โจทย์หลักที่สถาบันอุดมศึกษาต้องแก้ให้ทันเวลาคือการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสังคม ทั้งอัตราการเกิดลดลง ความต้องการของตลาดแรงงานหนึ่งอาชีพหลายทักษะ และคำถามที่กลายเป็นโจทย์สำคัญคือ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่หรือไม่
ประเด็นดังกล่าวเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่มหาวิทยาลัยต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยที่การเปลี่ยนแปลงจะต้องส่งผลดีต่อตัวนักศึกษา ทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน มีทักษะหลายด้าน
“โลกของการศึกษาถูกท้าทายจากโครงสร้างการเกิดที่ลดจำนวนลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ยังไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มธ. ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ถ้าไม่ปรับตัวเราอาจถูกดิสรัปต์ในที่สุด” ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูล ก่อนจะขยายความว่า
“ในศตวรรษที่ 21 ธรรมศาสตร์มีแผนที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต นั่นคือการปรับปรุงและพัฒนากว่า 298 หลักสูตร ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์สุขภาพ นักศึกษาจะต้องมีความรู้รอบด้าน พร้อมลงมือปฏิบัติได้จริง”
มธ. มีแนวคิดที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้พร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกมิติด้วย 3 แกนหลัก ได้แก่ 1. การเป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต มุ่งบูรณาการองค์ความรู้หลากศาสตร์และการพัฒนาทักษะทางการวิจัยให้ตอบสนองต่อการเรียนรู้ยุคใหม่ 2. การเป็นมหาวิทยาลัยของสังคมโดยเน้นการผลิตบัณฑิตจิตสาธารณะ พร้อมสร้างความเข้าใจเชื่อมโยงกับชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ 3. การสร้างความสุขและความยั่งยืนให้กับประชาคมธรรมศาสตร์ ผ่านการใช้ระบบการบริหารแบบยั่งยืน และแผนงานเชิงระบบที่เน้นการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดOutcome-Based Education (OBE) การยกระดับทักษะทั้งHard SkillsและSoft Skillsพร้อมผลักดันการเรียนรู้แบบExperiential LearningและCo-operative Educationให้เกิดขึ้นในทุกคณะ
“นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะปรับการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และมีการออกแบบหลักสูตรร่วมกับภาคธุรกิจ โดยจะทยอยปรับหลักสูตรในปีการศึกษา 2567 และตั้งเป้าจะใช้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2570 โดยมีการออกแบบโครงสร้างหลักสูตรตามแนวคิด Outcome-Based Education และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ครอบคลุมการจัดทำผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งระดับหลักสูตร และรายวิชาตามมาตรฐานของ กกอ. รวมถึงการพัฒนากลุ่มหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้แบบ Experiential Learning ผ่านโครงงานและปัญหาจริงจากภาคสนาม สอดรับกับเป้าหมายการสร้าง ‘บัณฑิตพร้อมทำงาน’ อย่างแท้จริง”
มธ. มีภาพจำที่หลายคนคุ้นชินคือ เป็นมหาวิทยาลัยในสายสังคมศาสตร์ การปกครอง การเมือง แต่ ศ.ดร. ศุภสวัสดิ์ อธิการบดี มองว่าปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไปแล้ว “วันนี้ มธ. กำลังเดินไปสู่ความเชี่ยวชาญในศาสตร์แขนงอื่นๆ เช่น การมี 2 คณะแพทยศาสตร์ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเริ่มได้รับความนิยมจากนักศึกษามากขึ้น และสำหรับไฮไลต์สำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือ การผลักดันรายวิชาเสริมทักษะเชิงลึกเพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต โดยเราเตรียมจะเปิดสอนวิชา จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับผู้นำอนาคต ซึ่งเป็นรายวิชาบังคับใหม่ทันกับกระแส AI และเทคโนโลยีแห่งอนาคตโดยตรง”
การลงทุน ความเข้าใจด้านการเงินในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โรงเรียนในระดับอุดมศึกษาเริ่มพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมความรู้ด้านการเงิน เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีการร่วมออกแบบหลักสูตรกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำอย่าง SET, SCB, GULF และธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้แบบ Online หรือ E-learning ได้อย่างยืดหยุ่น เหมาะกับการพัฒนาทักษะควบคู่กับการเรียนหลักสูตรปกติ
“ในภาพรวม มหาวิทยาลัยวางเป้าหมายให้บัณฑิตมีความรู้เชิงวิชาการควบคู่กับทักษะปฏิบัติจริง และมีประสบการณ์วิชาชีพ โครงการ หรือฝึกงานอย่างน้อย6หน่วยกิต โดยคาดหวังให้ทุกหลักสูตรสามารถพัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้มีทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) เพื่อเติบโตอย่างมั่นคงในโลกการทำงานยุคใหม่ได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้ ยังได้ตั้ง ‘ศูนย์สหกิจศึกษาและพัฒนาอาชีพ’ (TUCEEC) เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาและศิษย์เก่า ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นอย่างHard Skills, Soft SkillsรวมถึงFuture Skillsเรื่องของAIและการตลาดดิจิทัล โดยมีเป้าหมายจัดอบรมและกิจกรรมกว่า100รายการในช่วงปี 2568–2570เพื่อสร้างแรงส่งสู่การมีงานทำทันทีหลังจบการศึกษาให้ได้ 100%”
การปรับปรุงและเพิ่มหลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมเท่านั้น แต่ มธ. มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในทวีปเอเชีย กระนั้นการไปสู่จุดนั้น อธิการบดี มธ. มองว่า ควรเป็นนโยบายของภาครัฐ ไม่ใช่นโยบายของมหาวิทยาลัย.