หากสังเกตให้ดี ร้าน “กาแฟพันธุ์ไทย” กำลังลุยปักหมุดทั่วทุกหัวระแหงตามโรดแมป PTG Business Outlook : Drive for Tomorrow เพื่อบรรลุเป้าหมายการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไทยในปี 2569 เร่งขยายสาขาแตะ 5,000 แห่ง ทั้งโมเดลแฟรนไชส์เจาะย่านชุมชนและแฟล็กชิปสโตร์ในย่านพื้นที่เอ็กซ์คลูซีฟ เน้นจุดขายความเป็นไทยโดดเด่น
ล่าสุด บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด เผยโฉมร้านสาขาใหม่ อาคารรัฐสภา “สัปปายะสภาสถาน” ซึ่งหมายถึง “สภาแห่งความสงบร่มเย็นและปัญญา” ชนิดที่โชว์ภาพบรรยากาศความอลังการเฉือนคู่แข่งทุกค่าย ทั้งในแง่ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาสุดสวยงามและการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ผู้มีตำแหน่งทางการเมือง โดยถือเป็นสาขาที่ 1,549 ของประเทศไทย และสาขาที่ 310 ในกรุงเทพฯ
ขณะเดียวกันโชว์จุดขายเรื่องการครีเอตเอ็กซ์คลูซีฟเมนูเครื่องดื่มล้อไปกับสาขา ชื่อ “รัฐสภาเบลนด์” เพื่อผสานความงดงามแห่งรสชาติ สื่อถึงความรุ่งโรจน์และสง่างามของสาขาอาคารรัฐสภาแห่งนี้ ได้แก่ รัฐสภาเบลนด์ พันธุ์ไทย คอฟฟี่ ซิกเนเจอร์ กาแฟอาราบิก้าแท้ 100% กาแฟคั่วเข้มพันธุ์ไทย มีความนุ่มละมุนของนมสด ท็อปด้วยวิปครีมเนียนนุ่ม และทองคำเปลวด้านบน รวมจุดขายเรื่องรสชาติ ความหอมและการถ่ายรูปสวยๆ
อีกเมนู คือ รัฐสภาเบลนด์ ชาไทย พันธุ์ไทย ซิกเนเจอร์ ใบชาคุณภาพเบลนด์พิเศษเป็นสูตรเฉพาะเติมนมสดและตาลโตนดสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมวิปครีมและเพิ่มกิมมิกระยิบระยับด้วยทองคำเปลว
แน่นอนว่า อาคารรัฐสภาแห่งนี้ถือเป็นทำเลเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา พูดถึงความมุ่งหวังให้เป็นสถานที่พักผ่อน พบปะ สร้างความผาสุก และสร้างระบบนิเวศในการทำงาน รวมทั้งอำนวยความสะดวก และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกรัฐสภา บุคคลในวงงานรัฐสภา บุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้มาเยี่ยมเยือนรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งการมีร้านกาแฟที่มีมาตรฐานและบรรยากาศที่ดี จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน และผู้มาใช้บริการ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์อาคารรัฐสภาแห่งแรกของไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมให้ใช้เป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของผู้แทนราษฎรไทยชุดแรก เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 และใช้เป็นที่ประชุมจนถึง ปี 2517 รวมถึงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีและรัฐพิธีสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีสถาปนาสยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
ทั้งนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมสร้างขึ้นเมื่อปี 2450 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บริเวณลานพระราชวังดุสิต ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้ใช้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมืองราชอาคันตุกะและสถานที่สำหรับประชุมปรึกษาราชการแผ่นดิน โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง นายมาริโอ ตามานโย สถาปนิกชาวอิตาเลียนเป็นนายช่างออกแบบ ศาสตราจารย์แกลิเลโอ คินี และนายซี ริกุลี เป็นช่างเขียนภาพ
องค์พระที่นั่งฯ สร้างด้วยหินอ่อนจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการแห่งอิตาลี ลักษณะเป็นอาคารสูง 2 ชั้น มีโดมใหญ่อยู่ตรงกลาง และรายล้อมด้วยโดมเล็กอีก 6 โดม ชั้นบนเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ซึ่งแบ่งเป็นห้องโถงประชุมและห้องโถงสำหรับประกอบพิธีต่างๆ ส่วนชั้นล่างประกอบด้วยห้องขนาดเล็ก 10 ห้อง ห้องขนาดกลางและใหญ่ อย่างละ 2 ห้อง และมีห้องโถงตรงกลางอีก 1 ห้อง
ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกสภาเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวนประชากรไทย คณะรัฐบาลชุดจอมพลถนอม กิตติขจร ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ขอพระราชทานที่ดินทางทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม บริเวณถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมเป็นของหน่วยรถถัง กรมตำรวจ จัดสร้างอาคารรัฐสภาให้มีพื้นที่มากกว่าเดิม หรืออาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน โดยสร้างขึ้นเมื่อปี 2513 แล้วเสร็จในปี 2517 ด้วยการออกแบบของนายพล จุลเสวก นายช่างสถาปนิกเอกของกรมโยธาธิการ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการวาดแบบจากอาคารรัฐสภาบราซิล และมีบริษัทพระนครก่อสร้างเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
สำหรับ “สัปปายะสภาสถาน” เป็นอาคารรัฐสภาแห่งที่ 3 โดยคณะรัฐบาลชุดนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุ ถนนทหาร (เกียกกาย) ภายใต้การออกแบบของนายธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) และคณะจากบริษัทสงบ 1051 ซึ่งชนะการประกวดแบบอาคารในปี 2552 และมีบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2544 เปิดใช้งานในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 รวมมูลค่าการก่อสร้าง 22,987 ล้านบาท
รูปแบบอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ลักษณะอาคารสูง 9 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น รวม 11 ชั้น มีห้องประชุมสภาเป็นรูปทรงครึ่งวงกลม 2 ห้อง คือ ห้องประชุมพระสุริยันสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และห้องประชุมพระจันทราสำหรับการประชุมวุฒิสภา
สุขวสา ภูชัชวนิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด กล่าวว่า การเปิดร้านกาแฟพันธุ์ไทย สาขารัฐสภา ถือเป็นก้าวสำคัญในการสานต่อพันธกิจของเราที่มุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมกาแฟไทยจากความตั้งใจของเกษตรกรไทยจนถึงการส่งมอบกาแฟที่ดีที่สุดถึงมือลูกค้า อยากให้คนไทยภาคภูมิใจว่ากาแฟไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และสะท้อนความแข็งแกร่งของแบรนด์ที่มีอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทย มี Brand DNA ที่สะท้อนความเป็นไทยอย่างชัดเจน ผ่านโมเดลสาขา บรรยากาศการตกแต่งภายในร้าน เมนูเครื่องดื่มที่สะท้อนภูมิปัญญาไทย และวัตถุดิบหารับประทานยาก
บริษัทวางแผนขยายสาขากาแฟพันธุ์ไทยในปี 2568 อีกไม่น้อยกว่า 600 สาขา จากปี 2567 ที่ขยายได้ 500 สาขา และปี 2571 จะมีกาแฟพันธุ์ไทยทั่วประเทศมากกว่า 5,000 สาขา.