วันเสาร์, พฤศจิกายน 9, 2024
Home > Cover Story > สถานการณ์แรงงานไทย ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง

สถานการณ์แรงงานไทย ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง

ภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอันสืบเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่ดำเนินมามากกว่า 2 ปี ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและต่อสถานการณ์ของแรงงานอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

ปี 2563 ปีแรกแห่งวิกฤตโควิด ถือเป็นปีที่ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบอย่างหนัก เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทั้งภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน ชะงักงัน หลายบริษัทต้องเลิกจ้างพนักงานหรือแม้กระทั่งปิดกิจการ อีกทั้งมาตรการเยียวยาจากภาครัฐยังไม่ชัดเจนนัก ส่งผลให้ตัวเลขผู้ว่างงานพุ่งสูง โดยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.69 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 ที่ร้อยละ 0.98 หรือมีจำนวนผู้ว่างงานประมาณ 6.5 แสนคน

ในขณะที่ปี 2564 มีการเรียนรู้และปรับตัว รวมถึงใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไปพร้อมกัน ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้มีการนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อพยุงการจ้างงาน ได้แก่

1. ลดเงินสมทบ เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพผู้ประกันตน ซึ่งพบว่ากว่าร้อยละ 85 สามารถกลับไปทำงานได้ ถ้าไม่มีตรงนี้อาจจะเห็นคนว่างงานพุ่งสูงถึง 2-3 ล้านคน

2. นโยบายภาครัฐที่กระตุ้นการจ้างงานใหม่และการบริโภคภายในประเทศ เช่น จ๊อบ เอ็กซ์โป (Job Expo) ที่จะโฟกัสในกลุ่มของนักศึกษาจบใหม่โดยเฉพาะ รวมถึงโครงการรักษาการจ้างงานของกลุ่มเอสเอ็มอี มาตรการคนละครึ่ง และ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น

3. รักษาภาคการส่งออกด้วยโครงการแฟคตอรี่ แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) ซึ่งผู้ประกันตน 11 ล้านคน กว่าร้อยละ 30 อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยมี 4 เซกเตอร์ที่ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ในช่วงวิกฤต ได้แก่ อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งต้องทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถดำเนินต่อไปได้จึงจะสามารถรักษาการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศได้

ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า ไตรมาส 3/2564 พบผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มีโควิดมา โดยภาพรวมการจ้างงานนั้นผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25

ปลายปี 2564 เริ่มเห็นสายสว่างที่ปลายอุโมงค์ สถานการณ์แรงงานของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับมาสู่ภาคการบริการ การค้า และภาคการผลิตมากขึ้น จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ไตรมาส 4/2564 อัตราการมีงานทำอยู่ที่ร้อยละ 66.3 โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า (ร้อยละ 45.1) รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ตามลำดับ (ร้อยละ 33.2 และ ร้อยละ 21.6)

สำหรับสถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน พบผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคนในไตรมาส 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการของภาครัฐและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ยังต้องจับตามองปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือการว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากรที่แท้จริง

โดยในไตรมาส 4 พบอัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วน ร้อยละ 0.4 ในขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ซึ่งการว่างงานระยะยาวส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประชากรในกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี

แต่สิ่งที่น่ากังวลต่อไปคือแรงงานในกลุ่มเด็กจบใหม่ ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี, ปวช., ปวส. ที่จะจบการศึกษาและเข้ามาสู่ระบบในอนาคตอันใกล้ กว่า 500,000 คนนั้น ส่วนใหญ่ 52.1% จบระดับปริญญาตรีในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในขณะนี้ ซึ่งอาจจะทำให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้น

จากแนวโน้มที่มีทิศทางดีขึ้น หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่าปี 2565 นี้จะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและทำให้การจ้างงานมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นจากปี 2564 แต่กระนั้นก็ยังคงอยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบางจากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มเข้ามาทั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ “โอมิครอน” และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพิงภาคการส่งออกเป็นหลัก

หากสถานการณ์ไวรัสโอมิครอนไม่ระบาดรุนแรงไปกว่านี้และภาคัฐยังสามารถควบคุมได้ คาดว่าการจ้างงานจะทรงตัวได้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา

แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์แรงงานดูจะมีความหวัง แต่จากบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สถานการณ์แรงงานของประเทศไทยในปีนี้จะมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานอันสืบเนื่องมาจากกระแสของโลกยุคดิจิทัล เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลอัตโนมัติที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจะเข้ามามีบทบาทและแทนที่แรงงานบางกลุ่ม งานบางประเภทจะหายไป เกิดงานรูปแบบใหม่ และมีความต้องการทักษะแรงงานที่แตกต่างไปจากเดิม

รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีต่อๆ ไป ที่จะเป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานให้เร็วและชัดเจนขึ้น เช่น การ Work from home หรือ Work from anywhere เกิดการทำงานรูปแบบใหม่ การทำงานหลากหลายอาชีพมากขึ้น แรงงานบางกลุ่มต้องเปลี่ยนอาชีพ และแรงงานบางคนไม่ต้องการกลับไปทำงานในระบบอีก ซึ่งล้วนเป็นโจทย์ยากที่ต้องเผชิญและต้องปรับตัวให้ก้าวทัน

ผลสำรวจของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้จัดอันดับสายงานมาแรงแห่งปี 2565 โดยสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดอันดับหนึ่งคือสายงานขายและการตลาด ได้แก่ งานขาย, งานพัฒนาธุรกิจ, งานการตลาด, งานอีคอมเมิร์ซ และงานการตลาดดิจิทัล ซึ่งเป็นสายงานที่เป็นที่ต้องการสูงต่อเนื่องมาถึง 5 ปีติดต่อกัน อันดับ 2 ได้แก่สายงานการผลิต ทั้งงานฝ่ายผลิต และช่างเทคนิค

อันดับ 3 งานระยะสั้นต่างๆ งานชั่วคราวและงานสัญญาจ้าง ทั้งฝ่ายการผลิต งานขาย ไอที ช่างเทคนิค งานประจำพื้นที่/อีเวนต์ วิศวกร โลจิสติกส์ งานบริการลูกค้า และงานก่อสร้าง ซึ่งพบว่าเป็นที่ต้องการมากขึ้น จากการลดความเสี่ยงด้านบุคลากรในช่วงโควิด

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งประเด็นที่คงต้องหยิบยกมากล่าวถึงการยื่นเสนอขอให้รัฐปรับเพิ่มราคาค่าแรงขั้นต่ำ อันเนื่องมาจากค่าครองชีพที่พุ่งสูงสวนทางกับรายได้

การปรับขึ้นราคาของสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู น้ำมันปาล์ม รวมถึงค่าขนส่งเดินทางที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มแรงงานที่ยังคงได้รับ “ค่าแรงขั้นต่ำ”

โดยอัตรา “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของไทย ณ ปัจจุบัน (15 กุมภาพันธ์ 2565) ยังคงใช้ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ซึ่งได้ประกาศให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ได้แบ่งอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัดทั้งสิ้น 10 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำน้อยสุดที่ 313 บาท ได้แก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ส่วนกลุ่มจังหวัดที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำเยอะสุดอยู่ที่ 336 บาท คือ จังหวัดท่องเที่ยวอย่าง จ.ชลบุรี และ จ.ภูเก็ต ในขณะที่กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ได้ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 331 บาท

แต่จากปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงและไม่สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดการเรียกร้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต โดยล่าสุดคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับ “ค่าแรงขั้นต่ำ” เป็นอัตรา 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศ และควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป

โดยระบุว่า ค่าจ้างแรงงานของไทยมีราคาต่ำ อีกทั้งปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ได้ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก และยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น จึงขอให้รัฐประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยค่าแรงที่เสนอไปนี้เป็นตัวเลขที่ คสรท. ได้ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายจากคนงานในพื้นที่ต่างๆ ประมาณ 3,000 คน ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อันประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน อย่าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า-ผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัวและบุพการี ซึ่งได้มาเป็นตัวเลขเฉลี่ยที่วันละ 492 บาท

ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า จำนวนเงินที่คนไทยจะเพียงพอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่ 712 บาทต่อวัน (ข้อมูลปี 2560) แต่ด้วยข้อกังวลในเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ คสรท. และ สรส. จึงได้หารือและเสนอตัวเลขที่วันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศ โดยได้ยื่นต่อกระทรวงแรงงานเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงแรงงานในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงยืนยันว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน แต่ตัวเลขที่ปรับคงต้องดูกันต่อไป

ในขณะที่นักวิชาการและภาคเอกชนมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงนี้อาจยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมนัก เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ราคาสินค้า รวมไปถึงค่าครองชีพต่างๆ หากพิจารณาในช่วงเวลานี้เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ภาคท่องเที่ยวและบริการยังไม่กลับมาฟื้นตัว

ด้าน รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงนี้จะเป็นปัจจัยเชิงลบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจในเวลานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจยังอ่อนแอและการจ้างงานยังไม่กลับมา การปรับค่าจ้างจะเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจปลดคนงานเพื่อลดต้นทุน การปรับค่าแรงควรปรับเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยได้เสนอแนวทางต่อรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนในระยะนี้แทน ด้วยการตรึงราคาน้ำมัน ลดภาษีนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ เพื่อเป็นการลดต้นทุน และเร่งฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

คงต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป และหวังว่าสถานการณ์แรงงานไทยจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะแรงงานทุกระดับคือหนึ่งในฟันเฟืองที่คอยขับเคลื่อนประเทศ.

ใส่ความเห็น