ครึ่งปีเศรษฐกิจไทย กับโจทย์เฉพาะหน้าที่รัฐต้องเร่งแก้
การระบาดของเชื้อโควิดระลอก 3 ในไทย นับว่าเป็นการระบาดที่หนักกว่าสองรอบที่ผ่านมา ทั้งในด้านของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมา 2 เดือน และยังไม่มีท่าทีที่จะลดจำนวนลง อีกทั้งยังเกิดขึ้นในหลายกลุ่มคลัสเตอร์และกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ผลของการแพร่ระบาดในระลอก 3 เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ที่ติดลบ 2.6 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจน แม้ว่าจีดีพีไทยจะติดลบอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา สถานการณ์หลายด้านจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ เศรษฐกิจบางตัวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ประกอบกับความหวังในเรื่องวัคซีนที่เริ่มเร่งการพัฒนา ผลิต และแจกจ่ายระดมฉีดกันในหลายประเทศ ทว่า ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจไทย การเงิน ด้านแรงงาน การลงทุน ที่ไทยประสบอยู่เดิมทำให้ไทยบอบช้ำง่ายขึ้นจากวิกฤตโควิดระลอก 3 หลายกิจการพยายามจะประคองตัวให้ผ่านพ้นห้วงเวลาอันเลวร้ายนี้ ภายใต้ข้อจำกัดหลายด้านที่เป็นมาตรการด้านสาธารณสุขจากภาครัฐ แต่คล้ายกับว่าสงครามที่มนุษยชาติต้องฟาดฟันห้ำหั่นกับเชื้อไวรัส ไม่อาจไขว่คว้าชัยชนะมาอย่างง่ายดาย ข้อมูลจากผู้บริหารฟู้ดแพนด้า ระบุว่า มีร้านอาหารที่อยู่บนแพลตฟอร์มต้องปิดตัวลงเพราะ Covid-19 (ทั้งชั่วคราวและถาวร) ถึง 25,000 ราย อีกทั้งผู้บริโภคที่สั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มของฟู้ดแพนด้าลดจำนวนลง และเปลี่ยนไปประกอบอาหารรับประทานเองมากขึ้น หลังเข้าสู่สัปดาห์ที่สอง ล่าสุด ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ประเมินว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารปิดกิจการทั้งแบบชั่วคราวและถาวรแล้ว 50,000 ราย
Read More