การแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากจะคุกคามความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคของโลกแล้ว มหันตภัยร้ายครั้งใหญ่ดังกล่าวยังส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมหลากหลายตกอยู่ในภาวะชะงักงันและชะลอการเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดการระบาด ก่อนที่จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ หลังจากที่นานาประเทศดำเนินความพยายามที่จะควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดด้วยการปูพรมฉีดวัคซีนด้วยหวังจะให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและขับเคลื่อนกลไกเศรษฐกิจต่อไปได้
ความเป็นไปของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของไทย รวมถึงสถานการณ์ในระดับนานาชาติ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังเริ่มส่งสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้น หากแต่ในมิติของการลงทุน ซึ่งต้องอาศัยการเจรจาและการลงพื้นที่จริง ยังคงเผชิญกับอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และทำให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องปรับลดเป้าหมายยอดการขายหรือเช่าพื้นที่ในปีงบประมาณ 2564 ลงจากเดิมที่ระดับ 1,500 ไร่ เหลือเพียง 1,200 ไร่ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2563-เมษายน 2564) การนิคมอุตสาหกรรมสามารถสร้างยอดขาย/เช่าได้แล้วรวมที่ระดับ 700 ไร่
แนวทางในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น จึงอยู่ที่การร่วมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมฯ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อปรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนให้น่าสนใจมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยปรับลดสิทธิประโยชน์ในบางอุตสาหกรรม หากแต่สถานการณ์ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปมาก โดยประเทศคู่แข่งของไทย โดยเฉพาะเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ต่างกำหนดสิทธิประโยชน์ที่มีจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุน ที่ทำให้ไทยต้องปรับตัวรองรับการแข่งขันนี้ด้วย
มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่กลไกรัฐคิดและดำเนินการได้ในปัจจุบันในด้านหนึ่งอยู่ที่การต่ออายุสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 4 ฉบับ
COVID-19การลงทุนผลกระทบโควิดโควิดโควิด-19 Read More