วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > On Globalization > สนามกอล์ฟ…ชุมชน

สนามกอล์ฟ…ชุมชน

 
ขออนุญาตย้อนหลังกลับมาพูดเรื่อง “กอล์ฟ” อีกสักครั้ง เพราะเวลาที่พูดถึงกีฬา “กอล์ฟ” ในสังคมไทย อาจทำให้หลายคนนึกถึงหรือติดภาพลักษณ์ว่ากีฬาชนิดนี้เป็นกีฬาของผู้มีอันจะกิน มีปัจจัยของความมีราคาแพง และการพยายามยกสถานะทางสังคมประกอบอยู่ในการเล่นกีฬาชนิดนี้อยู่ไม่น้อย
 
นอกจากนี้ การสร้างสนามกอล์ฟส่วนใหญ่ในเมืองไทย ยังมีประเด็นเกี่ยวเนื่องถึงเรื่องความเป็นธรรม ในการกระจายทรัพยากร และข้อถกเถียงเกี่ยวกับทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยเช่นกัน 
 
แม้ว่าในปัจจุบัน จำนวนคนไทยที่หันมาเล่นกีฬากอล์ฟจะขยายตัว และกระจายไปยังคนกลุ่มต่างๆ เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ภาพลักษณ์ของ “กอล์ฟ” กับการเป็นกีฬาที่จับต้องได้ หรือการเป็นวิถีของประชาชนทั่วไปในสังคมไทย นับว่ายังอยู่ค่อนข้างห่างไกลจากจุดดังกล่าว
 
แต่สำหรับในญี่ปุ่นแล้ว กีฬากอล์ฟ ไม่ได้ให้ภาพที่พิเศษหรือสถานะทางสังคมที่แตกต่างจากกีฬาชนิดอื่นๆ ในญี่ปุ่นเลยนะคะ
             
ขณะที่การสร้างสนามกอล์ฟในหลายกรณี กลับยิ่งต้องเน้นความสำคัญของการออกแบบให้มีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุดอีกด้วย
 
วิธีการจัดการแบบญี่ปุ่นนี่เอง ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญ และน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่นำมากล่าวถึงไว้ในที่แห่งนี้
 
พื้นที่รอบอ่าวโตเกียว เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจในกรณีที่ว่านี้ เพราะนอกจากพื้นที่โดยรอบซึ่งเป็นเกาะที่สร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์จากการถมขยะเพื่อขยายพื้นที่ให้กับเขตอุตสาหกรรมแล้ว พื้นที่ส่วนหนึ่งยังถูกกันไว้เป็นสวนสาธารณะ และสนามกอล์ฟอีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องรับลมและคลื่นจากทะเล
 
จากพื้นที่เสี่ยงภัยจึงแปลงสภาพมาเป็นแหล่งสันทนาการไปโดยปริยาย ซึ่งรวมถึงสนามกอล์ฟ ที่มีสถานะเป็นสนามกอล์ฟชุมชนไปด้วย
 
ที่ผู้เขียนใช้คำว่าสนามกอล์ฟชุมชน ก็เพราะว่าสนามกอล์ฟในพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ บริหารจัดการโดยองค์กรบริหารระดับท้องถิ่น ซึ่งอาจบริหารเองในรูปแบบสวัสดิการชุมชน หรือให้สัมปทานผู้ประกอบการในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ แต่เน้นว่าผลประโยชน์จะต้องกลับมาสู่ชุมชนเป็นหลัก
 
สนามกอล์ฟชุมชนที่ว่านี้ ส่วนใหญ่อยู่ตามแนวเส้นทางของคลองหรือทางน้ำสายย่อยๆ ซึ่งมีทำนบกั้นอย่างดี แต่ในบางช่วงของปีอาจมีน้ำหลากท่วมท้นพื้นที่ขึ้นมา การปลูกสร้างอาคารอย่างถาวรจึงเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยง และทำให้การพัฒนาพื้นที่ในลักษณะดังกล่าวให้เป็นลานกีฬา กลายเป็นคำตอบ
 
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องเป็นสนามกอล์ฟ เป็นลานกีฬาอย่างอื่นไม่ได้หรอกหรือ
 
ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่เหล่านี้แปลงสภาพเป็นลานกีฬาหลากหลาย เพียงแต่ว่า กีฬายอดนิยมในญี่ปุ่น ยังคงหนีไม่พ้นเบสบอล และกอล์ฟ แม้กระแสฟุตบอลโลกกำลังขยับใกล้เข้ามา อาจทำให้กีฬาฟุตบอลในญี่ปุ่นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกก็ตาม แต่กีฬาชนิดอื่นๆ อาจใช้พื้นที่ของสถานศึกษาจัดการได้อยู่แล้ว ต่างจากกอล์ฟที่ต้องใช้พื้นที่กว้างขวาง ซึ่งสมประโยชน์ในมิติของการพัฒนาพื้นที่ไปในคราวเดียวกัน
 
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ไปแวะเวียนสนามกอล์ฟชุมชนประเภทที่ว่านี้ 3-4 แห่ง รอบๆ กรุงโตเกียว ซึ่งมักจะพบเจอชาวญี่ปุ่นใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อการเล่นกอล์ฟ และเล่นเบสบอล ในพื้นที่ต่อเนื่องกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงที่ไม่มีฝน และไม่หนาวจนเกินไป
 
สนามแบบนี้ มักจะมีร้านค้าแบบรถเคลื่อนที่ เป็นประหนึ่งสำนักงานเพื่อการลงทะเบียน ชำระค่าใช้บริการ พร้อมกับจำหน่ายเครื่องดื่ม และอาหารเบาๆ รวมถึง Cup Noodle และบางแห่งอาจมีโอเด้งอุ่นๆ แซมบ้างในบางโอกาส
 
แม้ว่าโดยปกติผู้เขียนจะไม่ค่อยรับประทาน Cup Noodle ด้วยเหตุที่ไม่รู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่จำเป็น แต่เมื่อไปที่สนามแบบนี้ สิ่งที่กลับรู้สึกขาดไม่ได้หลังตีกอล์ฟทุกครั้ง ก็คือ การรับประทาน Cup Noodle ที่ริมสนาม และเฝ้ามองวิถีผู้คนทั้งเด็กๆ หนุ่มสาว ผู้สูงวัย ที่ใช้พื้นที่นั้นร่วมกันอย่างเรียบง่าย กลมกลืน และเป็นประโยชน์ด้วยความรื่นรมย์เป็นอย่างยิ่ง
 
นักกอล์ฟส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนได้พบในสนามกอล์ฟชุมชนเหล่านี้ กว่าร้อยละ 80 เป็นนักกอล์ฟในวัยเกษียณ เรียกได้ว่าเป็นสนามประลองผีมือของนักกอล์ฟสูงวัย ที่มีอายุระหว่าง 55- 80 ปีกันเลยทีเดียว
 
แต่ก็มีบ่อยครั้ง ที่นักกอล์ฟมือใหม่ในวัยที่เพิ่งจะเริ่มทำงาน แวะเวียนเข้ามาฝึกฝีมือพร้อมกับซึมซับบรรยากาศการออกรอบในสนามจริงๆ แม้สนามจะมีขนาดย่อม แต่ก็ดีกว่าที่จะซ้อมตีอยู่ในสนามไดร์ฟอันคับแคบ ซึ่งบางแห่งต้องเรียกว่าตีลูกกอล์ฟใส่กำแพงจะถูกต้องกว่า
 
ที่สำคัญ สนนราคาสำหรับการออกรอบในสนามกอล์ฟชุมชนเหล่านี้ ถูกเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ในสังคมญี่ปุ่น
 
นอกจากนี้ ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬากอล์ฟยังมีอยู่หลากหลาย และส่วนใหญ่ร้านขายอุปกรณ์มือสอง ที่ว่านี้มักจะมีทั้งของใหม่และของใช้แล้วอยู่ด้วยกัน ก็มีแทรกตัวอยู่ทั่วทุกถนน และเป็นแหล่งรวมของลูกค้าทุกระดับชั้น แม้แต่คนที่ไม่ได้เล่นกอล์ฟอย่างจริงจัง ก็ยังสามารถไปเดินดูอยู่ได้นานๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่หลายคนมักจะหาโอกาสไปซอกแซก เผื่อเจอของดีราคาถูกกว่าในประเทศตัวเอง                   
 
การเลือกซื้อเลือกหาอุปกรณ์ หรือสถานที่เพื่อรองรับกับชุมชนผู้เล่นกอล์ฟในญี่ปุ่น จึงมีความหลากหลาย และมีหลายทางเลือกสำหรับผู้คนทุกกลุ่ม ทุกระดับ ซึ่งสะท้อนการบริหารจัดการ และการกระจายทรัพยากรของญี่ปุ่น ที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง