วันจันทร์, ตุลาคม 7, 2024
Home > Cover Story > เยาวราช-ตลาดน้อย เส้นขนานบนรอยทางและรางรถไฟ

เยาวราช-ตลาดน้อย เส้นขนานบนรอยทางและรางรถไฟ

 
ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย รวมไปถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหลายมิติ แม้ความล้ำสมัยของวิทยาการคือตัวแปรสำคัญที่สร้างให้เกิดพลวัตอันจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาในสังคม แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจหมายถึงการคืบคลานเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมทางสังคมดั้งเดิม ซึ่งอาจหมายถึงเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตของชุมชนที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น
 
เยาวราช ถนนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434–พ.ศ.2443 เพื่อให้เยาวราชเป็นสถานที่สำหรับส่งเสริมการค้า เดิมชื่อ “ถนนยุพราช” และได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “ถนนเยาวราช” ซึ่งมีชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เคยได้ชื่อว่าเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์
 
นอกเหนือไปจากเยาวราช ยังมีอีกหนึ่งชุมชนที่เป็นสถานที่อันเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและเสน่ห์ที่ชวนให้ค้นหา แฝงตัวอยู่ในตรอกเล็กๆ บนถนนเจริญกรุง “ตลาดน้อย” ชุมชุนเล็กๆ ที่มีชาวจีนขยายตัวมาจากสำเพ็งเมื่อครั้งที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ด้วยทำเลที่ไม่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามากนัก สร้างความสะดวกในการสัญจร ประกอบกับมีถนนเจริญกรุงตัดผ่าน อีกทั้งคลองผดุงกรุงเกษมไหลผ่าน จึงไม่แปลกหากย่านนี้จะเคยเป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่สามารถรองรับการค้าได้ทั้งทางบกและทางน้ำ
 
ห้องแถวไม้สองชั้นมีจำนวน 20 กว่าห้อง ที่บรรพบุรุษเคยอาศัยอยู่และใช้พื้นที่หน้าบ้านเป็นแหล่งค้าขายทั้งอาหารพื้นถิ่น โรงน้ำแข็ง โรงกลึง ธุรกิจเซียงกง อัตลักษณ์ที่ทำให้คนภายนอกรู้จักและจดจำตลาดน้อยได้มากขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันตรอกนี้จะไม่มีตลาดให้เห็น แต่เมื่อถึงหน้าเทศกาลไหว้บะจ่าง เทศกาลถือศีลกินผัก วันตรุษจีน ชาวตลาดน้อยยังสืบทอดวิถีเดิมจนกระทั่งปัจจุบัน
 
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันส่งผลให้ไชน่าทาวน์ไม่ใช่ย่านธุรกิจที่สำคัญของไทยอีกต่อไป อีกทั้งการขยายตัวของระบบคมนาคมแบบรางที่กำลังแทรกตัวเข้ามาแบบก้าวกระโดด แม้ความก้าวหน้าในด้านการคมนาคมจะมีส่วนช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการย่นระยะทางและเครื่องมือในการช่วยประหยัดเวลาได้อย่างดี คำถามในนาทีนี้คือการเข้ามาแทรกตัวของรถไฟใต้ดินท่ามกลางถนนที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่อย่างไร 
 
แม้ปัจจุบันจะมีเพียงเส้นทางรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินเท่านั้นที่กำลังก่อสร้างอยู่ หากแต่ในอนาคตอันใกล้ โครงการรถไฟสายสีม่วง และสายสีแดง ที่กำลังรอการอนุมัติในหลักการและงบประมาณ กำลังเข้ามาล้อมกรอบชุมชนต่างๆ ทั้งเยาวราช ตลาดน้อย และพื้นที่ต่อเนื่อง ทำให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างระบบรางและการคมนาคมทางน้ำ อีกความหมายหนึ่งคือ ย่านนี้จะมีผู้คนสัญจรผ่านจำนวนมากในอีก 5 ปีข้างหน้า
 
หากมองในมิติของความเจริญที่กำลังห้อมล้อมทุกทิศทาง พื้นที่ดังกล่าวอาจเป็นที่น่าจับตามองสำหรับการเก็งกำไรของนักค้าที่ดิน ที่อาจส่งผลต่อราคาที่ดินที่จะถีบตัวสูงขึ้นในอนาคต แต่ต้องมองในความเป็นจริงว่าย่านดังกล่าวอสังหาริมทรัพย์คงไม่สามารถเติบโตได้อีก นั่นเป็นเพราะความแออัดของพื้นที่ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม 
 
ในขณะที่ข้อกำหนดใหม่ของผังเมืองที่กำหนดให้พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟฟ้ารัศมี 500 เมตรจากสถานี สามารถพัฒนาศักยภาพของอสังหาริมทรัพย์คือ FAR 7:1 +20% ในขณะที่ปัจจุบันกำหนดที่ FAR 3:1 นั่นคือความสูงของอาคารเมื่อเทียบกับพื้นที่ดิน สิ่งนี้เองจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่จะทำให้ภาครัฐและเอกชนรายใหญ่มองเห็นโอกาสในการพัฒนาที่ดินริมน้ำและพื้นที่โดยรอบ
 
ไม่ใช่เพียงเวลาเท่านั้นที่ทำให้เยาวราช ตลาดน้อย และพื้นที่ต่อเนื่อง เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจัยทางกายภาพที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุผลสำคัญที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยกับย่านที่เคยถูกเรียกขานว่า “ศูนย์กลางการค้า” ของกรุงเทพฯ
 
“โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง” จึงเกิดขึ้น โดยสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ โดยการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาย่านตลาดน้อย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ตัวแทนชุมชนในพื้นที่ศึกษา กลุ่มคนรักตลาดน้อย หน่วยงานเอกชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ หน่วยงานราชการ และนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมทั้งข้อเสนอแนะในการกำหนดทิศทางการพัฒนา
 
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูล และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งวางแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่องได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ก่อนจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาย่านเก่าแก่ โดยสะท้อนความต้องการของชุมชนมากที่สุด
 
ศรินพร พุ่มมณี หัวหน้าโครงการบอกว่า ย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง เนื่องจากเป็นย่านไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย มีประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ตลอดจนยังปรากฏวิถีชีวิตของชาวชุมชนที่ไม่สูญสลายไปตามการพัฒนา ซึ่งความตื่นตัวของชุมชนจะมีผลต่อการพัฒนาย่านตลาดน้อย ซึ่งอนาคตจะกลายเป็นทำเลทองในมิติเศรษฐกิจ
 
การประชาสัมพันธ์คือหนึ่งรูปแบบที่หลายหน่วยงานเลือกใช้ เพื่อหวังให้ชุมชนนั้นเป็นที่รู้จักแก่คนภายนอก อาหาร คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของผู้คนในชุมชนได้ดีที่สุด การออกร้านขายอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นิยมกันมาก อาจเพราะความง่ายที่จะจับเอาความต้องการพื้นฐานของมนุษย์มาใช้ แต่ดูจะเป็นการเข้าใจผิดที่แฝงตลกร้ายเมื่อทุกครั้งที่มีการออกร้านขายอาหาร มักเต็มไปด้วยอาหารที่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรู้จักกันดีอย่างส้มตำไก่ย่าง แทนที่จะเป็น “บะจ่าง” อาหารที่ถูกส่งต่อกรรมวิธีการทำจากบรรพบุรุษของคนในชุมชนตลาดน้อย
 
แน่นอนว่าการเข้ามาขององค์กรภายนอก ไม่ว่าจะจากภาครัฐ หรือองค์กรที่เรียกตัวเองว่าผู้ไม่แสวงหากำไร ที่ต้องการฟื้นฟูพื้นที่นั้นๆ เพื่อต้องการให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบเท่าที่จะเป็นไปได้  ในความประสงค์ดีมักแฝงมาด้วยผลประโยชน์ทางธุรกิจ จนบางครั้งอาจมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลในแง่ลบและสร้างความเข้าใจผิดต่อสายตาบุคคลภายนอก จะดีกว่าหรือไม่หากผู้เสนอตัวเข้ามาช่วยพัฒนาจะเปิดตา เปิดใจมอง และรับฟัง พร้อมทั้งทำความเข้าใจว่าอะไรคืออัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นอย่างแท้จริง 
 
แม้ความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่องของอาศรมศิลป์และผังเมืองในรอบนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชนมากขึ้นซึ่งนับเป็นเรื่องดีไม่น้อย แม้จะยังเป็นโครงการเล็กๆ และเพิ่งเริ่มตั้งไข่เท่านั้น ก็ยังดีกว่าหากเปรียบเทียบกับโครงการใหญ่ที่พยายามทำให้เกิดขึ้นโดยอิงกระแสสังคม ซึ่งยังไม่มีการเปิดรับฟังหรือระดมความคิดความเห็นจากประชาชน 
 
การพัฒนาพื้นที่ย่านไชน่าทาวน์หากมองผิวเผิน การกระทำดังกล่าวอาจเหมือนแรงกระเพื่อมหนึ่งของกระแสแห่งการพัฒนาที่ไล่เรียงมาตั้งแต่ ท่ามหาราช ตลาดยอดพิมาน ท่าน้ำจักรวรรดิ ถึงท่าเรือสี่พระยา พื้นที่สาธารณะที่เคยเป็นหน้าเป็นตา ที่บัดนี้ถูกปล่อยปละจนเป็นแค่หลังบ้านเท่านั้น ความพยายามครั้งใหม่คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อปรับให้ท่าน้ำย่านไชน่าทาวน์  6 แห่งนี้กลับมาเป็นประหนึ่งหน้าบ้านของย่านนี้อีกครั้ง
 
ขณะที่แรงกระเพื่อมของการพัฒนาได้สะท้อนไปยังฝั่งตรงข้ามอย่างย่านกะดีจีน และย่านคลองสานก็กำลังได้รับการพัฒนาเช่นกัน โดยเฉพาะย่านกะดีจีนที่ถูกจัดวางให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เพราะมีประวัติศาสตร์ริมน้ำที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญทางศาสนา บ้านขุนนางเจ้าสัว ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน 
 
ย่านคลองสานถูกจัดแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่สำหรับขายอาหาร พื้นที่ธุรกิจการค้า แน่นอนว่า “โครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าและการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน” (โครงการกรุงเทพฯ 250 ) เป็นวาระโครงการฟื้นฟูเมืองกรุงเทพฯ ในวาระครบรอบ 250 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อพลิกฟื้นพื้นที่เมืองชั้นในให้น่าอยู่ และพัฒนาให้เป็นมหานครระดับโลก ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร และ UDDC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) 
 
ดูเหมือนทางฟากฝั่งกะดีจีนและคลองสานจะมีความชัดเจนมากกว่าในการจัดการพื้นที่เพื่อฟื้นฟูและพัฒนา ขณะที่ย่านตลาดน้อยก็เต็มไปด้วยอาคารที่ทรงคุณค่า เช่นบ้านจีนโบราณของเจ้าสัว ที่รู้จักกันดีในชื่อ “บ้านโซว เฮง ไถ” เก๋งจีนดังกล่าวมีรูปแบบสี่เรือนล้อมลานมีอายุกว่า 250 ปี ปัจจุบันบ้านหลังนี้อยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 7 อย่างดวงตะวัน โปษยะจินดา กระนั้นก็ยังมีคำถามถึงความต้องการที่จะพัฒนา คล้ายกับไม่สามารถแยกออกได้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องการการพัฒนา หรือสิ่งไหนควรค่าแก่การอนุรักษ์
 
เยาวราชและชุมชนเล็กๆ อย่างตลาดน้อย รวมไปถึงพื้นที่ริมน้ำแถวท่าราชวงศ์ ถนนทรงวาด และพื้นที่ต่อเนื่อง กำลังถูกตีกรอบด้วยคมนาคมระบบรางที่เหมือนเป็นการถูกบังคับให้ชุมชนต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง แต่ความเข้มแข็งของผู้คนในชุมชนจะสามารถดำรงวิถีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์การค้าที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ได้หรือไม่ หรือจะถูกวัฒนธรรมที่เรียกความเจริญครอบงำ และปล่อยให้ชุมชนย่านนั้นเป็นเพียงหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่หาอ่านได้ตามหนังสือ หรือคำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่เท่านั้น
 
 
เจ๊ยี้ กำลังห่อบะจ่าง เพื่อขายในเทศกาลไหว้บะจ่าง อีกหนึ่งอาชีพที่คนในชุมชนตลาดน้อยยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
 
 
 
 
รางของรถรางบริเวณถนนเจริญกรุง แม้ในปัจจุบันจะไม่มีรถรางวิ่ง แต่ก็ยังมีร่องรอย ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความรุ่งเรืองในอดีตได้ดี
 
 
 
 
ชาวไทยเชื้อสายจีนกำลังสวดมนต์ภายในศาลเจ้าโจวซือกง บริเวณตลาดน้อย ศาลเจ้าที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน
 
 
 
บ้านจีนโบราณ “โซว เฮง ไถ” สิ่งปลูกสร้างแบบสี่เรือนล้อมลาน เก๋งจีนในชุมชนตลาดน้อยที่มีอายุกว่า 250 ปี ปัจจุบันได้กันพื้นที่บางส่วนเปิดธุรกิจสอนดำน้ำ