วันอาทิตย์, ตุลาคม 6, 2024
Home > Cover Story > ศึกชิงแลนด์มาร์ก AEC GLAND ปั้น Super Tower สู้

ศึกชิงแลนด์มาร์ก AEC GLAND ปั้น Super Tower สู้

 
ภาพจำของถนนรัชดาภิเษกของใครหลายคนคงจะไม่พ้นการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีสำหรับคนกลางคืน แต่การเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาและการเติบโตทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของย่านถนนพระราม 9-ถนนรัชดาภิเษก จากการเป็นเพียงแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และแหล่งชอปปิ้งตั้งแต่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่
 
พื้นที่ดินที่ว่างเปล่า แลนด์แบงก์ที่นักพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มองเห็นช่องทางในการทำกำไรจากที่ดินเหล่านี้ เมื่ออุปสงค์มากกว่าอุปทานส่งผลให้มูลค่าของที่ดินบริเวณดังกล่าวมีราคามากกว่าทองคำหลายเท่าตัว ที่ดูจะได้เปรียบมากกว่าใครคงหนีไม่พ้นกลุ่มนักพัฒนาธุรกิจอสังหาฯ ที่มีแลนด์แบงก์อยู่ในมือ และซุ่มพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจอย่างเงียบๆ ที่พร้อมเขย่าพอร์ตและเปลี่ยนหน้าธุรกิจจากถนนของแหล่งบันเทิงยามค่ำ 
 
เมื่อราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการทำรัฐประหาร บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือจีแลนด์ ที่ก่อตั้งได้เพียงแค่ 5 ปี กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองมาก ที่นอกจากจะลงมาเล่นเกมเศรษฐีนักพัฒนาที่ดิน อย่างที่หลายๆ แบรนด์ดังขยันสร้างแลนด์มาร์กกันเป็นว่าเล่น ด้วยการเปิดตัวโครงการสุดท้ายในเดอะแกรนด์พระรามเก้า คือ เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ (The Super Tower) ที่มีความสูงถึง 615 เมตร ประกอบไปด้วยตึกสูง 125 ชั้น และยังประกาศกร้าวที่จะเป็นแลนด์มาร์ก ที่ไม่ใช่เพียงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มองไปถึงการเป็นแลนด์มาร์กของอาเซียน และหวังให้กลายเป็นฮับแห่งใหม่ทางธุรกิจของประเทศและ AEC 
 
จีแลนด์ปักธงรบลงบนพื้นที่ 1.2 ล้านตารางเมตร บนถนนพระราม 9 ตัดรัชดาภิเษก และพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุมและห้องจัดเลี้ยง แหล่งชอปปิ้งค้าปลีก และโรงแรมหรู เงินหมุนเวียนจากโครงการต่างๆ ข้างต้นทำให้สามารถนำมาพัฒนาเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ซึ่งกำลังก่อสร้าง ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562
 
นอกจากจะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยแล้ว ยังจะทำลายสถิติตึกสูงอย่าง Petronas Tower ตึกแฝดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่เป็นแชมป์ตึกสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจาก เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ของค่ายจีแลนด์ของไทย ประเทศมาเลเซียเองยังปั้นแลนด์มาร์กใหม่เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการส่ง Menara Warisan Merdeka Tower หรือ KL118 ที่ตั้งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ โดยมีความสูงถึง 610 เมตร 118 ชั้น เป็นอาคารสูงในรูปแบบโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูสดิเวลลอปเมนต์ รองรับการเติบโตทางธุรกิจในประเทศและการเข้ามาลงทุนของนักธุรกิจต่างชาติ ตอบสนองนโยบายรัฐบาล
 
ถึงแม้มาเลเซียจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ แต่รัฐบาลมาเลเซียก็ยังมีนโยบายผลักดันและสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายในการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงภายในปี 2563 นักลงทุนภาคเอกชนของประเทศมาเลเซียดูจะได้เปรียบในการต่อยอดทางธุรกิจเพราะได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่ค่อนข้างจะมั่นคงกว่าประเทศไทย ดูได้จากการที่มีการลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่มีอาคารสูงเสียดฟ้าทยอยก่อสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง 
 
