วันพุธ, ตุลาคม 9, 2024
Home > Cover Story > 2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย?

2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย?

 
 
ความเปลี่ยนแปลง นอกจากจะมีลักษณะเป็นอนิจจลักษณ์ที่ยากจะทัดทานต่อการเคลื่อนไปของกาลเวลา บางครั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่งรู้ถึงผลและนำมาซึ่งความแปลกแยกไม่น้อย
 
กรณีว่าด้วยความพยายามของรัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ในการนำเสนอรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านนโยบายและวาทกรรมว่าด้วย ไทยแลนด์ 4.0 มาอย่างต่อเนื่อง ดูจะเป็นตัวอย่างที่เด่นชัดในประเด็นนี้
 
เพราะในมิติที่กว้างขวางและลึกลงไปนั้น หลายฝ่ายยังคงตั้งข้อสังเกตและแสดงความห่วงกังวลต่อรูปธรรมของการพัฒนาดังกล่าวไม่น้อย เพราะในขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งกำเนิดเกิดขึ้นและมีวิถีชีวิตผูกพันกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างมาก จนอาจจะเรียกได้ว่า เป็น Native Digital generation พัฒนาการตามแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 กลับได้รับการกำหนดขึ้นจากกลุ่มผู้มากประสบการณ์ที่สั่งสมภูมิรู้และเติบโตมาจากสังคมในยุคอนาล็อกที่อาจเพิ่งข้ามพ้นเส้นแบ่ง 2G มาสู่ 3G ได้ไม่นาน
 
ขณะเดียวกันประเด็นว่าด้วย ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดต่อเนื่องมาจากแนวการพัฒนากระบวนการผลิตใน Industry 4.0 ซึ่งเป็นแนวความคิดหลังยุคแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมมาสู่ยุคของเทคโนโลยีดิจิทัล ก่อให้เกิดคำถามว่าสังคมไทยได้เคลื่อนผ่านกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมที่ใช้ข้อได้เปรียบด้านแรงงาน หรือพัฒนาข้ามเข้าสู่ยุคหลังอุตสาหกรรมแล้วหรือยัง
 
เพราะในขณะที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจไทยกว่าร้อยละ 80 ยังดำเนินไปท่ามกลางวิถีการผลิตแบบไทยแลนด์ 1.0 และ 2.0 กล่าวคือ ภาคการผลิตไทยยังดำเนินอยู่ภายใต้วิถีแห่งเกษตรกรรม ขณะที่พัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมไทยก็เพิ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต จากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มาสู่การส่งเสริมการผลิตเพื่อส่งออก โดยพึ่งพาการหลั่งไหลของทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยไม่มีการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีการผลิตมากนัก
 
กระนั้นก็ดี ในเอกสารของทางราชการจำนวนไม่น้อยต่างระบุว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 3.0” แล้ว ควบคู่กับการบ่งชี้ประเด็นว่าด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และความไม่สมดุลในการพัฒนา ที่ถูกนิยามว่าเป็น “กับดัก” ของการพัฒนาจนนำไปสู่ความพยายามที่จะปฏิรูปโครงสร้างเพื่อก้าวข้าม “ไทยแลนด์ 3.0” ไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ในปัจจุบัน
 
ความมุ่งหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภายใต้ “ไทยแลนด์ 4.0” ในช่วงเวลานับจากนี้ จึงถูกกำหนดประหนึ่งความหวังที่จะสร้างให้เกิดเป็นเศรษฐกิจใหม่ ที่มีฐานะเป็น New Engines of  Growth ที่สามารถผลักดันรายได้ของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นภายในระยะ 5-6 ปี ท่ามกลางวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากจากกรณีดังกล่าวนี้ก็คือ ความพยายามที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ถูกระบุว่าจะดำเนินไปตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ได้กำหนดสร้างความเข้มแข็งจากภายในควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่อาจฟังดูแปลกหูว่าจะสามารถสอดรับกันได้อย่างกลมกลืนเพียงใด
 
กรอบโครงความคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ได้รับการระบุว่ามีเป้าหมายครอบคลุมมิติต่างๆ ประกอบด้วย การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ด้วยการเป็น “ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่า” ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของเกษตรกรให้เป็น Smart Farmers
 
การยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี จำนวน 100,000 สถานประกอบการ ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 500,000 ราย ภายใน 10 ปี รวมทั้งการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ควบคู่กับการต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
 
แนวทางปฏิบัติเพื่อการขับเคลื่อนไปสู่ไทยเลนด์ 4.0 เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีการระบุถึงการพัฒนาคลัสเตอร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การบ่มเพาะผู้ประกอบการและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แล้วยังได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการเป็นคนไทย 4.0 เพื่อรองรับการพัฒนานี้ด้วย
 
