วันอังคาร, ตุลาคม 15, 2024
Home > Cover Story > “สยามฟิวเจอร์” รีโนเวตใหญ่ งัดมาสเตอร์แพลนสกัดคู่แข่ง

“สยามฟิวเจอร์” รีโนเวตใหญ่ งัดมาสเตอร์แพลนสกัดคู่แข่ง

 
“นพพร วิฑูรชาติ” สวมบทเสือซุ่มอยู่นาน 2 ปี ปล่อยให้คู่แข่ง ทั้งยักษ์ใหญ่ค้าปลีก บริษัทอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของที่ดินมือใหม่ เปิดเกมขยายแนวรบธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์อย่างดุเดือด ล่าสุด เจ้าพ่อไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ประกาศลั่นกลองรบรีโนเวตสาขาในเครือข่ายครั้งใหญ่ ปรับมาสเตอร์แพลนการดำเนินธุรกิจ เน้นการวางกลยุทธ์การตลาดที่เข้มข้นขึ้น เสริมแม็กเน็ตตัวเด็ดๆ และขยายสาขาใหม่ในทำเลที่มีศักยภาพ โดยประเดิมปรับโฉมศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดาภิเษก ภายใต้แนวคิด The Best Art & Entertainment Complex 2014 
 
แน่นอนว่า เหตุผลข้อสำคัญของการเลือก “เอสพลานาด” เป็นจุดยุทธศาสตร์แรกในสงครามคอมมูนิตี้มอลล์ ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดให้บริการครบ 7 ปี 
 
แต่ทำเลรัชดาภิเษกกลายเป็น “ไข่แดง” และเขตธุรกิจทำเลทองแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์รวมย่านธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทยักษ์ใหญ่ โครงการคอนโดมิเนียม คอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ โรงแรมระดับ 5 ดาว สถานบันเทิง มีเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดิน และที่สำคัญการเปิดศูนย์การค้าเซ็นทรัลพระราม 9 ที่ถือเป็นคู่แข่งหลักช่วงชิงลูกค้าตั้งแต่ต้นทางหัวมุมถนนรัชดาภิเษก
 
ขณะที่ “เอสพลานาด” เจอผลพวงปัญหาธุรกิจฟิตเนส “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” จนกระทั่งวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ประกาศถอนหุ้นในแคลิฟอร์เนีย ว้าว และปิดศูนย์ฟิตเนสในเอสพลานาด ทำให้ยอดลูกค้าหายไปทันที 30% บวกกับสถานการณ์การแข่งขันจากเซ็นทรัลพระราม 9 และปัญหาม็อบระบาดทั่วเมือง 
 
นพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มองความเปลี่ยนแปลงของเอสพลานาดจากห้องทำงานชั้นบนสุด ประกาศทุ่มงบก้อนแรก 40 ล้านบาท รีโนเวต “เอสพลานาด” เพื่อเสริมจุดแข็งด้านศิลปะและความบันเทิง ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์สไตล์โมเดิร์นแห่งแรกในเมืองไทย และเตรียมอัดเม็ดเงินอีกก้อนใหญ่สร้าง “คอนเสิร์ตฮอลล์” ในพื้นที่ด้านหลังในปี 2558 เป็นสเต็ปต่อไป 
 
เขากล่าวว่า สยามฟิวเจอร์เริ่มดำเนินโครงการเอสพลานาด รัชดาภิเษก ตั้งแต่ปี  2547 และเปิดให้บริการลูกค้าอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ปี 2550 โดยมีลักษณะเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่เน้นการตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Arte-tainment Avenue” แบ่งสัดส่วนของร้านค้าและธุรกิจความบันเทิงที่เชื่อมโยงกับศิลปะ 7 แขนง ประกอบด้วย ดนตรี ประติมากรรมภาพวาด วรรณกรรม โรงละครเพลง สถาปัตยกรรม และภาพยนตร์ 
 
“ปีนี้ เราจะยกระดับศูนย์การค้าเอสพลานาดผ่านคอนเซ็ปต์ใหม่ คือ “The Best Art & Entertainment Complex” หรือการเป็นศูนย์กลางของศิลปะและความบันเทิงอันดับหนึ่งของเมืองไทย โดยรีเฟรชแบรนด์ใหม่ จับมือกับผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจชัดเจน สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย และมีดีไซน์การตกแต่งร้านที่นำมาเชื่อมโยงกับศิลปะทั้ง 7 แขนง เพื่อสร้างความน่าสนใจมากขึ้น
 