โดย 5 อันดับตึกสูงในอาเซียน อันดับหนึ่งคือ เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ของไทย สูงถึง 615 เมตร อันดับสอง Menara Warisan Merdeka Tower หรือ KL118 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สูง 610 เมตร อันดับสาม Petronas Tower ตึกแฝดสูง 452 เมตร ของประเทศมาเลเซีย อันดับสี่ Vietinbank Tower1 สูง 363 เมตร กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม และอันดับห้า อาคารมหานคร ของประเทศไทย สูง 310 เมตร
 
ดูเหมือนว่าประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ไม่มีตึกสูงที่ติดอันดับ นั่นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์มีกฎหมายออกมาควบคุมความสูงของอาคารในประเทศที่ไม่ให้เกิน 280 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบด้านการควบคุมสภาพการจราจรทางอากาศ ประกอบกับการออกแบบวางแผนและวางผังเมืองเป็นอย่างดี ทำให้สิงคโปร์มักติดอันดับ “เมืองวิวสวยที่สุด” ทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ ทั้งนี้สิงคโปร์เป็นประเทศที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคง และถูกยกระดับในระนาบเดียวกันทั้งประเทศไม่ใช่เพียงเมืองใดเมืองหนึ่งอย่างที่ประเทศไทยเป็นอยู่
 
ในขณะที่เศรษฐกิจของไทยภายใต้การบริหารงานของหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวถึงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเอาไว้ในงานสัมมนายุทธศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (29 ตุลาคม 2557) โดยปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “New Growth Enginer: New Thailand” ซึ่งเป็นนโยบายเก่าเพียงแต่จับเอามาเล่าใหม่ ในเรื่องการยกร่างกฎหมายเพื่อสนับสนุนดิจิตอลอีโคโนมี เพื่อหวังให้ไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแบบเพื่อนร่วมอาเซียนอย่างสิงคโปร์ ที่ใช้นโยบายเดียวกันในการบริหารและพัฒนาเศรษฐกิจ
 
สำหรับธุรกิจย่านสุขุมวิท สีลม นักลงทุนหน้าเก่ายังคงวางหมากหวังสร้างแลนด์มาร์กลงบนโลเกชั่นเดิมๆ เพิ่มความแออัดให้กับกรุงเทพฯ ชั้นใน จึงเป็นไปได้ยากที่นักธุรกิจหน้าใหม่จะเบียดแทรกตัวและสามารถทะยานขึ้นมาหาอากาศด้านบนได้
 
ที่ดินที่ถอยร่นจากเขตกรุงเทพฯ ชั้นในออกมาก็ยังคงเป็นที่หมายปองของนักลงทุนจากตระกูลดังหน้าเดิมๆ แม้ที่ดินบางแปลงที่ไม่สามารถปิดดีลซื้อขายกันได้ เมื่อเจ้าของที่ดินไม่ยอมปล่อยขายก็ยังยอมรับต่อข้อเสนอการเช่าซื้อที่ดินด้วยสัญญาในระยะยาวเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ อีกทั้งการต่อยอดของเส้นทางรถไฟฟ้าที่ช่วยให้เส้นทางการคมนาคมบริเวณนั้นสะดวกมากขึ้น กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการลงทุนเพราะเม็ดเงินมหาศาลที่จะตามมา
 
ไพร์มแอเรียร์ใหม่เกิดขึ้นเมื่อจีแลนด์สร้างเมืองขนาดย่อมขึ้นโดยให้ขนานไปกับระบบขนส่งมวลชนแบบราง ดูท่าการตัดสินใจเลือกทำเลที่ไม่ใช่ทำเลยอดฮิตติดลมบนอย่างที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเลือกที่จะเบียดตัวอยู่กลางเมือง นับว่าเป็นการขยับตัวที่ฉลาด หลังจากจำศีลและเก็บตัวอยู่เบื้องหลังมานาน เมื่อจีแลนด์ไม่ได้เพียงแค่มองบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเป็นคู่แข่งเท่านั้น แต่การก้าวขึ้นมายืนแถวหน้าบนทำเนียบของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในครั้งนี้ เป้าหมายอยู่ที่การก้าวเข้าสู่ AEC ของไทยในปีหน้าเสียมากกว่า 
 
