บริษัทแกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ชื่อนี้อาจจะฟังดูไม่คุ้นหูเท่าไหร่นักในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เมื่อบริษัทนี้ถูกก่อตั้งมาเพียงแค่ 5 ปี แต่หากเอ่ยถึง โยธิน บุญดีเจริญ คงจะทำให้นึกถึงผลงานที่ผ่านมาอย่างโครงการเมืองทองนิเวศน์ 1 หรืออาคารซีพีทาวเวอร์ สีลม กว่า 45 ปี ในวงการอสังหาริมทรัพย์ทำให้โยธินสั่งสมประสบการณ์ไว้มากมาย
กระทั่งโยธินได้ก่อตั้งบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ ในปี พ.ศ. 2552 และได้พัฒนาโครงการอสังหาฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากย้อนเวลากลับไปดูความเป็นมาของโยธินและจีแลนด์แล้ว ถือว่าไม่ธรรมดา
โยธิน บุญดีเจริญ คลุกคลีอยู่ในวงการอสังหาฯ ตั้งแต่เรียนจบจากฮ่องกงกลับมาในปี พ.ศ. 2513 และได้รับมอบหมายจากมงคล กาญจนพาสน์ ให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาที่ดินของกลุ่มเมืองทอง คือโครงการเมืองทองนิเทศน์ 1 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมบึงสีกัน จำนวนกว่า 800 ไร่ นับเป็นโครงการแรกที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาที่ดินโดยกลุ่มเมืองทอง ที่ประกอบด้วย 5 ตระกูลใหญ่ คือ กลุ่มกาญจนพาสน์ กลุ่มมหาดำรงค์กุล กลุ่มสนิทวงศ์ ณ อยุธยา กลุ่มโกสิยกุล และกลุ่มวงศ์สงวน
ภายหลังธาตรี บุญดีเจริญ น้องชายของโยธิน ก่อตั้งบริษัท ยูนิเวสท์ จำกัด ใน พ.ศ. 2523 เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย สำนักงาน รวมถึงห้างสรรพสินค้า หนึ่งปีให้หลัง โยธิน แยกตัวออกจากกลุ่มเมืองทอง หลังจากร่วมงานกันมายาวนานกว่าทศวรรษ โครงการที่เป็นผลงานอันโดดเด่นที่ร่วมกันทำกับน้องชาย เช่น โครงการเมืองเอก ย่านรังสิต อาคารยูนิเวสท์ทาวเวอร์ สีลม ซึ่งต่อมาได้ขายให้กับกลุ่มซีพี และเปลี่ยนชื่อเป็น ซีพี ทาวเวอร์ในปัจจุบัน
กระทั่งวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี พ.ศ. 2540 จุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจไทยที่หลายบริษัทได้รับผลกระทบไม่เว้นแม้แต่บริษัทที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนั้นอย่างยูนิเวสท์ ที่เริ่มขยายการลงทุนในธุรกิจการเงินและอุตสาหกรรม จนต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นผลให้ตระกูลบุญดีเจริญต้องจำศีลยาวนานเกือบ 10 ปี
บริษัทแกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือจีแลนด์ เดิมคือ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) หรือ มีเดียส์ ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ให้กับสถานีโทรทัศน์ทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี กระทั่ง 17 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2552 ได้อนุมัติให้บริษัทเข้าทำรายการ ที่ประกอบด้วยการซื้อและรับโอนสินทรัพย์ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท แกรนด์ คาแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเจริญกฤษ หรือ บริษัทเจริญกฤษ เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ของครอบครัวบุญดีเจริญ รวมทั้งซื้อสินทรัพย์จากกลุ่มรัตนรักษ์ (กฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด) ด้วย
ทั้งนี้การเข้าทำรายการดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นการชำระโดยการออกหุ้นสามัญใหม่ให้กับกลุ่มเจริญกฤษและกลุ่มรัตนรักษ์ ส่งผลให้กลุ่มเจริญกฤษและกลุ่มรัตนรักษ์กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของมีเดียส์ และได้เปลี่ยนประเภทธุรกิจจากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ มาเป็นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้รับการจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ หรือที่รู้จักกันว่า “การซื้อธุรกิจแบบย้อนกลับ” (Reverse Takeover)
