รัฐบาลใหม่ สังคมไทยคาดหวังอะไร??
ผลการลงมติเพื่อเลือกสรรผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยในการประชุมร่วมรัฐสภาได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยไม่มีสิ่งใดผิดพลาดไปจากการคาดหมายด้วยคะแนนเสียงทั้งจากสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งและจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเข้าร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ ด้วยคะแนนเสียงรวม 500 คะแนน หากแต่ประเด็นที่น่าจับตามองนับจากนี้ นอกจากจะอยู่ที่การเจรจาตกลงเพื่อจัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นระหว่างพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรแล้ว การผนวกผสานนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองได้เคยนำเสนอระหว่างช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้งให้เกิดเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้และมีผลในการผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในห้วงเวลาจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามไม่น้อยเลย ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยห่างหายจากกระบวนการตรวจสอบ ถ่วงดุล และร่วมแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบายไปโดยปริยาย ซึ่งการเกิดขึ้นของการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตลอดจนถึงการลงมติเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูจะเป็นประหนึ่งบทเริ่มต้นของการกลับเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา ที่ทำให้บุคคลในคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบทางการเมืองและต่อสังคมหลังจากที่ก่อนหน้านี้มาตรฐานทางจริยธรรมที่เอ่ยอ้างดูจะเป็นเกราะกำบังให้โพ้นไปจากความรับผิดชอบเหล่านี้ ประเด็นปัญหาว่าด้วยเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ดูจะเป็นสิ่งที่สังคมไทยให้ความสนใจไม่น้อย เพราะด้วยเหตุแห่งข้อเท็จจริงที่ว่าฝ่ายที่ร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านในสภามีคะแนนเสียงไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งหมายความว่าการบริหารราชการแผ่นดิน การผลักดันนโยบายต่างๆ รวมถึงการออกกฎหมาย จะดำเนินไปท่ามกลางความยากลำบากไม่น้อย ขณะที่โอกาสของการเกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลจนนำไปสู่การยุบสภาในระยะเวลาอันใกล้ก็ดูจะมีความเป็นไปได้สูง ความน่ากังวลของการนำพารัฐนาวาในห้วงเวลานับจากนี้ อีกประการหนึ่งยังผูกพันกับข้อเท็จจริงที่ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่ตลอดช่วงเวลา 5 ปี ของรัฐบาล คสช. โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่ และไม่ได้รับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้มีความสามารถในการแข่งขันมากพอ นอกจากนี้ เหตุของข้อพิพาททางการค้าจีน-สหรัฐฯ กลายเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลใหม่ เพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงถึงในระดับร้อยละ 70-80 ของ GDP ภารกิจเร่งด่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการในภาวะชะลอตัวของการส่งออกและท่องเที่ยวในขณะนี้ จึงมุ่งเป้าไปที่การเรียกคืนความเชื่อมั่นจากภาคธุรกิจ นักลงทุนและประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ผ่านการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภค ซึ่งแม้จะดูเป็นกรณีสามัญและไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลส่วนใหญ่พึงกระทำ
Read More