วันพุธ, มกราคม 15, 2025
Home > Cover Story > รัฐเร่งเครื่องประชานิยม คิวต่อไป “บ้านเพื่อ(คน)ไทย”

รัฐเร่งเครื่องประชานิยม คิวต่อไป “บ้านเพื่อ(คน)ไทย”

การประกาศว่า “พรรคเพื่อไทยจะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนยุคไทยรักไทย” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และ “พ่อ” นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ทำให้รัฐบาลต้องเร่งอัดฉีดนโยบายประชานิยม เพื่อปลุกเรตติ้งรับทุกสมรภูมิการเลือกตั้ง ทั้งศึกท้องถิ่นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้และสนามการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ซึ่งลั่นวาจาจะได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 200 ที่นั่ง

แน่นอนว่า ระยะเวลากว่า 5 เดือน ตั้งแต่นางสาวแพทองธารก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 มีการผลักดันนโยบายตามแพ็กเกจหาเสียงและอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับกลุ่มประชาชนฐานราก มวลชนขนาดใหญ่ จนถูกมองเป็นกลยุทธ์ “ประชานิยม” เหมือนอดีตพรรคไทยรักไทย

ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินหมื่นเฟสแรกให้ผู้มีสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ 14.5 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 และกำลังเดินหน้าเฟส 2 ให้กลุ่มผู้สูงอายุภายในเดือนมกราคม 2568 ส่วนเฟส 3 ในระบบดิจิทัลวอลเล็ต น่าจะเริ่มจ่ายเงิน 10,000 บาทได้ในช่วงไตรมาส 2

การประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้แรงงานทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 รวม 17 อัตราทั่วประเทศ อยู่ระหว่าง 337-400 บาทต่อวัน หรือปรับขึ้นต่ำสุด 7 บาท จนถึงสูงสุด 55 บาท หรือเฉลี่ย 2.9% โดยมี 4 พื้นที่ที่ปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน ได้แก่  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต ระยอง และสุราษฎร์ธานี เฉพาะ อ.เกาะสมุย

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SMEs หรือ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ลงทะเบียนแก้หนี้ ทั้งลดอัตราดอกเบี้ยและลดเงินต้น เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2567 ล่าสุดมีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์แล้ว 180,000 ราย จำนวนกว่า 390,000 บัญชี

ส่วนบิ๊กโปรเจกต์ชิ้นต่อไป คือ นโยบายบ้านเพื่อคนไทย ซึ่งนายกฯ แพทองธาร ประกาศเป็นเรือธง สร้างโอกาสเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยตั้งเป้าก่อสร้างโครงการ 1 แสนหน่วย ภายใน 3 ปี (ปี 2568-2570) และถือเป็นโครงการนำร่อง เพราะสำรวจดีมานด์แท้จริง มีคนไทยกำลังซื้อระดับล่างยังไม่มีบ้านเป็นของตนเองถึง 6 ล้านหน่วย จากจำนวน 20 ล้านครัวเรือน

ทั้งนี้ ในวันที่ 17 มกราคม นางสาวแพทองธารจะเดินทางไปตรวจความพร้อมและเยี่ยมชมบ้านตัวอย่างในโครงการบ้านเพื่อคนไทยที่จัดแสดงอยู่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  ก่อนเปิดให้ประชาชนยื่นจองสิทธิ์ในวันที่ 20 มกราคม 2568

บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้ดำเนินโครงการ ระบุว่า โครงการระยะแรกมี  4 ทำเล ได้แก่ พื้นที่บางซื่อ กม.11 พื้นที่เชียงใหม่ พื้นที่เชียงราก และพื้นที่ธนบุรี ตั้งเป้ารองรับกลุ่มวัยเริ่มทำงาน กลุ่มวัยทำงานระหว่างเจนเอ็กซ์กับเจนวาย ผ่อนเริ่มต้นเดือนละ 4,000 บาท ไม่มีเงินดาวน์

รายละเอียดเบื้องต้น พื้นที่บางซื่อ กม.11 มีเนื้อที่กว่า 15 ไร่ อยู่ซอยวิภาวดี 11 ติดถนนกำแพงเพชร ห่างสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ 2.5 กม. ห่างจากห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว 500 เมตร และห่างจาก MRT พหลโยธิน เพียง  500 เมตร เป็นอาคารชุด 1,232 ยูนิต ขนาด 30 ตารางเมตร (ตร.ม.) ราคา 1.76 ล้านบาท ขนาด 40 ตร.ม. ราคา 2.36 ล้านบาท ขนาด 45 ตร.ม. ราคา 2.65 ล้านบาท และขนาด 50 ตร.ม. ราคา 3 ล้านบาท

