วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Cover Story > ทีซีซี ผนึก “บิ๊กซี” ปูพรมฮุบค้าปลีก

ทีซีซี ผนึก “บิ๊กซี” ปูพรมฮุบค้าปลีก

 
 
การทุ่มเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาท ฮุบกิจการ “บิ๊กซี” ในประเทศไทยจากกลุ่มคาสิโนเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญตามแผนขยายธุรกิจค้าปลีกอย่างครบวงจรของทีซีซีกรุ๊ป ตั้งแต่ธุรกิจศูนย์การค้าหลากหลายรูปแบบสู่ธุรกิจค้าปลีกปลายน้ำทุกโมเดล ทั้งห้างค้าส่ง ไฮเปอร์มาร์เก็ต ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตจนถึงร้านสะดวกซื้อ ที่กำลังปลุกปั้นแบรนด์อย่างเข้มข้นในตลาดอาเซียน 
 
ระยะเวลากว่า 9 เดือน อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และในฐานะซีอีโอ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ดึงฐาปนี สิริวัฒนภักดี ภรรยา ซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กของเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าไปปรับระบบต่างๆ เพื่อแก้จุดอ่อนทั้งหมดของ “บิ๊กซี” เพราะการต่อสู้กับยักษ์ใหญ่อย่าง “เทสโก้ โลตัส” และกลุ่มเซ็นทรัล ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจให้คู่ค้าและผู้บริโภคเห็นถึงศักยภาพ “ทีซีซี” ในฐานะยักษ์ค้าปลีกอีกราย 
 
ขณะเดียวกัน อัศวินต้องเร่งเขย่าแบรนด์ค้าปลีกทั้งหมดในเครือบีเจซี เพื่อสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่ง โดยหวังใช้แบรนด์ “บิ๊กซี” เป็นหัวหอก ทั้งในประเทศไทยและตลาดอาเซียน 
 
สำหรับเครือบีเจซีมีร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 3 แบรนด์ คือ ห้างค้าส่งค้าปลีก “เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต” มี 2 สาขาใน จ.หนองคาย และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ร้านสะดวกซื้อ “บีสมาร์ท” ในประเทศเวียดนาม 151 สาขา และร้านสะดวกซื้อ “เอ็มพอยท์” ใน สปป.ลาวอีก 46 แห่ง 
 
ส่วนร้านขายยาโอเกนกิ ซึ่งเดิมเป็นโครงการทดลองตลาดถูกยุบและปรับแบรนด์เป็นร้านขายยา “เพียว” ของบิ๊กซี รวมถึงเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต จะปรับกลายเป็นสาขาบิ๊กซีทั้งสองแห่งเช่นกัน
 
เมื่อรวมกับ “บิ๊กซี” ล่าสุดมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 737 สาขา ประกอบด้วยบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต 123 สาขา ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ 151 สาขา บิ๊กซีมาร์เก็ต 59 สาขา บิ๊กซีไฮบริด 3 สาขา มินิบิ๊กซี 401 สาขา และร้านขายยา “เพียว” 142 สาขา 
 
อัศวินกล่าวว่า ภายหลังบีเจซีเข้าซื้อกิจการบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ค.2559 โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นรวม 97.94% บริษัทกำลังจัดทำแผนธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะได้ผลสรุปภายในเดือนนี้ 
 
เบื้องต้น ในปี 2560 กลุ่มตั้งงบลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบเปิดสาขาใหม่ของบิ๊กซี 7,000-8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการขยายมินิบิ๊กซี 200 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 9 สาขา และบิ๊กซีมาร์เก็ต 4 สาขา
 
ที่สำคัญ บีเจซีมีแผนเปิดบิ๊กซีในประเทศกัมพูชาภายในปีหน้าตามแนวทางสร้างการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ การกระจายสินค้า และช่องทางขายในไทยสู่ประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาค จากปัจจุบันที่มีสาขาบิ๊กซี ในไทยทุกฟอร์แมตแล้ว ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเครือร้านบีสมาร์ทในเวียดนามและร้านเอ็มพอยท์ มาร์ท ในลาวด้วย
 
ด้านธุรกิจกลุ่มศูนย์การค้า (Retail Developer) มี 2 บริษัท คือ บริษัท ทีซีซีแลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ที่มีโสมพัฒน์ ไตรโสรัส ลูกเขยอีกคนของเจริญ นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เร่งปักหมุดกระจายตามจุดหลักๆ ของประเทศ และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) ซึ่งปณต สิริวัฒนภักดี ลูกชายคนเล็ก นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลุยนโยบายพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบ Mix Used โดยประเดิมเปิดตัวศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา สตรีทมอลล์แนวคิดใหม่ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นโครงการแรก และเตรียมผุดโปรเจ็กต์ยักษ์ “ลุมพินีสแควร์” บริเวณที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิม หัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุ ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื้อที่เกือบ 90 ไร่ 
 
ล่าสุด กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ออกมาเปิดเผยยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจ 10 ปีข้างหน้า (2560-2569) เพื่อเป้าหมายการเป็น 1 ใน 3 ของผู้นำธุรกิจค้าปลีกไทยจากปัจจุบันอยู่ในอันดับ 4 และเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าในตลาดอาเซียน โดยเตรียมงบลงทุน 4 หมื่นล้านบาท  ขยายการลงทุนในธุรกิจรีเทล 5 แบรนด์ 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ เอเชียทีค, เกตเวย์, พันธุ์ทิพย์, เซ็นเตอร์พอยท์ และบ็อกซ์ สเปซ หลังจากทดลองตลาดทั้ง 5 แพลตฟอร์มสามารถตอบโจทย์ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 
 
แผนดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ การลงทุนโครงการใหม่ทั้ง 5 แพลตฟอร์มในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 8-10 โครงการ งบลงทุนรวม 20,000 ล้านบาท 
 
การพัฒนาโครงการในต่างจังหวัด ซึ่งจะผสมผสานโนว์ฮาวจากทั้ง 5 แพลตฟอร์มและสร้างแบรนด์ใหม่ ตอบโจทย์ในแต่ละทำเล แต่ละจังหวัด 10 โครงการ งบลงทุนอีก 20,000 ล้านบาท และการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีนักธุรกิจติดต่อให้เข้าไปลงทุนทั้งในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยรูปแบบการลงทุนอยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งการร่วมทุน  การลงทุนเอง และการเข้าซื้อกิจการ
 
นอกจากนี้ จะผนึกกับธุรกิจในเครือ เพื่อนำสินค้าและบริการต่างๆ เข้ามาอยู่ภายในศูนย์ เช่น บิ๊กซี หรือการเปิดฟู้ดคอร์ทระดับพรีเมียม “ฟู้ดสตรีท” ในศูนย์การค้าทุกแห่ง และบริหารโดยบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด  ซึ่งฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งขึ้นเพื่อรุกธุรกิจอาหาร รวมถึงแผนสร้างเรือรบหลวง ในสมัยรัชกาลที่ 5 จอดเทียบท่าเอเชียทีค ให้บริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย เข้ามาพัฒนาเป็นร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง เพื่อสร้างจุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยว 
 
หากบรรลุตามแผนทั้งหมด ทีซีซีแลนด์ตั้งเป้าจะสร้างรายได้ก้าวกระโดดแตะ 10,000 ล้านบาทภายในปี 2569 จากปี 2559 ที่มีรายได้รวม 2,000 ล้านบาท  เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อเนื่องทุกปี
 
เมื่อผนึกรวมกับเครือข่ายค้าปลีกของบีเจซี แผนฮุบธุรกิจค้าปลีกไม่ไกลเกินฝันแล้ว