การ Admission เข้าศึกษามหาวิทยาลัยถือเป็นฤดูกาลการช่วงชิงที่นั่งแบบโหดๆ สำหรับนักเรียนทุกคนที่ต้องการเข้าศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งมีทั้งคนสมหวังและผิดหวัง แต่มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ สถิติการสมัครของนักเรียนต่างพุ่งเป้าหาสาขาที่มีความมั่นคงทางอาชีพมากขึ้น เพื่อหนีสภาพการเตะฝุ่นหลังจบ เพราะจากสถิติคนว่างงานพบว่า เหล่าบัณฑิตปริญญาตรีเป็นกลุ่มตกงานสูงที่สุด หรือเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 9 หมื่นถึง 1 แสนคน
ทั้งนี้ หากดูสถิติการสมัครล่าสุดในปี 2568 สาขาที่มีจำนวนการสมัครมากที่สุด ได้แก่ พยาบาลศาสตร์ เนื่องจากจบแล้วมีงานทำแน่นอน โดยมียอดการสมัครรวม 54,562 รายการ จำนวน 17,174 คน ขณะที่มีจำนวนที่นั่งเปิดรับน้อย อัตราการแข่งขันสูงมาก เช่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดรับ 50 คน แต่มีผู้สมัครสูงถึง 8,370 คน คิดเป็นอัตราแข่งขัน 1:167.4
รองลงมา ได้แก่ สาขานิติศาสตร์ 41,422 รายการ จำนวน 18,263 คน สาขาการบัญชี 39,778 รายการ จำนวน 18,351คน สาขาบริหารธุรกิจ 36,000 รายการ จำนวน 20,935 คน สาขาภาษาอังกฤษ 31,956 รายการ จำนวน 14,051 คน สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม 30,473 รายการ จำนวน 16,130 คน
สาขารัฐศาสตร์ 28,841 รายการ จำนวน 14,510 คน สาขาสาธารณสุข 23,913 รายการ จำนวน 12,248 คน สาขาเศรษฐศาสตร์ 23,796 รายการ จำนวน 13,536 คนและสาขาวิทยาการจัดการ 20,056 รายการ จำนวน 14,077 คน
ขณะที่มีการเก็บข้อมูลอันดับเงินเดือนเด็กจบใหม่ โดยสำรวจจากคณะยอดฮิตที่มีการสมัครสูงสุด เริ่มจากคณะแพทยศาสตร์ เงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 46,477 บาท คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ 23,813 บาท คณะวิศวกรรมศาสตร์ 23,532 บาท คณะบริหารธุรกิจ 23,000 บาท คณะวิทยาศาสตร์ 21,307 บาท คณะมนุษยศาสตร์ 21,307 บาท คณะนิเทศศาสตร์ 21,000 บาท คณะอุตสาหกรรมเกษตร 20,000 บาท คณะนิติศาสตร์ 20,000 บาท และคณะสหเวชศาสตร์ 18,693 บาท
นอกจากนั้น การสมัคร Admission ของแต่ละคณะในมหาวิทยาลัย จะระบุค่ามัธยฐานเงินเดือนและอัตราการได้งานทำ เพื่อดึงดูดให้นักเรียนสมัครเข้าคัดเลือก เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ อัตราการได้งานทำ 100% ค่ามัธยฐานเงินเดือน 25,000 บาท
นั่นทำให้การแข่งขันช่วงชิงที่นั่งเพื่อเข้าคณะที่มีอัตราการได้งานทำและอัตราเงินเดือนเฉลี่ยสูง รุนแรงยิ่งขึ้น นักเรียนต้องเรียนหนัก ทั้งในหลักสูตรโรงเรียนและการเรียนพิเศษเพิ่มเติมอย่างเข้มข้น
แน่นอนว่า ทุกคนต่างไม่ต้องการตกงาน แต่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ข้อมูลการว่างงานเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เคยสรุปภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 ปี 2567 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.6 แสนคน เพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.88% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่อยู่ที่ 0.81% และผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่อายุ 20-24 ปี รวมทั้งกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนและตกงานส่วนใหญ่ออกมาจากสาขาการผลิต และสาขาการขายส่ง/ขายปลีก ส่วนกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา สัดส่วนที่ 53.3%
สำหรับผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นกันที่ 13.0% โดยมีจำนวน 6.7 หมื่นคน มากกว่าครึ่งหรือ 67.6% เป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน สำหรับอัตราการว่างงานในระบบ อยู่ที่ 1.81% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 1.74% โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 2.2 แสนคน
เมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษา พบว่าผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงมีจำนวนผู้ว่างงานสูงสุดถึง 9.1 หมื่นคน รองลงมาคือผู้จบระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 8.5 หมื่นคน และระดับ ปวช./ปวส. 5.4 หมื่นคน
ถามว่า สถานการณ์ ณ เวลานี้เป็นอย่างไร
ตอบว่า กองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ได้สรุปข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคม 2568 สถานการณ์การว่างงาน ซึ่งประเมินจากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม มีผู้ว่างงาน จำนวน 227,546 คน เพิ่มขึ้น 4.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.99% โดยมีจำนวนผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ 70,026 คน แม้ลดลง 5.97% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 3.03% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราการว่างงานในระบบประกันสังคม 1.85% สูงกว่าอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งอยู่ที่ 0.90%
ด้านสถานการณ์การเลิกจ้างในเดือนมีนาคม 2568 มีจำนวน 42,629 คน เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (จำนวน 44,872 คน) ลดลงร้อยละ -5.00 และอัตราการเลิกจ้างของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากสาเหตุเลิกจ้างของระบบประกันสังคมในเดือน มี.ค. 2568 อยู่ที่ร้อยละ 0.35
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ข้อมูลปี 2567 เด็กจบใหม่ว่างงานเพิ่ม 4.1 แสนคน ส่วนคนที่ว่างงานเกิน 1 ปีมีจำนวน 8.1 หมื่นคน ให้เหตุผลว่า หางานไม่ได้ และเกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี เนื่องจากตลาดแรงงานในปัจจุบันต้องการแรงงานที่มีทักษะสูง คนที่ทำงานในส่วนที่ AI ทำไม่ได้
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งถือเป็นต้นทุนสำคัญของบริษัทห้างร้าน ทำให้ธุรกิจหลายแห่งพยายามควบคุมไปจนถึงการลดจำนวนบุคลากร ชะลอการปรับขึ้นเงินเดือน และตัดลดแผนก เพื่อตัดลดค่าใช้จ่ายท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง จนทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศของรัฐบาลยังไม่สามารถทำได้ตามแผนตั้งแต่ต้นปี 2568
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน หรือการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ให้สำเร็จในช่วงกลางปี 2568 โดยคาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดไตรภาคี) ที่มีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง จะนัดประชุมอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน เลื่อนจากกำหนดเดิมในเดือนพฤษภาคม 2568
ที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าแรง 400 บาทต่อวัน ให้แรงงานเริ่มต้นเฟสแรกก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการค่าจ้างอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดนำร่อง และการประชุมบอร์ดค่าจ้าง เมื่อวันที่ 22 เมษายนได้ร่วมกันพิจารณาการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568 อีกครั้งในจังหวัดที่เหลือ แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะยังมีความเห็นต่างกัน เห็นด้วยส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยอีกส่วน ที่ประชุมจึงให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อนำมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง.