองจะหมดไป

ขณะที่ญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความสะอาด เมื่อชาวญี่ปุ่นจำต้องแยกขยะก่อนจะนำออกมาทิ้งยังจุดที่ภาครัฐจัดสรรไว้ให้ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดวันในการทิ้งขยะบางประเภท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เก็บขยะทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการรณรงค์เรื่องการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง แต่ดูเหมือนความพยายามดังกล่าวจะไม่ค่อยเป็นผล นั่นอาจจะเป็นเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจ รวมไปถึงความคิดที่ว่า “ท้ายที่สุดขยะก็ไปรวมกันอยู่ดี เพราะรถเก็บขยะเทรวมกันในถังเดียว”

ปัญหาขยะในไทยไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาที่การก่อสร้างโรงกำจัดขยะที่เป็นปลายทางของปัญหาเท่านั้น หากแต่ควรแก้ที่วินัย เริ่มที่คน เริ่มที่บ้าน เริ่มที่โรงเรียน การสร้างให้เกิดความรู้สึกอยากรักษาประโยชน์เพื่อส่วนรวม และประโยชน์ส่วนตนจะตามมา

ใส่ความเห็น