วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > มองยุทธศาสตร์พลังงาน สปป.ลาว ผ่านโรงไฟฟ้าหงสา

มองยุทธศาสตร์พลังงาน สปป.ลาว ผ่านโรงไฟฟ้าหงสา

 
 
ข่าวโครงการก่อสร้างเขื่อนฮูสะโฮงในเขตพื้นที่สี่พันดอน สปป.ลาว ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 260 เมกะวัตต์ ในลำน้ำโขงถูกเผยแพร่และเป็นที่จับตามองอย่างมาก เมื่อมีทั้งกระแสการต่อต้านจากบางองค์กรที่แสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากผลกระทบต่อการอพยพประจำฤดูกาลของปลาในแม่น้ำ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำ
 
กระนั้นก็ยังมีกระแสสนับสนุนจากชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงบางส่วนที่ยืนยันว่าได้รับความช่วยเหลือในหลายๆ ด้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแม้จะต้องถูกโยกย้ายถิ่นที่อยู่ อีกทั้งยังสามารถจับปลาเพื่อส่งขายตลาดในเมืองได้มากขึ้นด้วย
 
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจจะหมายถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศให้กลายเป็น “แหล่งพลังงานที่มั่นคงให้ภูมิภาคอาเซียน” หรือ “Battery of ASEAN” 
 
เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ซึ่งตั้งอยู่เมืองหงสา แขวงไซยะบูลี เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยฉายภาพความต้องการเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของอาเซียนให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งนโยบายของรัฐบาลลาวนั้นมีมาตรการที่ดำเนินไปอย่างสอดรับกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่ 
 
แม้ว่าในช่วงแรกของการเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้าหงสาจะมีปัญหาประเดประดังเข้ามารอบด้าน ทั้งในเรื่องการทิ้งงานจากผู้ลงทุนรายแรกจากไทยเนื่องจากขาดเงินทุน และการฟ้องร้องกรณีการหลอกลวงโดยการเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุน หรือกรณีปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การต้องอพยพโยกย้ายถิ่นที่อยู่ของประชาชนในพื้นที่
 
ซึ่งหลังจากได้มีการสำรวจแหล่งถ่านหินในพื้นที่เมืองหงสาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ได้มีความพยายามในการพัฒนาโครงการมาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2552 รัฐบาลลาวได้อนุมัติสัมปทานให้กับบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด และได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบันหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยของโรงไฟฟ้าหงสาได้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบทุกหน่วยแล้ว 
 
การที่โรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าลิกไนต์แห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในลาว และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 1,878 เมกะวัตต์ ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องของมาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชน
 
บริษัทไฟฟ้าหงสา มีการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในการดักจับและกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องดักจับฝุ่นระบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipatator-ESP) ที่สามารถดักจับฝุ่นจากกระบวนการผลิตได้ถึง 99.83 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulfurization-FGD) ที่กำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตได้มากกว่า 92 เปอร์เซ็นต์ และสูงถึง 98 เปอร์เซ็นต์ 
 
อีกทั้งยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Monitoring Station-AQMS) ในชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ในระยะ 1 กิโลเมตร 3 กิโลเมตร และ 5 กิโลเมตร โดยที่ผลการตรวจวัดจะส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลลาวและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
 
กระนั้นยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลเรื่องมลพิษข้ามแดน เนื่องจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์แห่งนี้อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่จังหวัดน่านเพียง 30 กิโลเมตร อีกทั้งลักษณะของเหมืองเป็นเหมืองเปิดคล้ายกับเหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง 
 
ซึ่งบริษัทที่ได้รับสัมปทานยังทำการตรวจวัดสภาพอากาศที่จังหวัดน่านเพื่อเก็บเป็นข้อมูล พร้อมกับติดตั้ง AQMS ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอเฉลิมพระเกียรติจังหวัดน่าน นอกเหนือจากการจัดการปัญหาด้านมลพิษแล้ว กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่งที่บริษัท ไฟฟ้าหงสา ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดระยะสัมปทานคือ การปลูกป่าในพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่ที่รัฐบาลลาวกำหนด 
 
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่บริษัทสัมปทานจะต้องจัดการตามเงื่อนไขสัมปทานที่ลาวให้แล้ว ยังมีการจัดการด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนประมาณ 450 ครอบครัว ให้มีบ้านพร้อมที่ดินทำกิน อีกทั้งพันธสัญญาที่โครงการมีต่อครอบครัวที่ถูกโยกย้าย และการฝึกอาชีพสร้างรายได้ โดยแต่ละครอบครัวต้องได้รับการพัฒนาให้มีรายได้พ้นขีดความยากจนภายใน 3 ปี และรายได้แต่ละครอบครัวเพิ่มขึ้น 150 เปอร์เซ็นต์ใน 10 ปี 
 
การพัฒนาโรงไฟฟ้าหงสาถือเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาว-ไทย ซึ่งจากข้อมูลการนำเข้าและส่งออกจากด่านศุลกากรทุ่งช้าง ตั้งแต่ปี 2554-2558 พบว่า เฉพาะสินค้าส่งออกจากไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1.3 พันล้านบาท เป็น 3 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างแขวงไชยะบูลี แขวงหลวงพระบาง แขวงอุดมไซ ใน สปป.ลาว เมืองเดียน เบียน ฟู ในเวียดนาม และจังหวัดน่าน ในการสร้างวงกลมเศรษฐกิจที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยมาลงทุนใน สปป.ลาว และส่งสินค้าผ่านไปยังเวียดนาม 
 
ทั้งนี้มาตรการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว นั้นดูจะสอดคล้องกับทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศ ที่ถูกสำรวจโดยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ในปี 2549 อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากจีน ซึ่งค้นพบแร่ที่มีมูลค่าสูงใน สปป.ลาวกว่า 570 แห่ง ทั้งทองแดง ทองคำ แร่เงิน เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี ยิปซัม และถ่านหิน
 
แม้ว่ารัฐบาลแห่ง สปป.ลาวจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้ามาทำสัมปทานธุรกิจเหมืองแร่ แต่ต้องดำเนินโครงการภายใต้เงื่อนไขที่จะไม่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของประชาชน และไม่กระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
 
กระนั้น สปป.ลาว ยังคงมุ่งที่จะพัฒนาด้านไฟฟ้าโดยมีการปรับยุทธศาสตร์ให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนลาวและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ปัจจุบัน สปป.ลาว มีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจำหนวน 24 แห่ง และกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก 38 โครงการ ส่วนอีก 300 โครงการยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้มีการศึกษาและพบว่าการสร้างเขื่อนจะทำให้ประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 30,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ว่า ทางการไทยยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะซื้อพลังงานไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในปริมาณรวม 7,000 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
 
ทั้งนี้หมุดหมายสำคัญที่ทำให้รัฐบาล สปป.ลาว เร่งพัฒนายุทธศาสตร์พลังงานและยังเพิ่มโครงข่ายการส่งกระแสไฟฟ้าภายในให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือการตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้ามากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด ภายในปี 2563
 
ซึ่งความสามารถและแผนงานในการเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของ สปป.ลาว อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ หากเปรียบเทียบกับไทยที่มีความพยายามที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งในรูปแบบของพลังงานธรรมชาติ พลังงานสะอาด หรือพลังงานความร้อนจากถ่านหิน หากแต่ก็มักจะประสบปัญหาและถูกคัดค้าน อันเนื่องมาจากความกังวลเรื่องของความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของผู้คนในชุมชนใกล้เคียง
 
ในขณะที่บริษัทพลังงานของไทยที่ได้รับสัมปทานพลังงานในลาว กลับหยิบจับเอาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะลดปัญหาดังกล่าวได้ 
 
ธุรกิจด้านพลังงานที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นใน สปป.ลาว จะเป็นไปในทิศทางใด จังหวะก้าวแห่งความต้องการจะเป็น Battery of ASEAN อาจมีนัยความหมายกว้างไกลไปสู่ Power Generator ที่น่าจับตาอย่างยิ่ง