วันพุธ, ตุลาคม 16, 2024
Home > Cover Story > สัญญาณเตือนภัย Alibaba ธุรกิจไทยปรับตัวรับผลกระทบ

สัญญาณเตือนภัย Alibaba ธุรกิจไทยปรับตัวรับผลกระทบ

ข่าวการเยือนไทยพร้อมกับลงนามความร่วมมือผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับของ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท อาลีบาบา เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะกลายเป็นประเด็นข่าวใหญ่ให้ภาครัฐได้ใช้โหมประโคมความมั่นใจในการลงทุน เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนการพัฒนาในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐไทยหมายมั่นปั้นมือจะผลักดันให้เกิดขึ้นในฐานะผลงานหลักแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง การลงทุนและการมาถึงของ Alibaba ที่กำลังรุกคืบเข้าสู่สังคมไทยในรอบใหม่นี้ ยังได้รับการคาดหวังว่าจะเป็นจักรกลสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลที่สังคมไทยพยายามจะก้าวเดินไปบนทิศทางของไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นประหนึ่งนโยบายการพัฒนาในระยะถัดจากนี้

หากแต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน และสรรพสิ่งไม่ได้มีแต่แง่งามให้ชื่นชมเท่านั้น แต่ยังมีมิติด้านลบและผลกระทบที่อาจเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ เบียดแทรกและพร้อมจะบดบังทำลายศักยภาพการพัฒนาด้านอื่นๆ ลงไปพร้อมกันด้วย

ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่าง Alibaba กับรัฐบาลไทย แผนงานการลงทุนและความร่วมมือที่อาลีบาบาจะดำเนินการประกอบด้วย การส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยคือข้าวและผลไม้ โดยภายในปี 2561 อาลีบาบามีเป้าหมายช่วยส่งออกข้าวไทย 45,000 ตัน และปี 2562 จำนวน 120,000 ตัน

การส่งออกสินค้าไทยสู่นานาชาติมีเป้าหมายส่งออกสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือโอทอปของไทย 10 รายต่อปี หรือขั้นต่ำจำนวน 50 รายการสินค้า ขณะที่ด้านการท่องเที่ยว จะช่วยให้เกิดการเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยเพิ่มจุด Alipay ในร้านค้าและโรงแรม 20 จุดท่องเที่ยวสำคัญ

การพัฒนาบุคลากรจะอบรมอี-คอมเมิร์ซระดับเป็นอาจารย์ 100 ราย เอสเอ็มอี 30,000 คน และผู้ประกอบการสตาร์ตอัพจำนวน 10 ราย การลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้ามูลค่า 11,000 ล้านบาท ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย โดยใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า สามารถจัดส่งสินค้าภายในประเทศภายใน 24 ชั่วโมง และทั่วโลกภายใน 72 ชั่วโมง เปิดดำเนินการได้ในปี 2562

เพิ่มศักยภาพ SME ของไทยด้วยการส่งเสริมดิจิทัล และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ให้บริการด้านภาษี พิธีการศุลกากร และการแลกเปลี่ยนเงินออนไลน์ครบวงจร ให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2562 และการเงินดิจิทัล จะอำนวยความสะดวกการค้าออนไลน์ผ่านระบบ Alipay

จริงอยู่ที่ว่าช่องทางของ Alibaba อาจช่วยหนุนเสริมให้สินค้าภาคการเกษตรของไทยสามารถกระจายไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างหลากหลายรวดเร็วขึ้น แต่ธุรกิจหลากหลายชนิดโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่กำลังเผชิญกับความผันผวนของค่าเงินบาท และการแข่งขันที่หนักหน่วงในการส่งออก ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกช่วงชิงพื้นที่จากผู้ประกอบการจีนที่กำลังจะไหลบ่าเข้ามาด้วยเช่นกัน

