วันศุกร์, พฤศจิกายน 8, 2024
Home > Cover Story > ชาคริต พิชญางกูร ผอ. CEA ต่อยอดแนวคิดดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ชาคริต พิชญางกูร ผอ. CEA ต่อยอดแนวคิดดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะอุตสาหกรรมนี้สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าจนไปถึงการส่งออกผลงานไปขายยังต่างประเทศจนสามารถสร้างเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศเกาหลี ที่ส่งออกวัฒนธรรมผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี และเกมออนไลน์ จนกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากต่างประเทศ แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่ผลงานจากองค์กรเอกชน แต่เป็นความพยายามของรัฐบาลเกาหลีที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เฉพาะด้าน ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมายาวนานกระทั่งประสบความสำเร็จ และสร้างฐานแฟนคลับ ความนิยมให้เกิดขึ้นไปทั่วโลก

ขณะที่ไทยมีหน่วยงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเป็นแรงขับช่วยผลักดันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน ทั้งในระดับประเทศไปสู่สากล นั่นคือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 อยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี

“ทำไมเราต้องมีสำนักงานนี้ เป็นวาระแห่งโลก ซึ่งมองว่านี่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เอาต้นทุนด้านวัฒนธรรมมาต่อยอดทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องรักษา คงอัตลักษณ์เกี่ยวกับชุมชน ผู้คนจำนวนมาก จะเป็นการสร้างงานให้ผู้คน และการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นี่ถือเป็นอเจนด้าระดับชาติ” ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในไทยมีมูลค่า 1.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อ GDP ประเทศ 7.39%

“อุตสาหกรรมนี้ไม่เพียงแต่มีมูลค่าสูง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นแหล่งจ้างงานได้อีกมาก ประมาณ 9.6 แสนคน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าและการจ้างงาน แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย”

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยประกอบด้วย 15 อุตสาหกรรม โดยอยู่ใน 5 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ 2. กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ ได้แก่ ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ 3. กลุ่มบริการสร้างสรรค์ ได้แก่ การโฆษณา การออกแบบ สถาปัตยกรรม  4. กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น และ 5. กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อาหารไทย การแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

“CEA เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ เราเป็นเสมือนฟันเฟืองที่สนับสนุนการทำงานของนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศโดยมีอุตสาหกรรมนำร่องในกลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งก็จะเป็นผลงาน ภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน อุตสาหกรรมดนตรี

ซึ่ง CEA จะผลักดันอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้เป็นหลัก ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจกลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์และดนตรี มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 1.08 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตในปี 2564 ถึง 12 เปอร์เซ็นต์”

หากจะเทียบฟอร์มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยกับเกาหลี ต้องบอกว่าแม้จะมีศักยภาพแต่ยังคงห่างไกลเกาหลีใต้อยู่ไม่น้อย เพราะเกาหลีใต้ขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้มาตั้งแต่ 20 ปีก่อน ในขณะที่ไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น

มุมมองของ ผอ. CEA ต่ออุตสาหกรรมในแต่ละหมวดมีความแตกต่างกัน เพราะในอุตสาหกรรมดนตรีของไทย บทบาทของ CEA อยู่ในส่วนของปลายน้ำ แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ CEA มีบทบาทอยู่ที่ต้นน้ำ

“ในกลุ่มอุตสาหกรรมเรือธง บทบาทของอุตสาหกรรมดนตรี CEA เราอยู่ในส่วนของปลายน้ำ คือนำผลงานไปเสนอบนเวทีระดับนานาชาติ ซึ่ง Business Matching ที่จะเกิดขึ้น จะเกิดกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเพลงนั้นๆ เช่น นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ ที่เขาจะนำผู้สร้างสรรค์ในกลุ่มนี้ไปสร้างผลงานอื่นๆ ต่อไป

ขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เราอยู่ในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ เราดูในส่วนของ Value Chain ตั้งแต่บทภาพยนตร์ ผู้ผลิต แน่นอนเรามองว่าบทภาพยนตร์ของเราควรจะดีกว่านี้หากมองในมุมที่จะเสนอขายและทำให้ตลาดต่างประเทศสนใจ ซึ่งนี่เป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องเข้าไปดูแล การโปรดิวซ์ ต้องอัปสกิลคนในกลุ่มนี้ขึ้นมา” ดร.ชาคริต ขยายความ

ทว่า อุตสาหกรรมโฆษณาจากผลงานของคนไทย ดร.ชาคริต มองว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะโฆษณาของไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติ เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์จากรางวัลที่ได้รับบนเวทีระดับนานาชาติ

เป้าหมายหลักของ CEA คือ การยกระดับประเทศไทยให้ได้รับการยอมรับในฐานะประเทศชั้นนำด้านการสร้างสรรค์บนเวทีระดับโลก ด้าน Creative City ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเจ้าภาพเมือง ขับเคลื่อนการนำร่องการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มปริมาณนวัตกรรมเมืองสร้างสรรค์ในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่อยอดทุนวัฒนธรรมและเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในประเทศและต่างประเทศ

ด้าน Creative business เน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสินค้าและการบริการ ยกระดับทักษะสร้างสรรค์ของคนไทย ตลอดจนการปกป้องสิทธิกระบวนการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และด้าน Enter the global market พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย เพื่อการแข่งขันในระดับสากล ส่งเสริมการหาโอกาสทางการตลาดแก่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในตลาดต่างประเทศ

“การส่งออกคอนเทนต์ของไทยไปตลาดต่างประเทศ เราทำเรื่องภาพยนตร์ ดนตรี ซึ่งมูลค่าของอุตสาหกรรมดนตรีอยู่ที่ประมาณ 3-5 พันล้านบาท อาจจะดูไม่เยอะ แต่นำมาซึ่งมูลค่าที่ตามมา เช่น ซับคัลเจอร์ เช่น การซื้อ IP ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนเป็นสื่อ ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเราได้งบจากภาครัฐไม่มากนัก แต่ CEA พยายามอย่างเต็มที่ที่จะผลักดันให้มากขึ้นในอุตสาหกรรมนี้ เป้าหมายสำคัญอยู่ที่การสร้าง Brand Awareness และการตั้งเป้ายอดเอนเกจกับจำนวนคนที่รับสาร ที่ผ่านมาเราส่งออกผลงานไป 46 เทศกาล กับ 48 ศิลปิน มีการแสดงทั้งสิ้น 70 โชว์ ใน 12 ประเทศ ซึ่งน่าจะเกิด Business Impact 300 โอกาสทางธุรกิจ และมี 30 ล้าน Eyeball สำหรับการทำงานในปีที่ผ่านมา”

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการ Music Exchange ที่ CEA ส่งเสริมศิลปินทั้งแบบเดี่ยวและแบบวง โดยไม่จำกัดแนวดนตรี ให้ได้แสดงผสานบนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกในต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Content Lab 2024 เป็นโครงการที่ขยายขอบเขตการพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของไทยสู่มาตรฐานสากล ผ่านโครงการย่อยบ่มเพาะ 4 โครงการ และโครงสร้างโอกาสทางธุรกิจ ได้แก่ Content Lab: Newcomers โครงการพัฒนาบุคลากรคนทำหนังรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ให้พร้อมผลิตคอนเทนต์เข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย, Content Lab: Mid-Career พัฒนาโปรเจกต์ภาพยนตร์และซีรีส์ สำหรับบุคลากรวิชาชีพระดับกลางในสายโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ นักเขียนบท, Content Lab: Animation พัฒนาโปรเจกต์เฉพาะด้านแอนิเมชัน โดยร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย, Content Lab: Advanced Scriptwriting โครงการพัฒนาทักษะการเขียนบทสำหรับมืออาชีพ และโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ Content Project Market โครงการที่เป็นเหมือนตลาดซื้อขายคอนเทนต์ของไทยครั้งใหญ่

“เป้าหมายระยะยาวของ CEA ภายในปี 2568 จะสามารถส่งศิลปินไทยเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติได้มากกว่า 100 การแสดง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนไทยกำลังทำตลาดอยู่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งยุโรปและอเมริกา รวมถึงการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ผ่านเทศกาลไทยในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ CEA เชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้กับวงการดนตรีของไทยและสามารถสร้างกระแส Thai music Wave สู่ตลาดโลกได้มากกว่า 34.9 ล้านการรับชม เราอยากให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยมีตัวตนบนเวทีโลก” ดร. ชาคริต ทิ้งท้าย.