วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > หมูอวตารฉ่ำๆ 4.5 หมื่นล้าน เบทาโกรลุย “กะเพราสามชั้น” หั่นราคา

หมูอวตารฉ่ำๆ 4.5 หมื่นล้าน เบทาโกรลุย “กะเพราสามชั้น” หั่นราคา

สมรภูมิ Plant-based Food เนื้อแปลงร่าง หมูอวตาร ให้อารมณ์นุ่มชุ่มฉ่ำ กำลังเติบโตและแข่งขันรุนแรง โดยมีมูลค่าเม็ดเงินมากกว่า 45,000 ล้านบาท พุ่งขึ้นจากอัตรา 2-10% เมื่อปี 2562 เป็น 10-30% ในปี 2567 และเพิ่มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี โดยเฉพาะการแข่งขันประชันเมนูอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งทุกค่ายล้วนเป็นคู่แข่งยักษ์ใหญ่แทบทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน รสชาติที่แปลกใหม่ กลิ่นและสีสัน สามารถขยายฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อีกหลายเท่าตัว ประเมินจากจำนวนคนไม่บริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศไทยในปัจจุบันยังมีอยู่เพียง 7-10 ล้านคนเท่านั้น ท่ามกลางเทรนด์รักสุขภาพที่ยังมีแนวโน้มขยายตัว

ล่าสุด บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเกมรุก ส่ง 3 เมนูใหม่ในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ได้แก่ ข้าวกะเพราเนื้อสามชั้น ข้าวคะน้าเนื้อสามชั้น และข้าวเนื้อสามชั้นผัดพริก พร้อมอัดกลยุทธ์ราคาเพียง 59 บาท เพื่อเสริมไลน์ Meatly! เพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง-พร้อมรับประทานที่มีมากกว่า 13 เมนู พร้อมแคมเปญลดราคาสินค้าต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เบทาโกรเปิดตัวแบรนด์ Meatly! เมื่อปี 2565 โดยดึง วรลัญจ์ แต้ไพสิฐพงษ์ ผู้บริหารเจเนอเรชันใหม่ของตระกูลเข้ามารับผิดชอบโปรเจกต์ โดยช่วงปีแรกประเดิมจากกลุ่มวัตถุดิบปรุงอาหาร หรือ Ready to cook 3 รสชาติ ได้แก่ แพลนต์เบสคัตสึ แพลนต์เบสคัตสึชีส และเนื้อหมูบดแพลนต์เบส เน้นรสชาติเสมือนเนื้อหมู

ปีต่อมาเดินหน้าส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบพร้อมรับประทาน (Ready to eat) วางไว้ 5 ซีรีส์เมนูอาหาร ได้แก่ อาหารไทย อาหารจีน อาหารตะวันตก อาหารญี่ปุ่น และอาหารเกาหลี โดยนำร่องซีรีส์แรกเป็นเมนูอาหารไทย “ต้นตำรับ รสชาติไทย” ที่จัดจ้านถึงใจ ได้แก่ หลนเต้าเจี้ยว น้ำพริกลงเรือ และคั่วกลิ้งหมูสับจากพืช ใช้โปรตีนจากถั่วเหลือง 100% มีรสชาติ เนื้อสัมผัสและกลิ่นไม่ต่างจากเนื้อหมูแท้ ๆ แต่ไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลงทางพันธุกรรม ไม่มีโคเลสเตอรอล

แน่นอนว่า เบทาโกรเร่งลุยช่องทางกระจายสินค้าผ่านช่องทาง B2C ทั้งร้านเบทาโกรเดลี่ โมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ และแพลตฟอร์มออนไลน์ Social Commerce คือ Meatly foods FB, Meatly.foods IG, @meatly.foods LINE Official เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค รวมทั้งขยายช่องทาง B2B ผ่านร้านอาหารพาร์ตเนอร์ เช่น  alt.Eatery, Easy! Buddy มีการจัดกิจกรรม “The Simply Wonderful ที่ร้าน alt.Eatery สุขุมวิท 51 เพื่อให้สาย Plant-based และ Vegan food รวมถึงผู้สนใจอยากลองรับประทานแพลนต์เบส ลิ้มลองเมนูแนะนำ ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงปีนั้น

วรลัญจ์ แต้ไพสิฐพงษ์ ผู้บริหารโครงการ Meatly! กล่าวว่า Meatly! เป็นแพลนต์เบสฟู้ดพรีเมียมที่ครอบคลุมทั้งอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook) และอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ทั้งเมนูอาหารไทย และอาหารนานาชาติ เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ต้องการความหลากหลาย และสะดวกสบายเหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ซึ่งการเปิดตัว 3 เมนูใหม่ อย่างข้าวกะเพราเนื้อสามชั้น ข้าวคะน้าเนื้อสามชั้น และข้าวเนื้อสามชั้นผัดพริก สไตล์เดียวกับหมูสามชั้น ซึ่งเป็นเมนูคุ้นเคยและเมนูโปรดของคนไทย คาดจะช่วยขยายฐานลูกค้ากลุ่มใส่ใจสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ว่าไปแล้ว เบทาโกรไม่ใช่เจ้าแรกๆ ที่เข้ามาบุกตลาด เพราะช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มธุรกิจอาหารเข้ามาเป็นผู้เล่นหลายราย ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ซึ่งถือเป็นผู้บุกเบิกอาหารแพลนต์เบสของไทย

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดตัวแบรนด์ OMG Meat ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารทะเลจากพืช ได้แก่ หอยจ๊อปู ขนมจีบปู เนื้อปู นักเก็ต และรูปแบบไม่ใช่อาหารทะเล อย่างเนื้อหมู ไก่ จากพืช ได้แก่ ซาลาเปาหมูแดง และนักเก็ตไก่

ส่วนเบอร์ใหญ่อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ใช้เวลาศึกษาก่อนวางตลาดนานกว่า 2 ปี และทุ่มทุนการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืชร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวัน รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วิจัยค้นพบนวัตกรรม ‘PLANT-TEC ผลิตเนื้อทางเลือกเสมือนเนื้อสัตว์จริง ทั้งลักษณะ รสชาติ กลิ่น และเนื้อสัมผัส ชนิดผู้บริโภคแทบแยกไม่ออกเลยว่ากำลังรับประทานพืช

กระทั่งปี 2564 ซีพีเอฟประกาศเปิดตัวแบรนด์ MEAT ZERO โดยทุ่มงบมากกว่า 3,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะสร้างยอดขาย 6,000 ล้านบาทภายในปี 2567 จากยอดขายปีแรก 200-250 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ตลาดในไทย แต่ต้องการขึ้นเป็นแบรนด์อันดับ 1 ของผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชในภูมิภาคเอเชียและติดทอปทรีของตลาดโลก โดยวางโจทย์เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับประทานเนื้อสัตว์ดั้งเดิม แต่เน้นกลุ่มที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพ กลุ่มควบคุมอาหารหรือลดน้ำหนักด้วยการเว้นเนื้อสัตว์เป็นครั้งคราว กลุ่ม Flexitarian หรือกลุ่มมังสวิรัติยืดหยุ่นกลุ่มที่มีความเชื่อและเลือกเว้นเนื้อสัตว์ในวันเกิด เดือนเกิด หรือเมื่อโอกาสอำนวย รวมทั้งแก้ข้อจำกัดเรื่องระดับราคาที่สูงของเนื้อเหล่านี้และหาซื้อยากในเวลานั้น

ซีพีเอฟอัดแคมเปญ MEAT ZERO วางจำหน่ายในระดับราคาใกล้เคียงกับอาหารจากเนื้อสัตว์ปกติ มีเมนูยอดนิยม เช่น โบโลน่าจากพืช เบอร์เกอร์หมูจากพืช ข้าวกะเพราเนื้อจากพืช สปาเกตตีเนื้อสับ จำหน่ายในราคาเพียง 35-45 บาท และในรูปแบบอาหารพร้อมปรุง เช่น นักเก็ตไก่จากพืช เนื้อบดจากพืช และหมูกรอบจากพืช ราคา 69 บาท มีวางจำหน่ายในเครือข่ายค้าปลีกของซีพีและซีพีเอฟ ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร โลตัส และห้างโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ พร้อมดึง “นาย ณภัทร เสียงสมบุญ” นักแสดงชื่อดังเป็นพรีเซ็นเตอร์คนแรกของ Meat Zero ปลุกสโลแกน “แค่เริ่ม… โลกก็เปลี่ยน”