การกลับมาผงาดอีกครั้งของแกรนด์ คาแนล แลนด์ หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียน รวมถึงปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554 ภายใต้การนำทัพของโยธิน บุญดีเจริญ กับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และการกลับมาครั้งนี้ไม่ได้มาแบบฉายเดี่ยว เมื่อจับจูงลูกสาวคนเก่งอย่าง รมณี บุญดีเจริญ ให้นั่งเก้าอี้กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ พร้อมเปิดตัวโครงการ เดอะ แกรนด์ พระราม9 บนที่ดินกว่า 70 ไร่
โยธินทุ่มสุดตัวกับแลนด์มาร์กแห่งใหม่บนถนนพระราม 9- รัชดาภิเษก แม้อายุอานามจะล่วงเลย 70 ปีไปแล้ว เมื่อได้กลับมาจับธุรกิจที่เขารักอีกครั้งซึ่งนับว่าถูกที่ถูกเวลา พร้อมกับการมีพันธมิตรกระเป๋าหนักอย่างตระกูลรัตนรักษ์หนุนหลัง ในช่วงที่กระแสตื่นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยบูมสุดขีด
นอกเหนือจากเดอะ แกรนด์ พระราม9 ที่มีเป้าหมายมากกว่าการสร้างให้เป็นเพียงแค่แลนด์มาร์กของไทย โยธินยังมีแผนการลงทุนในปี พ.ศ. 2558 ว่าจะมีโครงการใหม่เกิดขึ้นอีก 3 โครงการ ย่านหลักสี่และดอนเมือง มูลค่ารวมกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการคอนโดมิเนียมและโครงการบ้านเดี่ยว
ดูเหมือนว่าการกลับมาของนักพัฒนาอสังหาฯ รุ่นเก๋าอย่างโยธิน ดูอะไรๆ จะง่ายและเข้าทางไปเสียหมดเมื่อดูจากการให้ข้อมูลของโยธินเรื่องแผนการในอนาคตว่าไม่จำเป็นต้องหาซื้อที่ดินเพิ่ม เพราะพันธมิตรอย่างช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ ยังมีแลนด์แบงก์ในมืออีกมากที่รอให้จีแลนด์หยิบจับไปพัฒนา ผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองครอบครัวบุญดีเจริญและรัตนรักษ์ ที่เมื่อถึงเวลาปันผลกำไรเมื่อถึงสิ้นปีงบประมาณ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในบัญชีก็น่าจะทำให้ยิ้มได้ทั้งสองฝ่าย
เมื่อผู้ถือหุ้นในลำดับสองของจีแลนด์ คือบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด มีจำนวน 18.36% ข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุด 1 เมษายน 2557 ในขณะที่นายโยธิน บุญดีเจริญ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท “บีบีทีวี มาร์เก็ตติ้ง” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของช่อง 7 เช่นกัน
ความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ต่างตอบแทนดูจะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้น รวมถึงความสามารถในการบริหารของตระกูลบุญดีเจริญ ทำให้การตื่นขึ้นมาของจีแลนด์ หลังจากจำศีลไปหลายปี สร้างสีสันให้กับวงการอสังหาฯ เมืองไทยได้อย่างดี และหากโครงการบนทำเลทองอย่างพระราม 9 ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของจีแลนด์ และรัตนรักษ์ก็พร้อมเสนอที่ดินแลนด์แบงก์ให้ปั้นโมเดล การก้าวเดินอย่างสง่านั้นจะดำเนินไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เมื่อรู้กันอยู่ว่าที่ดินไม่สามารถงอกใหม่ได้
โยธินและจีแลนด์เองที่เป็นคนตั้งมาตรฐานไว้ในระดับไฮเอนด์ นั่นหมายความว่าโครงการต่อไปของเขาจะต้องคงไว้ซึ่งมาตรฐานนี้เช่นกัน เพราะการเป็นแชมป์นั้นว่ายากแล้ว แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่า
หวังว่าเหล้าในขวดที่บ่มมานานหลายปีจะมีรสชาติหวานหอมละมุนให้บุญดีเจริญ และรัตนรักษ์ได้ดวลกันจนหยดสุดท้าย
Relate Story