แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 พุ่งเป้าเศรษฐกิจมูลค่าสูง สังคมเสมอภาค
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลง นับตั้งแต่ชาวโลกได้ทำความรู้จักเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มากว่า 1 ปี แต่ละประเทศมีภารกิจสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม พร้อมกับที่ต้องหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส เช่นเดียวกับประเทศไทยที่นอกจากความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดแล้ว ขณะเดียวกันคือการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนในประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก นับเป็นเป้าหมายสำคัญเพราะนั่นเป็นหนทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับมหภาคอย่างยั่งยืน แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาหลายโครงการ แต่ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ไทยกำลังประสบอยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาอันสั้น ตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจคือ วัคซีนถูกกระจายและฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง การเกิดการระบาดระลอกใหม่และแนวทางการรับมือของภาครัฐ รวมไปถึงการประคับประคองเศรษฐกิจในปัจจุบัน ด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2565) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สาระของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การเปลี่ยนผ่านประเทศหรือ การ Transform ประเทศใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจฐานทรัพยากรไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการมุ่งสู่เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง บนพื้นฐานของการสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการพัฒนาต่อยอดและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
Read More