นอกจากนั้น บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) บริษัทผู้ผลิตอาหารพร้อมกินส่งร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ยังเปิดตัวแบรนด์ VG for Love อาหาร Plant-based แบบพร้อมรับประทานจำนวน 10 เมนูเข้าสู่ตลาด เช่น ข้าวกะเพราหมูพีบี ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี ข้าวผัดกะเพราขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี ข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่พีบี

ส่วนที่กำลังเข้ามาเป็นผู้เล่นอีกราย คือ บริษัท นิวทรา รีเนจเนอเรทีฟ โปรตีน จำกัด หรือ NRPT ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทย่อยของ NRF กับบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด บริษัทย่อยของเครือ ปตท. โดยลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตอาหาร Plant-based กำลังการผลิตประมาณ 3,000 ตันต่อปี เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและจัดจำหน่ายทั่วภูมิภาคอาเซียน คาดโรงงานนี้จะสามารถผลิตและสร้างรายได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567

สงครามหมูอวตารดุเดือดขึ้นแน่.

Plant-based Food เทรนด์สุขภาพมาแรง 

เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ ไม่กินเนื้อสัตว์ มีหลากหลายรูปแบบ แต่เทรนด์ที่ยังคงมาแรง  ได้แก่ Plant-based Food หรืออาหารที่ผลิตจากโปรตีนพืช เช่น ถั่วเหลือง ธัญพืช และเห็ด สามารถทดแทนเนื้อสัตว์ในเมนูต่างๆ ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีทำให้ได้รสชาติและเนื้อสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ สามารถนำมาปรุงอาหารหลากหลายเมนู เช่น เนื้อเบอร์เกอร์ เนื้อสับนักเก็ต เนื้อไก่ย่าง มีตบอล

กลุ่มต่อมา มังสวิรัติ (Vegetarian) หรือการรับประทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบและเน้นสารอาหารจากพืช ซึ่งแยกย่อยได้อีก 7 กลุ่ม คือ กลุ่มมังสวิรัตินมและไข่ (Lacto-ovo vegetarian) เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ รับประทานทั้งนมและไข่ได้ แต่งดเนื้อสัตว์

มังสวิรัตินม (Lacto vegetarian) กินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมได้ เช่น นม ชีส โยเกิร์ต เนย แต่งดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากไข่

มังสวิรัติไข่ (Ovo vegetarian) รับประทานไข่ได้ แต่งดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม

มังสวิรัติปลา (Pescatarian) กินปลาและหอยได้ ในบางรายอาจกินนมหรือไข่เสริม แต่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์อื่นๆ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว

กลุ่มกึ่งมังสวิรัติ (Pollotarian) กินปลา ไก่ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม แต่งดเนื้อสัตว์ใหญ่หรือเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว

วีแกน (Vegan) หรือมังสวิรัติบริสุทธิ์ จะเป็นกลุ่มที่เคร่งในการเป็นมังสวิรัติที่สุด ไม่เพียงแค่รับประทานอาหารจากพืชเท่านั้น แต่ยังงดใช้เครื่องอุปโภคที่ทำมาจากสัตว์และไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เบียดเบียนสัตว์ทุกประเภท

กลุ่มมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) เลือกกินมังสวิรัติอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง มักเป็นผู้อยากเริ่มรับประทาน แต่ไม่สามารถเลิกรับประทานอาหารแบบปกติได้ อาจกินเนื้อสัตว์เล็กในปริมาณน้อยลง ร่วมกับการลดปริมาณน้ำตาลในมื้ออาหาร จำกัดของหวาน เน้นรับประทานอาหารจากพืชเช่นเดียวกับมังสวิรัติกลุ่มอื่นๆ หากร่างกายเริ่มชินจะขยับเลเวลไปรับประทานมังสวิรัติที่เคร่งขึ้น

ส่วน “เจ” บริโภคอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ 100% เหมือนVegan แต่เพิ่มเรื่องการรักษาศีลให้กาย วาจา และใจ สะอาดบริสุทธิ์ รวมทั้งมีข้อห้ามรับประทานผักฉุน 5 ประเภท คือ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย และใบยาสูบ เพราะถือเป็นของคาว ต้องงดอาหารรสจัด เค็มมาก หวานมาก เปรี้ยวมาก และเผ็ดมากด้วย.