สินค้าและผู้ประกอบการไทย กำลังถูกท้าทายและเผชิญหน้ากับสินค้าจีนที่มีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดไทยหลากหลายยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่จะกดดันราคาให้ต่ำลง ซึ่งนอกจากจะทำให้อยู่ในภาวะเสียเปรียบในการแข่งขันแล้ว บางส่วนอาจเข้าสู่ภาวะที่ต้องปิดกิจการและถอยออกจากธุรกิจไปโดยปริยาย

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมาพบว่า ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากจีนรวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.51 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 146,879 ล้านบาท ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ 101,639 ล้านบาท และนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีนมากถึง 15,980 ล้านบาท ขณะที่ไทยส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปจีนรวมมูลค่า 2,508 ล้านบาทเท่านั้น

ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทกำลังถูกผู้ประกอบการจากจีนรุกคืบเข้าครอบครองส่วนแบ่งอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันสินค้านำเข้าจากจีนมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้ารวมไปแล้ว ซึ่งการมาถึงของช่องทางการค้าออนไลน์ ที่มี Alibaba เป็นกลไกขับเคลื่อนนี้ จะยิ่งมีผลต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าของไทยอย่างไม่อาจเลี่ยง

ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มไทย ต้องเผชิญกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ต้องแบกรับภาระขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นเหตุให้ต้องเจรจากับคู่ค้าในต่างประเทศเพื่อขอปรับราคาขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นอีกปัจจัยที่กำลังจะกดทับผู้ประกอบการไทยในระยะถัดจากนี้

ขณะเดียวกันในส่วนของภาคการเงินและการธนาคาร การเข้ามาของ Alipay ที่เป็นการเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน กำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้ภาคธนาคารไทยสูญเสียรายได้จากค่าธรรมเนียม และต้องเร่งปรับตัวเพื่อแข่งขันกับการบริการที่เปลี่ยนไปนี้ด้วย

ความเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นไปตามหลักอนิจลักษณ์ และไทยคงหลีกเลี่ยงการแข่งขันไม่ได้ ไม่ว่า Alibaba หรือ แจ็ค หม่า จะรุกเข้ามาในไทยหรือไม่ก็ตาม ประเด็นสำคัญที่รัฐไทยและสังคมไทยควรตระหนักอยู่ที่การสร้างโอกาสและวางกฎระเบียบที่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทุกฝ่าย และหนุนนำให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ถ้อยแถลงของ แจ็ค หม่า ที่ระบุว่า จีนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นตลาดผู้บริโภค ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยการขยายตัวของกำลังซื้อของคนชั้นกลางของจีนที่มี 350 ล้านคนไปสู่อีกหลายร้อยล้านคนในอนาคต โดยจีนนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยจึงไม่ควรตกขบวนรถไฟสายนี้ และเป็นโอกาสอันดีที่อาลีบาบาก้าวเข้ามาลงทุนในไทย สะท้อนความเป็นไปและตรรกะการบริหารทรัพยากรของ Alibaba ได้เป็นอย่างดี

ประเด็นที่น่าสนใจจากปรากฏการณ์ แจ็ค หม่า กับสังคมไทยอยู่ที่ในขณะที่ผู้ประกอบการอย่างแจ็ค หม่า และ Alibaba กำลังสร้างฐานข้อมูลด้านการค้าระบบออนไลน์ในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในภูมิภาคก่อนก้าวไปสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้ก้าวรุดไปข้างหน้า กลไกภาครัฐของไทยเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตไปบนหนทางนี้อย่างไร นี่เป็นประเด็นคำถามแหลมคมที่รัฐและสังคมไทยต้องเร่งหาคำตอบ

เพราะถึงที่สุดแล้ว การเปลี่ยนผ่านที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ กำลังท้าทายสติปัญญาและความสามารถในการบริหารจัดการของรัฐบาล คสช. ที่กำลังจะทิ้งไว้เป็นมรดกให้ได้กล่าวขานเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลวที่กำลังจะได้รับการพิสูจน์ทราบในอนาคตอันใกล้นี้

ใส่ความเห็น