พื้นที่เชียงใหม่ เนื้อที่กว่า 7 ไร่ ใกล้ถนนเจริญเมือง ถนนทุ่งโฮเต็ล ห่างจากมหาวิทยาลัยพายัพ 2.6 กม. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 7.5 กม. ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ 1.3 กม. เป็นอาคารชุด 720 ยูนิต ราคา 1.5 ล้านบาท

พื้นที่เชียงราก เนื้อที่กว่า 18 ไร่ ห่างจากสถานีรถไฟเชียงราก ม. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 4.4 กม. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 9 กม. เป็นอาคารชุด 1,795 ห้อง ราคา 1.34 ล้านบาท และพื้นที่ธนบุรี อยู่ตรงข้ามตลาดศาลาน้ำร้อน ห่างรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีส้ม 800 เมตร เนื้อที่กว่า 23 ไร่ เบื้องต้นจะพัฒนาเป็นอาคารชุด  2,100 ห้อง โดยในวันที่ 20 มกราคมนี้จะเปิดจองโครงการแรก บางซื่อ กม.11

หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เริ่มก่อสร้างโครงการนำร่องอีก 3 แห่ง และตั้งเป้าทยอยโอนโครงการทั้งหมด 1 แสนหน่วย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2569-2570

สำหรับคุณสมบัติของผู้ซื้อสิทธิ์ ได้แก่ มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะ มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่อาจใช้พักอาศัยได้ทุกประเภท ไม่เคยได้สิทธิ์ในโครงการบ้านเพื่อคนไทย ผู้ซื้อสิทธิ์ 1 คน มีสิทธิ์จอง 1 หน่วย ต่อ 1 โครงการ แต่หากการพิจารณาแล้วไม่ได้สิทธิ์ สามารถใช้สิทธิ์จองอีกครั้งในจังหวัดเดิมได้

ที่สำคัญ ห้ามโอนสิทธิ์ภายใน 5 ปี  ห้ามนำอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างในโครงการให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ เว้นแต่เป็นสมาชิกในครอบครัว และหากมีรายได้เกินกว่า 50,000 บาทต่อเดือน จะถูกยกเลิกสิทธิ์ หรือปรับอัตราผลตอบแทนตามเหตุและปัจจัย

ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า โครงการบ้านเพื่อคนไทยจะเชื่อมโยงกับนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท โดยคำนวณเบื้องต้น ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่มีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในเมือง ทำให้ต้องออกไปเช่าหรืออยู่อาศัยนอกเมือง ทุกวันต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง มีค่าโดยสารรถไฟฟ้าและขนส่งสาธารณะ เฉลี่ยวันละ 150 บาท คำนวณจากวันทำงานเดือนละ 25 วัน เท่ากับมีค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าเมืองเดือนละ 3,750 บาท

หากในปี 2568 รัฐบาลแพทองธารผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายได้จริง จะลดค่าใช้จ่ายนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทำงานในเมืองเหลือเดือนละ 500 บาท เมื่อหักส่วนต่างเดิม 3,750 บาท ลบออก 500 บาท จะมีเงินเหลือเดือนละ 3,250 บาท ผู้มีสิทธิซื้อบ้านเพื่อคนไทยเพิ่มเงินอีกเล็กน้อยจะสามารถผ่อนบ้านเดือนละ 4,000 บาทได้แล้ว โดยไม่ต้องมีเงินดาวน์และไม่ได้เพิ่มภาระด้านการเงิน แต่สามารถมีที่อยู่อาศัย  ทำให้โครงการนี้มีเสียงตอบรับอย่างท่วมท้น

อีกนโยบายประชานิยม คือ การลดค่าพลังงานต่างๆ ซึ่งล่าสุด “พ่อนายกฯ” อีกเช่นเดียวกันประกาศจะ “ตุ๊บ” ค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยในปี 2568 จากค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม-เมษายน 2568 อยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ซึ่ง น.ส. แพทองธารรับลูกทันทีจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน  ให้ทุกฝ่ายยินยอมตัดลดกำไรเพื่อทุบค่าไฟฟ้า

แต่ทั้งหมดล้วนเป็นนโยบายที่มีเดิมพัน ทั้งเม็ดเงินงบประมาณ ฐานะของประเทศ และฐานคะแนนนิยมทางการเมืองที่จะดุเดือดมากยิ่งขึ้น.