วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > ก้าวใหม่ของนักวิจัยไทย ปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เป็นยา

ก้าวใหม่ของนักวิจัยไทย ปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เป็นยา

 
 
สตรอว์เบอร์รี่ นับเป็นผลไม้เมืองหนาวที่คนไทยนิยมบริโภค แม้ว่าในปัจจุบันจะมีสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ต่างๆ มากมายให้เลือก แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดน่าจะเป็น “สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80” 
 
แม้จะมีกลิ่นหอม รสชาติหวาน สีและรูปทรงที่สวยงาม อีกทั้งยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทย แต่ข้อด้อยบางประการของสตรอว์เบอร์รี่ของไทยนั้น คือ มีสารแอนโทไซยานินน้อย ผิวบาง ช้ำเสียง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขนส่ง
 
ครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญยิ่งของนักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่มีโครงการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานิน และการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 
 
ซึ่งหากงานวิจัยครั้งนี้บรรลุวัตถุประสงค์ จะทำให้ได้สตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ที่มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงขึ้น เป็นประโยชน์ทางโภชนาการต่อผู้บริโภค 
 
กระนั้นนักวิจัยกลุ่มนี้ ซึ่งนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยประสบความสำเร็จจากงานวิจัยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 แบบไร้ไวรัสสำเร็จเป็นแห่งแรกของไทย เมื่อปี พ.ศ.2558 ซึ่งในครั้งนั้นใช้เวลาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมานานกว่า 2 ปี
 
และผลงานวิจัยในครั้งนั้น ทำให้คณะวิจัยได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง และให้ผลผลิตในปริมาณมากอีกทั้งยังปราศจากการเข้าทำลายของโรค ซึ่งการประสบความสำเร็จเพียงเรื่องเดียวก็ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าดีพอ เมื่อหมุดหมายใหม่ของนักวิจัยคณะนี้ นับเป็นย่างก้าวที่สำคัญ และทวีความยากในงานวิจัยมากขึ้นหลายเท่าตัว 
 
กับโจทย์ใหม่ที่ว่า ทำอย่างไรให้สตรอว์เบอร์รี่มีคุณประโยชน์สูง รับประทานเป็นยามากกว่าแค่กินเป็นผลไม้ 
 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) จึงได้การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานินและการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และมงคล ศิริจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีมูลนิธิโครงการหลวงร่วมสนับสนุนทุนวิจัย
 
อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยในครั้งนี้ มีการปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ให้มีปริมาณแอนโทไซยานินสูงขึ้น ซึ่งเลือกจากคู่ผสม 6 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พระราชทาน 80, 72, 70, 50  และสายพันธุ์ 329 จากประเทศอิสราเอล และพันธุ์อาคิฮิเมะ จากประเทศญี่ปุ่น
 
แม้ว่าสตรอว์เบอร์รี่ของไทยจะสามารถปลูกได้บนพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ที่ได้ผลผลิตดี กระนั้นนักวิจัยได้เล็งเห็นว่า จังหวัดเพชรบูรณ์เองก็มีสภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับพื้นที่ในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งในช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 องศาเซลเซียส และอำเภอเขาค้อมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 700 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกสตรอว์เบอร์รี่ 
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่พบในการปลูกสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน 80 คือ สายพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้าในปัจจุบันนี้ยังคงมีปริมาณแอนโทไซยานินและสารต้านอนุมูลอิสระที่ต่ำ คณะวิจัยจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม (Conventional Breeding) ของพ่อและแม่พันธุ์ โดยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีศักยภาพในการผลิตสารแอนโทไซยานินและสารต้านอนุมูลอิสระ
 
แอนโทไซยานิน เป็นรงควัตถุหรือสารสี (Pigment) ที่ให้สีแดง ม่วง และน้ำเงิน ใช้เป็นสารให้สีธรรมชาติในอาหาร สารสกัดแอนโทไซยานิน มีสมบัติเป็นโภชนเภสัช เป็นสารด้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ชะลอความเสื่อมของดวงตา อาหารที่มีแอนโทไซยานิน เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ที่มีสีม่วง แดง
 
ทั้งนี้แอนโทไซยานินมีหน้าที่ปกป้องผักและผลไม้จากการทำลายของรังสีอัลตราไวโอเลต มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ การวิจัยพบว่าสารกลุ่มแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของไขมันแอลดีแอล (LDL) และยังทำให้เซลล์บุผนังหลอดเลือดมีความอ่อนนิ่ม 
 
ผศ.ดร.พีระศักดิ์อธิบายให้เห็นชัดมากขึ้นว่า “สตรอว์เบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่ใช้ยาฆ่าแมลงค่อนข้างเยอะ เพราะประเทศเราเป็นประเทศเขตร้อนจึงมีแมลงและโรคเยอะ แต่โครงการหลวงเป็นแหล่งผลิตสตรอว์เบอร์รี่ที่มีคุณภาพดี เพราะมีการตรวจสอบสารพิษตกค้างเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในผลผลิต ซึ่งเป็นจุดเด่น” 
 
สำหรับโครงการวิจัยนี้ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ตั้งเป้าหมายต่อจากนี้ว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี ในการสร้างสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ที่นอกจากจะรับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถรับประทานเป็นยาได้อีกด้วย 
 
ซึ่งหลังจากคณะวิจัยได้พันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการแล้ว จะนำส่งให้มูลนิธิโครงการหลวง เพื่อที่จะส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกต่อไป 
 
นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปลูกสตรอว์เบอร์รี่บนพื้นที่เขาค้ออีกว่า เกิดจากมูลนิธิโครงการหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้ชาวไทยภูเขาปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกฝิ่นเมื่อปี พ.ศ.2512 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่ชื่อว่า 16 มาให้ทดลองปลูก ซึ่งเป็นพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่นำเข้ามาจากต่างประเทศ กระทั่งผ่านไป 20 ปี จึงมีการพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ของไทยขึ้นมาเอง เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 
 
แม้ว่าปัจจุบันโครงการหลวงจะมีสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่หลายหลายสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องค้นคว้าพัฒนาเพื่อให้ได้สายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี่ที่ดีที่สุด โดยก่อนหน้านี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานเงินจำนวน 5 แสนบาท เพื่อให้มูลนิธิใช้เพื่อปรับปรุงพันธุ์
 
กระทั่งได้สตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อพันธุ์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้ว่า “พันธุ์พระราชทาน 88” ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสมระหว่างพันธุ์พระราชทาน 80 และพันธุ์พระราชทาน 60 ซึ่งผลผลิตที่ได้มีคุณสมบัติที่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในเมืองไทย นอกจากนี้ยังมีกลิ่นหอม ผิวคงทนต่อการขนส่ง เนื้อผลละเอียดให้ความรู้สึกละลายในปากเมื่อรับประทาน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะนำออกจำหน่ายในปลายปีนี้ในลักษณะสตรอว์เบอร์รี่เกรดพรีเมียม และจะส่งมอบให้ชาวบ้านนำไปปลูกได้ในอีก 1-2 ปี 
 
หลังจากที่เกษตรกรทราบข่าวโครงการวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่สนับสนุนโดย สกว. และมูลนิธิโครงการหลวง ชาวเขาหลายเผ่าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขอให้สำเร็จในเร็ววัน และเป็นไปได้ขอให้สำเร็จก่อนกำหนดเวลา” 
 
ทั้งนี้หากผลงานวิจัยครั้งนี้ของนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประสบความสำเร็จ นอกจากจะช่วยให้ชาวเขามีผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติที่ดี และไม่ใช่เพียงสามารถสู้กับตลาดผลไม้เมืองนอกได้เท่านั้น หากแต่ยังสามารถต่อยอดไปในเรื่องของการแพทย์ได้อีกด้วย เมื่อสตรอว์เบอร์รี่สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังถือกำเนิดขึ้น จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลไม้อีกต่อไป เมื่อเราจะได้รับประทานสตรอว์เบอร์รี่เพื่อเป็นยาขนานหนึ่ง