วันเสาร์, ตุลาคม 12, 2024
Home > Cover Story > NIA เผยงานวิจัยเพื่อสุขภาพและสุขภาวะ โอกาสสตาร์ทอัปสร้างนวัตกรรมรับมือ

NIA เผยงานวิจัยเพื่อสุขภาพและสุขภาวะ โอกาสสตาร์ทอัปสร้างนวัตกรรมรับมือ

เศรษฐกิจและสุขภาพมีความสัมพันธ์อย่างไม่อาจเลี่ยง จากข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมามักจะสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และระบบบริการสุขภาพของประเทศ

และอย่างที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 13 ล้านคนของประชากรไทยทั้งประเทศ 66,057,967 คน

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ เศรษฐกิจด้านสุขภาวะ GenZ ตอบสนองต่อสินค้าและบริการดิจิทัลด้านสุขภาพสูงกว่าคนกลุ่มอื่นถึง 2 เท่า และยินดีแลกเปลี่ยน เปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพเชิงลึกของตนเองกับส่วนลดบริการด้านสุขภาพมากขึ้น

“ปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตและความเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยหลากหลายประการ โดยข้อมูลจากคลังข้อมูลทางการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานถึงความเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช ซึ่งพบว่าสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 จากจำนวนผู้ป่วยที่มารับบริการด้านจิตเวช 1.3 ล้านคนในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 2.4 ล้านคน ปัญหาที่พบส่วนใหญ่พบได้ในทุกช่วงวัย เช่น เด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียดและความวิตกกังวล อีกทั้งยังป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทำร้ายตัวเอง” นพ.พงศ์เกษฒ ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว ก่อนจะขยายความเพิ่มเติมว่า

“ปัจจุบันกว่า 8 แสนคนมีโรคความจำเสื่อมและในจำนวนนี้ร้อยละ 90 ประสบปัญหาทางสุขภาพจิตร่วมด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนไทยมีสุขภาวะทางกายและใจที่สมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการเจ็บป่วยต้องลดลง ขณะที่ผู้เจ็บป่วยก็สามารถรู้เท่าทันสัญญาณเตือนต่างๆ ด้วยตนเองและเข้าถึงระบบการรักษาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แต่นโยบายที่จะทำให้การดูแลนั้นสมบูรณ์ทั้งกายและใจแบบองค์รวมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากนโยบายไม่ได้มุ่งเน้นที่การส่งเสริมและการดูแลตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมเรื่องสุขภาพกายและใจ ตั้งแต่ระดับบุคคลในครอบครัวก่อนจะนำไปสู่สังคมและชุมชน ที่สำคัญที่สุดคือทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นที่จะทุ่มเทให้ความสำคัญในทุกด้านของสุขภาพจิต และช่วยกันพัฒนา เพื่อให้สุขภาพจิตเป็นเรื่องของทุกคนต่อไป”

NIA คือ หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัปพัฒนาธุรกิจ ที่มีแนวคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างประโยชน์และความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจ ครั้งนี้ NIA และอีก 3 หน่วยงานร่วมเปิดเผยงานวิจัยที่สำคัญต่อสุขภาพของคนไทย ทั้งเพื่อให้คนไทยได้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นแนวทางให้กลุ่มสตาร์ทอัปใช้เป็นแนวทางการทำธุรกิจ

งานวิจัย อนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Health and Wellness in Thailand 2033) ที่มีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรมสุขภาพจิต สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวลล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด อยู่เบื้องหลัง

จุดมุ่งหมายของงานวิจัยชิ้นนี้คือ เพื่อที่จะนำเสนอองค์ความรู้ด้านสุขภาพและสุขภาวะ ประเด็นปัญหาสำคัญ สถานการณ์ปัจจุบัน สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ภาพอนาคต และข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพและสุขภาวะทั้งในมิติสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม กฎหมาย นโยบาย และค่านิยม รวมทั้งเพื่อออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ต่อการดูแลสุขภาพและสุขภาวะของสังคมไทย

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ที่เราร่วมศึกษาและมองหาสัญญาณแห่งอนาคต ว่ามีมิติไหนบ้างที่ต้องจับตาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนไทยแบบองค์รวมอย่างไรให้ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และสร้างผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่เกิดเลย”

ผอ. ETDA ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ETDA พบ 2 ประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ ประเด็นแรก Turning Data Privacy Principles into Action ที่การส่งต่อข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลจะเป็นไปโดยไร้รอยต่อ สถานพยาบาลสามารถเชื่อมต่อและส่งต่อข้อมูล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่เจ้าของข้อมูลเองมีความรู้และวิจารณญาณในการดูแลข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองมากขึ้น

ประเด็นที่สอง Seamless Integration of AI การบูรณาการประยุกต์ใช้ AI ทางการแพทย์ จะกลายเป็นเรื่องพื้นฐาน ถูกพัฒนาจนเกิดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นสูง มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพ”

หากพิจารณาจากทั้งสองประเด็นหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งดำเนินการที่ไม่เพียงแต่เป็นการวางรากฐานความรู้ความเข้าใจในเรื่องของ Data Privacy ให้กับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ต้องเร่งผลักดันให้การประยุกต์ใช้ AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล

ด้าน ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “NIA ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม เราส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ภาพอนาคตสุขภาพและสุขภาวะสังคมไทยที่คณะวิจัยจากทั้งสี่หน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนา สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นขับเคลื่อนที่กำลังสร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพและสุขภาวะในสังคมไทย ภายใต้ประเด็นขับเคลื่อนสู่ภาพอนาคตทั้ง 6 ประเด็น ได้แก่

1. สร้างการตื่นรู้ด้านสุขภาพให้กับสังคมไทย 2. การพัฒนาระบบสาธารณสุขเชิงรุกอย่างเข้มแข็ง 3. การเตรียมความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตการณ์สาธารณสุข 4. การลงทุนในความก้าวหน้าด้านการดูแลสุขภาพ 5. การส่งเสริมให้เกิดการออกแบบพื้นที่เพื่อสุขภาพและสุขภาวะ และ 6.การส่งเสริมการดูแลสุขภาพแบบจำเพาะรายบุคคล ซึ่งนวัตกรรมจะเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้”

ปัจจุบันมีสตาร์ทอัปไทยที่นำเสนอบริการนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพและสุขภาวะหลากหลายรูปแบบ เช่น ระบบบริหารจัดการข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) บริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นสูง (Advanced medical material and device) รวมถึงผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ เครื่องดื่มและอาหารเสริมสุขภาพที่มีงานวิจัยรองรับ แพลตฟอร์มให้บริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งล้วนแต่เป็นโอกาสของนวัตกรรมไทยที่สร้างการเติบโตและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ

ด้าน ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ฉายภาพแนวคิดงานวิจัยในครั้งนี้ว่า “เราฉาย 5 ภาพอนาคตที่เป็นไปได้ของสังคมไทย ซึ่งมีความน่ากังวลมากหรือไม่นั้น สามารถดูได้จากงานวิจัย Future of Health and Wellness in Thailand 2033

1. สิ้นแสงสาธารณสุข นำไปสู่ความล่มสลาย เพราะไม่ได้เตรียมการรองรับ ขาดแคลนงบ ขาดแคลนผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ไม่ได้เตรียมการด้านสุขภาพเลย

2. ระบบสุขภาพทั่วหล้า รัฐเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ

3. ค่ำคืนการแพทย์ขั้นสูง การรักษาโรคทำได้ดีขึ้น คนไข้มีความหวังมากขึ้น เน้นไปทางรักษาและฟื้นฟู และยังมีหลากหลายประเด็น อาจต้องอยู่ในเมืองใหญ่จึงจะเข้าถึงยาที่ดีได้

4. รุ่งอรุณแห่งสุขภาวะ ประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการพัฒนาเมือง คือดูแลสุขภาวะโดยรวมของเมืองและของประเทศด้วย สตาร์ทอัปหรือภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มีการส่งเสริม Wellness Tourism ทำให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

5. สุขภาพสุขสมบูรณ์ เป็น Best Case Scenario โรงพยาบาลจะไม่ใช่แหล่งเดียวที่คนนึกถึงเวลาป่วยแต่คนจะเริ่มตระหนักรู้เรื่องสุขภาพของตัวเอง ตั้งแต่ที่บ้าน เทคโนโลยีใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น

คงต้องดูกันต่อไปว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะถูกสตาร์ทอัปนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในด้านสุขภาพและสุขภาวะหรือไม่ เมื่อนวัตกรรมคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ.