วันจันทร์, ตุลาคม 14, 2024
Home > Cover Story > น่านนครเสน่ห์ที่ควรอนุรักษ์ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

น่านนครเสน่ห์ที่ควรอนุรักษ์ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 
 
น่านจังหวัดทางภาคเหนือของไทยที่อาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวเท่าใดนัก และมักมีคำกล่าวที่ขยายความให้เข้าใจแจ่มชัดยิ่งขึ้นว่า “ถ้าไม่ตั้งใจไป ก็ไปไม่ถึง” 
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 2-3 ปีก่อนหน้าการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านดูจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออกแคมเปญเพื่อรณรงค์การท่องเที่ยว โดยประกาศให้น่าน เป็น 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาดในปี 2558 ซึ่งนี่เองที่ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดน่านเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยว
 
ด้วยมนต์เสน่ห์ของน่านนครที่อุดมไปด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนา สถานที่ท่องเที่ยว วัดวาอารมที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของชาติพันธุ์ได้เป็นอย่างดี วิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นที่ดำเนินไปด้วยความสงบเรียบง่าย จึงเป็นตัวดึงดูดผู้คนให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันออกไป
 
การขยายตัวธุรกิจการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน เพื่อรองรับอัตราการเติบโต และการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องของขอบเขตการพัฒนาทั้งในเชิงศักยภาพของการบริการ และการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยว
 
บทเรียนที่เห็นเด่นชัดคือความล่มสลายของเมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากนักท่องเที่ยว และถูกดูดกลืนวัฒนธรรมจนไม่หลงเหลือเสน่ห์ให้ค้นหามากนัก
 
คนในเมืองน่านมีลักษณะเป็น Soft Culture หากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวของน่านต้องการให้จังหวัดพัฒนาด้านศักยภาพเพื่อรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ จะส่งผลให้คนนอกที่เข้ามาในพื้นที่มาพร้อมกับ Hard Culture ซึ่งจะทำให้คนน่านกลายเป็นผลเมืองชั้นสองในทันที
 
เมื่อมองจากภาพรวมของเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน การเข้ามาของกลุ่มทุนทั้งจากจีน เวียดนาม หรือกระทั่งคนไทยจากเมืองหลวง มักส่งผลต่อความเป็นธรรมชาติของเมืองนั้นๆ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งรายได้ของเมือง รายได้ของประชากรที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นก็ตาม
 
กระนั้นสิ่งที่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องพึงกระทำ คือการพัฒนาจังหวัดน่านแบบยั่งยืน ค่อยเป็นค่อยไป ทั้งเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เริ่มไปแล้วเมื่อปลายปี 2558 และยังจะต้องสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรองรับการเชื่อมต่อในฐานะเมืองหน้าด่าน ที่น่านจะต้องทำหน้าที่ประดุจประตูสู่เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
เมื่อสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ เนด้า หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหง-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) โดยมีระยะทางรวมประมาณ 114 กิโลเมตร ภายใต้กรอบวงเงิน 1,977 ล้านบาท 
 
ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวจากจุดผ่านแดนห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ด้วยระยะเวลาเดินทางเพียง 2.5 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เวลามากกว่า 5-6 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์เมืองคู่แฝดน่าน-หลวงพระบาง ประชาชนของทั้งสองประเทศจะได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างถนนดังกล่าว ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตามแนวเส้นทางโครงการจาก จ.น่าน ถึงหลวงพระบางอีกด้วย
 
นอกจากนี้เส้นทางดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเดินทางจาก จ.น่าน ประเทศไทย ไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ผ่านถนนหมายเลข 13 และ 6 ใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อระบบการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนไปสู่ สปป.ลาว และเวียดนาม 
 
ทั้งยังสนับสนุนการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งในอนาคตจังหวัดน่านจะเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ การลงทุนตามแนวชายแดน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ ขยายโอกาสในการสร้างความเจริญให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเดินทางและขนส่งสินค้าผ่านแดนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพความแข็งแกร่งด้านโลจิสติกของไทย ให้เตรียมพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือ Asean Community ในอนาคตต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากเส้นทางที่เชื่อมโยงน่านสู่เมืองหลวงพระบางสำเร็จลุล่วง น่านจำเป็นที่จะต้องวางยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นหากเส้นทางหงสา-เชียงแมน แล้วเสร็จปี 2561
 
โดยวิทยาลัยชุมชนน่านวางยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวในจังหวัดน่านด้วยการสนับสนุนการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรการท่องเที่ยวที่จะเน้นหนักและให้ความสำคัญการเรียนการสอนด้านภาษา และยังมีการเปิดสอนมัคคุเทศก์ท้องถิ่น งานมัคคุเทศก์ การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
 
อีกทั้งยังมีมาตรการสนับสนุนนักศึกษาซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาของหน่วยงานที่เข้ามาพัฒนาทั้งด้านโลจิสติก เพื่อเชื่อมโยงน่านไปลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้
 
นอกจากการพัฒนาศักยภาพในด้านการศึกษาที่หนุนนำส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดน่านได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แนวทางการพัฒนาของน่านจึงดำเนินไปภายใต้กรอบโครงที่ว่า การทำให้เมืองน่านเป็นเมืองที่มีจุดขายทางธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม 
 
ซึ่งพันธุ์พัฒน์ พิชา รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน ขยายความว่า “น่านเปิดเมืองจริงๆ ประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว น่านเป็นเมืองปิดเพราะต้องการจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทำให้บ้านเมืองชะลอการขยายตัว” นอกจากนี้ข้อดีอีกประการหนึ่งคือราคาที่ดินในตัวเมืองที่ค่อนข้างสูง ทำให้โครงการธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้ยาก นักลงทุนไม่กล้าเสี่ยงมากนัก เมื่อมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาการคุ้มทุน
 
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่น่านไม่ใช่จุดหมายปลายทางแรกของนักท่องเที่ยว ที่ถึงแม้ว่าปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวจากปีที่ผ่านมา (2558) จะสูงถึง 5 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า หากเส้นทางหงสา-เชียงแมน แล้วเสร็จ น่านอาจจะเป็นแค่ทางผ่านสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อไปหลวงพระบางเท่านั้น
 
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว การบ้านหนักที่ทุกภาคส่วนจะต้องรับกลยุทธ์เพื่อแก้เกม ซึ่งนอกจากจะต้องดึงนักท่องเที่ยวไว้ให้ได้แล้ว ยังต้องดำเนินไปภายใต้กรอบโครงที่ไม่ทำลายเสน่ห์ทางธรรมชาติของน่านนครอีกด้วย
 
น่าน เมืองเล็กๆ ที่เสมือนแอบซ่อนอยู่กลางหุบเขา แต่มากมายไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จะดำเนินไปในทิศทางใดเป็นเรื่องที่น่าติดตาม