สำหรับมาสเตอร์แพลนสเต็ปแรก การเสริมแม็กเน็ตใหม่ โดยเฉพาะการจับมือกับกลุ่มทุนเกาหลีเปิดพิพิธภัณฑ์อาร์ต อิน พาราไดซ์ (Art in Paradise) สาขากรุงเทพฯ พื้นที่รวมกว่า 2,500 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนมากกว่า 55 ล้านบาท เพื่อชูจุดเด่นด้านศิลปะสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างเต็มรูปแบบ 
 
ทั้งนี้ กลุ่มทุนเกาหลีภายใต้ชื่อบริษัท อาร์ท อิน พาราไดซ์  เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงภาพแนว Interactive Art หรือภาพ 3 มิติ โดยจิตรกรชาวเกาหลี ซึ่งเป็นทีมศิลปินที่ริเริ่มวาดรูปแนว 3 มิติในประเทศเกาหลี รูปแบบเน้นให้ผู้ชมเข้ามาถ่ายภาพร่วมกับผลงานศิลปะได้ สัมผัสได้ และภาพที่ถ่ายออกมาก็จะแตกต่างกันตามการโพสต์ท่า การแสดงสีหน้าท่าทางของแต่ละคน และล่าสุดเสริมลูกเล่นใหม่ คือ Interactive Media เป็นนิทรรศการ Media Art ใช้เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริง 
 
ปัจจุบัน บริษัท อาร์ท อิน พาราไดซ์ เปิดพิพิธภัณฑ์อาร์ต อิน พาราไดซ์ ในประเทศเกาหลีมากกว่า 20 แห่ง และเลือกมาเปิดสาขาในไทยเป็นประเทศแรกเมื่อปี 2555 ล่าสุดมี 3 สาขา คือ พัทยา เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ รวมทั้งมีแผนขยายสาขาไปยังประเทศจีน ไต้หวัน และเวียดนาม โดยยึดเงื่อนไขหลัก คือ ใน 1 เมือง หรือ 1 จังหวัด เปิด 1 สาขาเท่านั้น 
 
มินเจ คิม ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์อาร์ต อิน พาราไดซ์ สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า บริษัทเลือกลงทุนขยายสาขาต่างประเทศในไทยเป็นประเทศแรก เพราะคนไทยชอบถ่ายภาพมากและมีความสนุกกับการชื่นชมศิลปะ จึงถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพมาก โดยสาขาแรกที่พัทยาจากจำนวนผู้เข้าชมวันแรกเพียง 50 คน ล่าสุดเพิ่มสูงสุดถึงวันละ 18,000 คน หรือเฉลี่ย 1.2 ล้านคนต่อปี 
 
ส่วนการขยายสาขาในเอสพลานาด รัชดาภิเษก เบื้องต้นคาดการณ์จำนวนผู้เข้าชมวันละ 5,000 คน แบ่งสัดส่วนเป็นคนไทย 70% ชาวต่างชาติ 30% ซึ่งรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการถ่ายภาพเป็นกลยุทธ์สอดรับกับพฤติกรรมของคนไทยโดยเฉพาะการแชร์ภาพผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งสยามฟิวเจอร์เองคาดหวังผลตอบรับในแง่จำนวนลูกค้าผู้ใช้บริการ การกระจายภาพลักษณ์แบรนด์เอสพลานาดให้มีสีสันตื่นเต้นมากขึ้น 
 
ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าที่หายไปจากการปิด “แคลิฟอร์เนีย ว้าว” จะมีฟิตเนสใหม่ในเมเจอร์ซินีเพล็กซ์ กรุ๊ป คือ วี ฟิตเนส โซไซตี้ (We Fitness Society) ซึ่งวิชา พูลวรลักษณ์ สร้างแบรนด์ใหม่และกำลังเร่งขยายสาขาแบบเน้นคุณภาพ เพื่อแก้จุดอ่อนต่างๆ จากบทเรียนธุรกิจที่ผ่านมา 
 
