วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Life > ยลธรรมชาติกลางขุนเขา จากเชียงขวางสู่หัวพัน

ยลธรรมชาติกลางขุนเขา จากเชียงขวางสู่หัวพัน

เสียงเพลงลาวที่บรรยายถึงความงดงามของธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของแขวงหัวพัน ดังแว่วอยู่ในรถโดยสารระหว่างเมืองที่มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ภาษาที่ตรงไปตรงมา บวกกับท่วงทำนองของเครื่องดนตรีที่ดูเรียบง่าย ผสานกับทิวทัศน์สองข้างทาง ทำให้เราอิ่มเอมไปกับความงดงามของแขวงหัวพัน แม้จะยังเดินทางไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางก็ตาม

จากนครหลวงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศลาว ศูนย์กลางความเจริญ และจุดตั้งต้นสำหรับการเดินทางต่อไปยังเมืองต่างๆ ของลาว เรามุ่งหน้าสู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศตามรอยเส้นทางยุทธศาสตร์สมัยสงครามอินโดจีน ผ่านเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ก่อนเข้าสู่แขวงหัวพัน ระยะทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังแขวงหัวพันราวๆ 640 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยทางรถเกือบ 22 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลามาตรฐานสำหรับการเดินทางโดยทางรถในลาว ดังนั้นเราเลือกจึงเลือกแวะพักเก็บบรรยากาศตามเมืองต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และทอนเวลาการเดินทางไม่ให้แต่ละครั้งยาวนานเกินไป จากเวียงจันทน์เราแวะพักที่เมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง อดีตเมืองที่ถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักช่วงสงครามอินโดจีน เมืองที่มีประวัติศาสตร์และร่องรอยของสงครามให้เราได้เห็นจนถึงทุกวันนี้

ต่อจากเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง เราเดินทางด้วยรถโดยสารระหว่างเมืองจากสถานีขนส่งของแขวงเชียงขวาง สปป.ลาว เพื่อเดินทางไปยังเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน การเดินทางด้วยวิธีนี้ ดูจะเป็นวิธีการเดินทางหลักของทั้งชาวลาวและนักท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้โดยสารที่อัดแน่นกันอยู่ภายในรถที่มีทั้งชาวลาว ชาวเขา และนักท่องเที่ยว ไม่เพียงแต่จำนวนผู้โดยสารที่เต็มทุกที่นั่งของรถเท่านั้น แต่ปริมาณและขนาดของสัมภาระที่แต่ละคนนำมามีปริมาณมากจนเราไม่เชื่อว่าทั้งหมดนั้นจะสามารถเดินทางไปพร้อมเจ้าของได้

สัมภาระทั้งหมดถูกจัดวางไว้ทุกซอกมุมของทั้งในตัวรถและบนหลังคา และทุกที่ที่พอจะวางได้ เป็นการจัดสรรพื้นที่ได้อย่างน่าทึ่งจริงๆ ด้วยความที่เมืองโพนสะหวันเป็นเมืองใหญ่ มีตลาดขนาดใหญ่ บรรดาชาวบ้านต่างเมืองจึงนิยมมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่เมืองนี้ ไปใช้และขายต่อในหมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไป จึงไม่แปลกที่รถโดยสารจะอัดแน่นด้วยสัมภาระเหล่านั้น

รถโดยสารระหว่างเมืองดูจะเป็นที่นิยมของทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว สำหรับคนท้องถิ่นมันคือการเดินทางที่มีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก สำหรับนักท่องเที่ยวมันคือการได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านและเสพความงามของธรรมชาติด้วยต้นทุนที่ถูกแสนถูก เพราะเส้นทางที่จะมายังแขวงหัวพันนั้นเป็นถนนที่เลียบเลาะไปตามเทือกเขา ผ่านหมู่บ้านต่างๆ ของทั้งคนลาวและหมู่บ้านชาวเขา ได้เห็นสภาพบ้านเรือนและวิถีความเป็นอยู่ รวมถึงได้สัมผัสความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ สิ่งที่เราได้พบเห็นตลอดสองข้างทางทำให้เราตระหนักรู้ว่า ลาวเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ทั้งป่าไม้และสายน้ำ บวกกับภูมิประเทศที่เป็นขุนเขา ซึ่งลาวได้ใช้จุดแข็งดังกล่าวมาเป็นแผนในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะมีทรัพยากรและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการสร้างเขื่อน รัฐบาล สปป. ลาว ให้ความสำคัญต่อโครงการพลังงานเป็นอย่างมาก โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติว่า ภายในปี พ.ศ.2563 ประเทศลาวจะเป็น “แหล่งพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคเอเซีย” (Battery of Asia) โดยผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้กับประเทศในภูมิภาคเอเซีย ด้วยจำนวนเขื่อนมากกว่า 10 แห่งทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน รวมถึงโครงการก่อสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจึงถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศลาว

การเดินทางด้วยเครื่องบิน ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมายังแขวงหัวพันแบบประหยัดเวลา ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามความสะดวกสบายที่จะได้รับตามมานั่นเอง เพราะด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ การเดินทางด้วยรถต้องใช้เวลามาก ทางการของประเทศลาวจึงสร้างสนามบินในเกือบทุกแขวง เพื่อให้ง่ายในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ โดยมีสายการบินลาวเป็นสายการบินหลักไว้คอยบริการ

จากแขวงเชียงขวางมาแขวงหัวพัน เราใช้ทางหลวงหมายเลข 7 เดินทางไปยังเมืองคำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 6 ตรงมายังบ้านน้ำเนิน ใช้เวลาเดินทางจากเชียงขวางมาบ้านน้ำเนินประมาณ 4-5 ชั่วโมง บ้านน้ำเนินนี้เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างเชียงขวางและหัวพัน เป็นที่พักรถระหว่างทาง และเป็นที่พักพิงสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความสงบเงียบและความสวยความของทั้งธรรมชาติและวิถีผู้คน ถึงแม้ว่าบ้านน้ำเนินจะเป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่นัก แต่มีที่พัก ร้านอาหาร ไว้คอยบริการ จากบ้านน้ำเนินรถพาเราลัดเลาะไปตามถนนที่ตัดเข้าไปในเขตภูเขาสูง มองไปรอบข้างมีแต่เมฆและหมอก ระหว่างทางจะพบกับหมู่บ้านชาวเขาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ริมถนนเป็นระยะๆ ใช้เวลาเดินทางเลียบเขาอีกราวๆ 5 ชั่วโมง เราก็เดินทางมาถึงแขวงหัวพัน

แขวงหัวพัน (Houa Phan) เป็นแขวงหนึ่งของ สปป.ลาว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ประกอบด้วย 6 เมืองหลัก คือ เวียงไซย, ซำเหนือ, ซำใต้, เวียงทอง, หัวเมือง และเซียงค้อ โดยมีเมือง “ซำเหนือ” เป็นเมืองเอก อาณาเขตทางทิศเหนือกับทิศตะวันออกติดกับประเทศเวียดนาม ทิศตะวันตกติดแขวงหลวงพระบาง และทิศใต้ติดกับแขวงเชียงขวาง

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนแขวงหัวพัน เขามาดูอะไรกัน
ธรรมชาติที่อุดมและงดงามคือเสน่ห์ของแขวงหัวพัน แขวงหัวพันเป็นดินแดนแห่งทิวเขาสลับซับซ้อนและดอยสูง หลายยอดมีความสูงเกือบ 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล อากาศค่อนข้างหนาว ตลอดเส้นทางเราจะพบกับธรรมชาติที่งดงาม ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่เห็นได้น้อยนักในบ้านเรา แต่สำหรับที่นี่คือสิ่งที่พบเห็นได้ตลอดสองข้างทาง นอกจากความงามทางธรรมชาติแล้ว แขวงหัวพันยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ เมืองซำเหนือ เมืองเอกของแขวง

เมืองซำเหนือตั้งอยู่กลางหุบเขาเขียวขจี มี “แม่น้ำซำ” ตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก บวกกับความชุ่มชื่นของสายน้ำซำที่หล่อเลี้ยงเมือง ทำให้เมืองซำเหนือเป็นเมืองที่มีความลักษณะทางธรรมชาติที่งดงาม เมืองทั้งเมืองถูกโอบล้อมด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ มีอากาศที่เย็นสบาย และเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ถ้ามีโอกาสลองเดินลัดเลาะเลียบแม่น้ำซำ ภาพของวิถีชีวิตที่พึ่งพิงสายน้ำ ความชุ่มชื่นและบ้านเรือนที่กลมกลืนไปกับความงามของสายน้ำ ทำให้เราได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกเบื่อ

ตัวเมืองซำเหนือมีตลาดขนาดใหญ่อยู่ 2 ตลาด และถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในลาว ตลาดทั้งสองถูกกั้นกลางด้วยแม่น้ำซำ ตลาดฟากนึงขายข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าทอแบบซำเหนือ ผ้าทอที่เป็นของขึ้นชื่อของซำเหนือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับและเครื่องเงิน ซึ่งข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย จีน และเวียดนาม เพราะประเทศลาวเป็นประเทศที่เน้นเกษตรกรรมเป็นหลัก

ส่วนตลาดอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำซำเป็นตลาดการเกษตรขนาดใหญ่ เราจะเห็นภาพชาวเขานำพืชผลทางการเกษตรมาขายที่นี่ บรรยากาศการซื้อขายแลกเปลี่ยนของพ่อค้าแม่ขาย ได้เห็นพืชผักและอาหารแปลกตา อย่างไคน้ำสีเขียวสด กระรอก นก หนู และสัตว์อื่นๆ ได้เห็นวัฒนธรรมการกินของชาวลาว ถ้าได้มีโอกาสสนทนากับชาวบ้าน และลองชิมอาหารพื้นเมืองดู จะพบว่าอรรถรสในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกมากโข

สำหรับสิ่งที่เอื้อต่อการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร การขนส่ง ถือว่าเพียงพอต่อนักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน ที่พักและร้านอาหารมีอยู่หลายแห่งให้นักท่องเที่ยวได้เลือกใช้บริการ หลากหลายทั้งบรรยากาศและระดับราคา

ด้วยความที่แขวงหัวพันอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก อีกทั้งการเดินทางผ่านเทือกเขาสูงชันและการคมนาคมหลักยังไม่สะดวกเท่าใดนัก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนแขวงหัวพัน ยังมีปริมาณไม่มาก แต่นั่นก็ทำให้ธรรมชาติที่สวยงามของแขวงหัวพัน ยังคงสดตามที่ธรรมชาติรังสรรไว้แต่เดิม