การยกระดับตัวเองของจีแลนด์จากการมองเห็นพระรามเก้า-รัชดาภิเษก เป็นมากกว่าถนนที่เต็มไปด้วยสถานที่อโคจร และเปลี่ยนให้เป็นทำเลทอง พร้อมทั้งปั้น CBD (Central Business District) แห่งใหม่นอกเหนือจากสุขุมวิทและสีลม เป้าหมายของจีแลนด์คือการเป็นแลนด์มาร์กทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่การจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียน จีแลนด์ต้องพิสูจน์ตัวเองว่ามีศักยภาพมากพอที่จะดึงนักลงทุนให้หันมามองเดอะแกรนด์ พระราม 9 ในฐานะ CBD แห่งใหม่ได้หรือไม่
 
เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ ว่าที่ตึกสูงของไทยและอาเซียน ความสูง 125 ชั้นยังจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยจะเป็นรองก็แค่เพียงอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Burj Khalifa Tower สูง 828 เมตร ตั้งอยู่ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอันดับสองอย่าง Shanghai Tower สูง 632 เมตร ตั้งอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ทั้งนี้ เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ถูกออกแบบให้เป็นอาคารแบบมิกซ์ยูส โดยต้องการให้อาคารนี้รองรับการทำงานตลอด 24 ชั่วโมงของบริษัทต่างชาติระดับชั้นนำของโลกได้
 
แน่นอนว่าคำถามที่มาพร้อมกับความสูงเสียดฟ้าแบบนี้คงไม่พ้นเรื่องความปลอดภัย โครงสร้างของอาคารสูงติดอันดับโลกแห่งนี้จะรองรับหรือมีระบบป้องกันแผ่นดินไหวหรือไม่ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่จะประสบเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งอย่างประเทศญี่ปุ่น จนต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโดยสถาปนิกและวิศวกรที่เชี่ยวชาญงานโครงสร้างอาคารสูงที่พร้อมรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาคารสูงในกรุงเทพฯ จะไม่ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวตามรอยแยกเดิมบริเวณภาคเหนือของไทย
 
จีแลนด์การันตีเรื่องความปลอดภัยของเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ และหวังสร้างความมั่นใจให้กับผู้เช่าพื้นที่ด้วยการจ้างที่ปรึกษาผู้ชำนาญจาก Skindmore, Owings & Merrill LLP (SOM) บริษัทสัญชาติอเมริกัน ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังตึกสูงระฟ้าของโลกมากมาย รวมถึงตึกที่สูงที่สุดของโลกในปัจจุบันด้วย
 
การก้าวเดินของแกรนด์ คาแนล แลนด์ กับอภิมหาโปรเจกต์นี้ที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาทีละส่วนคล้ายการโยนหินถามทาง จนกระทั่งโครงการ เดอะ แกรนด์ พระราม9 กลายเป็นเมืองขนาดย่อม กระทั่งโปรเจกต์สุดท้ายบนที่ดินผืนนี้คงต้องรอดูกันว่า เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ จะได้รับเสียงตอบรับจากนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ เมื่อหัวเรืออย่างโยธิน บุญดีเจริญ ยังเชื่อมั่นว่า “เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้า โครงการเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ จึงเป็นการตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างมิติใหม่ในการนำพาเศรษฐกิจไทย เติบโตขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ พร้อมศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการสร้างความภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ ในการร่วมกันเป็นเจ้าของตึกสูงนี้ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียน และการท่องเที่ยวระดับโลกอีกด้วย”
 
ประเทศไทยต้องการที่จะมีแลนด์มาร์กเป็นตึกสูงติดอันดับโลก และการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบกระจุกตัว ที่ดูสวยหรูแต่เพียงภายนอก แต่เบื้องหลังต้องพยายามถีบตัวให้โผล่พ้นน้ำเพื่อหาอากาศหายใจ หรือต้องการมาตรฐานทางการพัฒนาทั้งทางกายและจิตใจที่สูงขึ้น แต่เป็นไปในระนาบเดียวกันแบบมั่นคงกันแน่
 
Relate Story