ในกลุ่มร้านค้าและบริการมีการปรับเพิ่มสัดส่วนกลุ่มร้านอาหารมากขึ้น เน้นไลฟ์สไตล์ บรรยากาศและการตกแต่งร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารซับเวย์ (Subway) ซึ่งถือเป็นตัวแทนของฟาสต์ฟู้ดสไตล์เทรนดี้เพื่อสุขภาพ ร้านง้วนหลังวัง เป็นตัวแทนของรสชาติความสุขแบบไทยๆ ร้านบอนชอน ชิกเก้น (BonChon Chicken) เป็นตัวแทนร้านอาหารแนวใหม่สไตล์เกาหลีและร้านเคลลี่ บาย ออเดรย์ (Kelly by Audrey) เป็นตัวแทนร้านอาหารนานาชาติผสานบรรยากาศเฟรนช์วินเทจ
 
จากปัจจุบัน ศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดา มีร้านค้าและธุรกิจบันเทิงรวม 120 ร้าน  แม็กเน็ตหลักๆ ได้แก่ โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ ระดับเมกาเพล็กซ์ 12 โรงภาพยนตร์ แบ่งเป็นโรงฉายภาพยนตร์ทั่วไป 10 โรง อีก 2 โรง จัดฉายภาพยนตร์เชิงศิลป์, โรงละคร เมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ จำนวน 1,455ที่นั่ง พื้นที่ประมาณ 3,500 ตารางเมตร 
 
ลานโบว์ลิ่ง บลูโอริธึมแอนด์โบว์ 22 เลน พื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร, มิวสิกพลาซา พื้นที่ด้านดนตรี 300 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดนตรี โรงเรียนสอนดนตรี ร้านขายงานเพลง-ซีดี มิวสิกแกลเลอรี คาราโอเกะ จำนวน 50 ห้อง 
 
นอกจากนี้ มีพื้นที่สำหรับงานประติมากรรม รวมงานภาพเขียน นิทรรศการผลงานปั้น และอาร์ตแกลเลอรี, พื้นที่สำหรับงานวรรณกรรม เวทีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่และนักเขียนอิสระทั่วไป และร้านหนังสือบีทูเอส-เพจวัน พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร  และซัมซุงแฟลกชิฟสโตร์ แห่งแรกของประเทศไทย
 
นพพรคาดว่า การรีเฟรชแบรนด์ใหม่จะสามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเชิงศิลป์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 คน จากเดิมที่มีลูกค้ากลุ่มออฟฟิศเป็นหลักและกลุ่มอื่นๆ รวม 10,000 คนต่อวัน  หรือมากกว่า 40% จากที่หายไปก่อนหน้านี้ 30% 
 
ต้องถือว่าการรีโนเวตเอสพลานาดเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของสยามฟิวเจอร์ ซึ่งตามมาสเตอร์แพลนกำหนดทิศทางการเติบโต 2 แนวทาง คือ การขยายศูนย์การค้าขนาดใหญ่ บิ๊กคอมเพล็กซ์ แบรนด์ “เมกา” ซึ่งล่าสุด สยามฟิวเจอร์จับมือกับกลุ่มอิคาโน่และบริษัท ไทยวนาสิริ จำกัด ตั้งบริษัทร่วมทุน นอร์ธ บางกอก ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการ “เมกา นอร์ธ” บริเวณถนนวงแหวน กม.4  คาดเริ่มก่อสร้างปี 2558 
 
อีกทิศทาง คือการขยายธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ โดยตั้งเป้าขยายสาขาต่อเนื่อง เฉพาะปี 2557 วางแผนเปิดโครงการอย่างน้อย 2-3 สาขา โดยสาขาแรกร่วมกับบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดชอปปิ้งมอลล์ “มาร์เก็ตเพลส รังสิต” ในโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต คลอง 1 ส่วนอีก 2 สาขา อยู่ระหว่างจัดหาที่ดิน และเร่งปรับโฉมสาขาที่มีคู่แข่งเปิดประกบอยู่ เช่น ประชาอุทิศ สุขาภิบาล 3 บางบอน รวมถึงเจอเวนิว 
 
สงครามคอมมูนิตี้มอลล์ที่ร้อนแรงมีโอกาสเดือดพล่านอีกครั้งแน่