กรณีการพัฒนาคนไทยไปสู่คนไทย 4.0 ได้รับการขยายความด้วยวาทกรรมที่เป็นประหนึ่งการแบ่งชนชั้นและวรรณะสมัยใหม่ เมื่อผู้นำประเทศพยายามอธิบายความแตกต่างของคนในชาติเป็นคนไทย 1.0 2.0 และ 3.0 ในช่วงก่อนหน้านี้ ท่ามกลางข้อสังเกตและข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมไทยโดยเฉพาะภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยได้ขยับมาเป็นคนไทย 3.0 และบางส่วนก้าวข้ามไปสู่การเป็นพลเมืองโลก 4.0 มานานพอสมควรแล้ว 
 
ขณะที่กลไกภาครัฐจำนวนมากยังคงจมจ่อมอยู่กับเงื่อนไขทัศนคติแบบบรรพกาล ที่แม้จะแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพียงใด แต่ก็ยังวนเวียนอยู่กับกรอบโครงความคิดที่อาจจะต่ำกว่าการเป็นคนไทย 1.0 แบบอนาล็อกไปอีกไกลเลยทีเดียว
 
ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่การเป็น “Value-Based Economy” ที่เชื่อมโยงไปสู่การขับเคลื่อนสังคมด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ดูจะก่อให้เกิดคำถามต่อท่วงทำนองของการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2559 อยู่พอสมควร
 
เพราะแม้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับดังกล่าวอาจได้รับความสนใจและวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นด้านหลัก และบางส่วนจะประเมินว่ากรณีดังกล่าวอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับไทยแลนด์ 4.0 มากนัก
 
หากแต่ในความเป็นจริง การพัฒนาคนไทย 4.0 ที่อุดมด้วยความคิดหลากหลาย ด้วยการเปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการถกแถลงแลกเปลี่ยนเพื่อก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ย่อมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเนื้อหาสาระว่าด้วยธุรกิจ การผลิต และอุตสาหกรรม แบบที่จะหล่อหลอมให้พวกเขาเป็นเพียงหุ่นยนต์หรือจักรกลที่ตอบสนองความต้องการในโรงงานเท่านั้น
 
ความสามารถที่จะคิดและแสดงออกอย่างเปิดเผยย่อมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สำหรับศตวรรษที่ 21 มากกว่าการถูกควบคุมบังคับให้ต้องปฏิบัติตามภายใต้กรอบของการรอนสิทธิด้วยเงื่อนไขที่ผูกพันอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน
 
ในขณะที่ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งหมายที่จะพัฒนาวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา ทั้งในกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและการบริการที่มีมูลค่าสูง อาจไม่มีข้อจำกัดมากนัก
 
หากแต่สำหรับการพัฒนาในกลุ่ม ดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตซึ่งประกอบส่วนไปด้วยเทคโนโลยีทางการเงิน เทคโนโลยีการศึกษา อี-มาร์เก็ตเพลส และอี-คอมเมิร์ช การมาถึงของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จะเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวก ที่คอยปกป้องหรือกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่มีนัยความหมายเป็นการควบคุมโดยรัฐ ที่พร้อมจะละเมิดสิทธิของบุคคลและใช้อำนาจเกินขอบเขต
 
ปัญหาที่น่าจับตามองเป็นพิเศษจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขปรับปรุง อยู่ที่จะดำเนินการอย่างไรเมื่อข้อมูลจากหน่วยงานรัฐมีสถานะเป็นข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริงเสียเอง หรือจะอาศัยกรอบโครงความคิดที่ว่า เพื่อผลประโยชน์ของทางราชการและความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน มาเป็นเงื่อนไขให้พ้นจากความผิดตาม พ.ร.บ. นี้
 
จุดเปลี่ยนของประเทศไทยในปี 2560 คงไม่ได้ส่งผลให้เห็นประจักษ์ขึ้นในทันที หากแต่ผู้มีบทบาทในการบริหารและภาคประชาชน ที่กำลังได้รับการยึดโยงให้เป็นประหนึ่งกลุ่มก้อนเดียวกันในนาม ประชารัฐ จะต้องร่วมกันพิจารณา
 
เพราะไทยแลนด์ 4.0 ย่อมไม่สามารถประสบผลสำเร็จหากมุ่งพิจารณาจำกัดเฉพาะการเป็นนโยบายพัฒนาทางเศรษฐกิจ หากแต่ไทยแลนด์ 4.0 ควรมีสถานะเป็นประหนึ่งพิมพ์เขียวสำหรับการรื้อสร้างกรอบโครงความคิดที่ล้าหลังและพ้นสมัย ในลักษณะที่ต้องมี paradigm shift ให้ก้าวหน้าไปสู่สังคมที่มีความพร้อมรองรับความหลากหลายทางความคิด และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนแสดงออกซึ่งศักยภาพและทัศนะ 
 
เพื่อพัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้สู่การเป็น knowledge-based society และ knowledge-based economy ที่ไม่เปล่ากลวง ตีบตัน และสามารถต่อยอดได้จริงต่อไป 
 
สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นปัจจัยบ่งชี้ว่าประเทศไทย พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็น “ประเทศในโลกที่หนึ่ง” ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างแท้จริง